"สุกำพล" ถูก ครม.ขวางอีกโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ใต้ทางด่วน กฤษฎีกาเตือนระวังโดนร้องศาลทำผิดกฎหมาย ด้านนายกฯ โยน สศช.-สคก.พิจารณาเป็นรายกรณี...

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาว่า นอกจาก พล.อ.อ.สุกำพล จะถูก ครม.เบรกการขออนุมัติแผนงาน/โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ในระหว่างการพิจารณาเรื่องที่กระทรวงคมนาคม เสนอให้ ครม.เห็นชอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษเชิงพาณิชย์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2547ข้อ(2) ที่ห้าม กทพ.นำพื้นที่บริเวณทางด่วนไปใช้ในกิจการเชิงพาณิชย์ โดย กทพ.เสนอแนวทางการพัฒนาให้มีการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะและเชิงพาณิชย์ควบคุู่กันไป เพื่อให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลบริหารจัดการโครงการ

กทพ.ได้กำหนดโครงการนำร่องไว้ 5 บริเวณ ได้แก่ บริเวณถนนสุขุมวิท ด้านทิศใต้ เนื้อที่ประมาณ 4.4 ไร่ ที่จะพัฒนาเป็นที่จอดรถ ตลาดสินค้า/ตลาดอาหารและลานโล่งสาธารณะ บริเวณถนนสีลม เนื้อที่ประมาณ 8.4 ไร่ ที่จะพัฒนาเป็นเป็นศูนย์บริการรถขนส่งสาธารณะ ตลาดชุมชน Mall ขนาดเล้ก ลานโล่งสาธารณะและสวนพักผ่อนหย่อนใจ ลานกีฬาชุมชน บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ซอยศาสนา ที่จะพัฒนายกระดับศูนย์บริการรถตู้สาธาณะเดิมให้มีมาตรฐาน เป็นลานจอดรถ 2 ชั้น ชั้นล่างจอดรถ ชั้นบนพักคอย จำหน่ายตั๋วมีร้านกาแฟ ห้องน้ำบริการ ในซอยศาสนาเป็นจุดพักรถตู้คอยก่อนลงคิว บริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ จัดทำเป็นศูนย์กีฬาและลานกีฬาประเภทต่างๆ ใช้เป็นพื้นที่สีเขียว สร้างสะพานลอยข้ามในจุดที่ใกล้แยก บริเวณทางเข้าด่านฯ จตุโชติ ทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ จะพัฒนาเป็นจุดพักรถขนาดใหญ่สำหรับการเดินทางและการขนส่งสินค้า นายกฯ สั่งให้ สศช.-สคก.พิจารณารายกรณีนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสนอโครงการดังกล่าวของ พล.อ.อ.สุกำพล ถูกนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ท้วงติงว่า การไปเวนคืนที่ดินมาทำทางด่วน แล้วกลับไม่ทำ แต่ไปสร้างเป็นสนามฟุตบอล หรือสวนหย่อมหรืออื่นๆ หากชาวบ้านไปฟ้องร้องต่อศาลแล้วจะมีปัญหาว่ากระทำผิดกฎหมาย เวนคืนที่แล้่วนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล พยายามชี้แจงด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่าเป็นที่ดินที่เหลือจากการสร้างทางด่วน และคงไม่มีใครเอาไปสร้างร้านอ๊อกเหล็ก แต่นายอัชพร ชี้แจงว่า ตามกฎหมายแม้จะเป็นที่ดินที่เหลือก็เอาไปทำอย่างอื่นที่ผิดวัตถุประสงค์ไม่ได้ ต้องนำไปก่อสร้างในสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับทางด่วน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ที่เห็นด้วยกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและทาง สศช. ว่าเห็นควรว่าเรื่องนี้ควรจะนำมาเสนอต่อ ครม. พิจารณาเป็นรายกรณีไป ไม่ใช่มาเสนอทีเดียวแล้ว คค.จะเอาไปดำเนินการโครงการเองอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้ทางกระทรวงคมนาคมไปหารือกับสภาพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นรายโครงการไปแล้วค่อยมาว่ากัน

...

ขณะที่ผู้สื่ข่าวรายงานเช่นกันว่า ในการประชุม ครม. ที่ผ่านมา ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งในการทำงานในกระทรวงคมนาคม ระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล กับพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก และนายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รมช.คมนาคม นั้น บรรยากาศในที่ประชุม บรรดาคณะรัฐมนตรีต่างจับจ้องสังเกตปฏิกิริยาของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่มีปัญหาขัดแย้งกันชัดเจนมากขึ้น โดยในระหว่างการประชุม ครม. ช่วงที่ไม่ได้พิจารณาเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ปรากฏว่า พล.อ.อ.สุกำพล กับ พล.ต.ท.ชัจจ์ มีการพูดจาในลักษณะถกเถียงกันเป็นระยะๆ ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด.