กระทรวงแรงงาน เตรียมชง ครม.เห็นชอบ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในวันนี้ โดยเลื่อนการมีผลบังคับใช้จากต้นปี เป็นวันที่ 1 เม.ย.55 เหตุโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบน้ำท่วม ต้องปรับตัวในการฟื้นฟูกิจการ 3 – 6 เดือน ...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 22 พ.ย.นี้ กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอให้ ครม.รับทราบเรื่องการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2555 โดยขอให้ ครม.รับทราบเสนอประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับต่อไป
กระทรวงแรงงาน รายงานว่า กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะดำเนินการในปีแรก ในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุล และความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค โดยจะดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้แรงงานมีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท
กระทรวงแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า “รายได้” จะหมายรวมถึง ค่าจ้าง สวัสดิการ รายได้อื่น ๆ ที่เกิดจากการทำงาน ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม รวมไปถึงกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 39.5 ล้านคน ในขณะที่แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ไม่เกิน 300 บาท มีอยู่ประมาณ 5.6 ล้านคน เพื่อให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท โดยไม่รวมเบี้ยขยัน ค่ากะ ค่าทำงานล่วงเวลา ดังนั้นจึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง
ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 ได้พิจารณาแนวทางการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล และมาตรการบรรเทาเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษานโยบายการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เพื่อศึกษา กรณีหากจะมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัด (กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม และภูเก็ต) เป็นวันละ 300 บาท และ 70 จังหวัดที่เหลือปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 และจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อให้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
...
ที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ได้เสนอแนวทางการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เป็น 4 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ภายในปี 2555 – 2556 แนวทางที่ 2 ปรับตามผลการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือในภาค อุตสาหกรรม (ค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ) แนวทางที่ 3 การปรับค่าจ้างตามแนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิต แนวทางที่ 4 ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศเท่ากัน ในวันที่ 1 มกราคม 2555
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 ได้มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2555 โดย (1) คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานครและคณะอนุกรรมการ พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 75 จังหวัด ส่วนใหญ่ได้เสนอแนะขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดในอัตราสูง คือ ร้อยละ 40 ขึ้นไป โดยคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดส่วนใหญ่มีข้อเสนอขอให้รัฐบาลมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ เช่น การลดเงินสมทบประกันสังคม จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 เป็นเวลา 2 ปี การลดภาษีเงินได้ นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 ภายใน 2 ปี มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม มาตรการกองทุนกู้ยืมเพื่อเป็นทุนฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำ/ปลอดดอกเบี้ย เพื่อให้นายจ้างนำมาใช้จัดซื้อวัตถุดิบ พัฒนาเครื่องจักร/เครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาฝีมือแรงงานหรือปรับปรุง การบริหารจัดการมาตรการให้รัฐบาลจ่ายค่าจ้างส่วนต่างนอกเหนือจากที่จังหวัด เสนอขอปรับ และการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
(2) คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด และเสนอแนวทางการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เป็นวันละ 300 บาท และอีก 70 จังหวัด ที่เหลือปรับร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 และให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด ให้เป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2556 จากนั้นจะไม่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไปอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยรัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แนวทางที่ 2 ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นขั้นบันได 4 ปี เป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ โดยรัฐบาลต้องอุดหนุนเงินชดเชยค่าจ้างส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นให้ครบ 300 บาท
(3) คณะกรรมการค่าจ้างได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ประกอบความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กลุ่ม องค์กรแรงงานต่าง ๆ และคณะทำงานศึกษานโยบายฯ โดยได้พิจารณาภาวะการครองชีพของผู้ใช้แรงงานในช่วง ปี 2554 และคาดการณ์ไปถึงปี 2558 และเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพของแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ และผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งลูกจ้างมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จึงทำให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ ลูกจ้างให้เพียงพอต่อการครองชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องทำงานปกติรวมทำงานล่วงเวลาถึงวันละ 8 – 10 ชั่วโมง ถึงจะมีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพ ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างมีเวลาเหลือพอที่จะอยู่กับครอบครัวหรือพัฒนาทักษะฝีมือ ตนเองให้ดียิ่งขึ้น
ในการนี้คณะกรรมการค่าจ้างจึงมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเสนอแนวทางที่ 1 คือ ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราตั้งแต่วันละ 63 – 85 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากขณะนี้สถานประกอบกิจการในหลายจังหวัดประสบภาวะวิกฤติอุทกภัย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูกิจการประมาณ 3 – 6 เดือน จึงให้เลื่อนการใช้บังคับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีระยะเวลาในการปรับตัวหรือฟื้นฟูกิจการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้น 79 บาท จากอัตราวันละ 221 บาท เป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7 (2) ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เพิ่มขึ้น 85 บาท จากอัตราวันละ 215 บาท เป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 (3) ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลือ 70 จังหวัด ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 (4) ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด ตามข้อ (3.3) อีกครั้ง เป็นวันละ 300 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556
สำหรับจังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท (5) ในปี 2557 และปี 2558 ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ทั้งนี้ หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพ ของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม