รองโฆษกปชป.ซัด "ปู" ปากว่าตาขยิบ ร้องทุกฝ่ายร่วมมือแก้น้ำท่วม แต่กลับเล่นการเมือง ปล่อยลิ่วล้อขัดแข้งขัดขาผู้ว่าฯ กทม. เพื่อดิสเครดิต จี้ต้องแสดงภาวะผู้นำแก้ปัญหาขัดแย้งในศปภ. จนประชาชนหวาดผวา แถลงการณ์บิดเบือนความจริง ย้ำต้องเร่งผ่าตัดด่วนตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เห็นด้วย “สมศักดิ์” เปิดสภาฯ ถกน้ำท่วม ดักทางอย่าหมกเม็ดนำ พ.ร.บ. จัดระเบียบกลาโหมเข้าวาระประชุม...

นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ให้ผ่านสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วมไปด้วยดี ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่รู้สึกเหมือนนายกฯ จะมีพฤติกรรมปากว่าตาขยิบ ทั้งที่เรียกร้องทุกฝ่ายให้ร่วมมือกับรัฐบาล แต่คนของตัวเองกลับนำประเด็นการเมืองมาโยงสร้างเป็นประเด็นการเมืองเสียเอง

ที่ผ่านมา นายกฯ ไม่รู้หรืออย่างไรว่า แกนนำพรรรคเพื่อไทย ภาคกทม. ได้มีการประชุม ส.ส.ในเขตที่ประสบภัยพิบัติ คือ มีนบุรี หนองจอก คลองสามวา และลาดกระบัง โดยมีลักษณะให้การบริหารงานหรือทำการขัดแข้งขัดขาผู้ว่าราชการ กทม. เช่น ให้ทีมงานใช้เสียงหอกระจายข่าวสาร ที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง เพื่อดิสเครดิต และสร้างความเกลียดชังต่อผู้ว่าฯ กทม.และคณะ ตลอดจนการทำงานของเจ้าหน้าที่ของกทม. ที่เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น กรณีน้ำเอ่อล้นคลองประปา ก็ระบุว่า เป็นฝีมือผู้ว่าฯ กทม. ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.

"ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และลิ่วล้อยุติการกระทำเหล่านี้ และขอให้รู้กาลเทศะบ้างว่า ตอนนี้พี่น้องประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ผู้คนแตกตื่นโกลาหล ฉะนั้นอย่าเล่นการเมืองให้มากไป ไม่ใช่สร้างสถานการณ์ให้ใครมาเล่นบทวีรสตรี เพื่อหวังลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในปีหน้า ใช้ทุกอย่างสร้างฐานเพื่อโยงการเมือง" นายสกลธี กล่าว

...

นายสกลธี กล่าวต่อว่า ตลอดช่วง 3 สัปดาห์ ที่มีการแต่งตั้ง ศปภ. การทำงานยังเหมือนพายเรือในอ่าง มีปัญหามากมายกัดกิน โดยเฉพาะปัญหาความน่าเชื่อถือ การให้ข่าวสร้างความแตกตื่นมากมาย และมีความขัดแย้งภายในศปภ. ทั้งรัฐมนตรีในแถวสาม สี่ ห้า กับคนไม่มีอำนาจในบ้านเลขที่ 111 ที่เตรียมจะกลับมาในวงการเมืองปีหน้า มีการแย่งซีนกัน ทำให้การทำงานของ ศปภ.ไม่ลื่นไหล รวมถึง ส.ส.เพื่อไทยขัดแย้งกันเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้นายกฯ ต้องเข้ามาจัดการ เพราะประชาชนอยากเห็นมากสุด คือ ภาวะผู้นำของนายกฯ ซึ่งที่ผ่านมา ยังได้ไม่แสดงภาวะผู้นำอย่างเพียงพอ และจากการลงพื้นที่ของพรรค พบว่า ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลพูดความจริง แถลงอย่างตรงไปมา ไม่ใช่พอถามนายกฯ ถึงสถานการณ์น้ำว่าเป็นอย่างไร ตอบอย่างเดียวว่า ยังไม่ทราบ ให้ไปถามผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งคนระดับนายกฯ ไม่รู้แล้วจะไปถามใคร

“ตอนนี้ประชาชนเลิกกลัวน้ำท่วมแล้ว แต่กลับกลัวการแถลงของ ศปภ.มากกว่าว่า จะบิดเบือนข้อมูลความจริง ถ้าพูดความจริงคน กทม. รับได้ เพราะมีการเตรียมรับสถานการณ์ เพียงแต่อยากรู้ว่า จะท่วมตรงไหนบ้าง ท่วมเท่าไร ถ้านายกฯ ไม่สามารถให้คำตอบได้ ทั้งมีข้อมูลที่จะประมาณการได้อยู่แล้ว ขอให้บอกความจริง”

นายสกลธี กล่าวอีกว่า ตนขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี 7 ข้อ คือ 1. นายกฯ ต้องเร่งทำให้ประชาชนเบาใจ ด้วยการแสดงภาวะผู้นำจริงจัง แถลงความจริงอย่างรวดเร็ว เพื่อรับต่อสถานการณ์ และปรับปรุงรูปแบบการแถลงของ ศปภ.หาโฆษกที่พูดจารู้เรื่องกว่านี้ 2. ต้องเตือนลูกหาบ และผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่าเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นตัวประกันเพื่อหาเสียงเก็บคะแนน หรือเตรียมตัวสมัครผู้ว่ากทม.สมัยหน้า 3. ตักเตือน ส.ส.ที่ไม่เกี่ยวข้องว่า มือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำ ออกมาบริภาษผู้เกี่ยวข้อง ทั้งที่คนเหล่านี้ได้ทำงานอย่างเต็มที่

4. บอกลูกพรรคให้หยุดสร้างความแตกแยกแบ่งพวกแบ่งสี เช่น บังคับให้อาสาสมัครใส่เสื้อสีแดง หรือส่งของให้กับพวกตัวเอง หรือเช่นที่เขตดอนเมืองบางแห่ง น้ำท่วมครึ่งแข้ง ก็รีบเอาของไปแจกให้ทันที ทั้งที่พื้นที่อื่นที่ประสบความเดือดร้อนก่อนหน้านี้ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ 5. ให้ตักเตือนรื่องการขาดตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ต้องจัดการผู้ที่กักตุนสินค้า และขึ้นราคาสินค้าอย่างเด็ดขาด

6. ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษากฎหมายดูแลทำงานให้เต็มที่ โดยเฉพาะการแต่งตั้งญาติขึ้นมาเป็นผบ.ตร.แล้ว ก็ควรจะเร่งทำงาน เพราะเริ่มมีการซ้ำเติมประชาชน เช่น การโจรกรรม และกรณีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างเมืองนนท์กับดอนเมือง ซึ่งตัวคนทำผิดชัดเจน อยากให้แสดงฝีมือเป็นงานแรกหลังจากรับตำแหน่ง และ 7. ขอให้นายกฯ เลิกดื้อดึง และฟังความเห็นทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง และหยุดเล่นการเมืองสักพัก อย่ากีดกันที่ไม่ใช่พวกตนเองออกไป

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวเห็นด้วยกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเรียกประชุมสภาในวันที่ 26 -27 ต.ค. เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องการความเห็นจากทุกภาคส่วน แต่อย่าอาศัยช่วงชุลมุนหมกเม็ด นำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าในระเบียบวาระ โดยเฉพาะร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม แม้ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องนี้ในวาระ แต่ประธานสภาก็มีสิทธิ์เลือกวาระเข้ามาประชุมในสภาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีกลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่เข้าช่วยเหลือ ศปภ. ได้ถอนตัวจาก ศปภ.แล้ว นายสกลธีกล่าวว่า ไม่ใช่มีเฉพาะกลุ่มองค์กรภาคประชาชนอย่างไทยฟลัด( Thai Flood) เท่านั้นที่ถอนตัว แต่มีอาสาสมัครจำนวนมากได้ขอถอนตัวออกจาก ศปภ. เพราะได้เห็นข้อมูลการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพของ ศปภ. เพราะนายกฯ ใช้คนไม่ถูกกับงาน ทำให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายอยู่ที่คนเพียงคนเดียวที่มีอำนาจเซ็นอนุมัติ แต่ไม่นั่งประจำ ทำให้ปัญหาทุกอย่างติดขัดไปหมด