เมื่อเช้าวันจันทร์  นายกรัฐมนตรี  อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ไปเป็นประธานเปิดการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน  ครั้งที่ 42  ที่  จังหวัดภูเก็ต  และบ่ายวันนี้  นางฮิลลารี  คลินตัน  รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็จะเดินทางไปร่วมประชุมด้วยในฐานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน

เรื่องราวที่น่าสนใจจากปาฐกถาของ นายกฯ มาร์ค ในพิธีเปิดก็คือ อนาคตของกลุ่มประเทศอาเซียนใน ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558

นายกฯอภิสิทธิ์วาดฝันถึง  อนาคต 10 ประเทศอาเซียนในปี 2015 หรืออีก 6 ปีข้างหน้าว่า  จะเป็นชุมชนที่ติดต่อเชื่อมโยงกัน  หมายถึง สินค้าและประชาชนจะเชื่อมโยงกัน  การลงทุนและนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถเดินทางไปมาอย่างไม่มีอุปสรรคทั่วทั้งภูมิภาค จาก สุมาตรา ถึง  ลูซอน  จาก  สามเหลี่ยมปากแม่นํ้าอิรวดี  ถึง  สามเหลี่ยมปากแม่นํ้าโขง ในฐานะเศรษฐกิจอาเซียนทั้งตลาดและฐานผลิตเดียวกัน

เส้นทางคมนาคมจะมีการเชื่อมโยงทั่วภูมิภาค ไม่ว่าเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือเหนือ-ใต้ การคมนาคมทางนํ้า การเชื่อมโยงทาง อากาศผ่านสนามบินทั้งภูมิภาค

ภายใต้ภูมิภาคอาเซียนจะต้องปลอดจากวีซ่า  การเดินทางเข้า มาจากนอกภูมิภาคอาเซียนสามารถขอใช้วีซ่าเดียวกันได้

ประชาชนอาเซียน จะต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างเหมาะสมเท่าเทียมกัน  มีการส่งเสริมและลงทุนด้านการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างศักยภาพของคนเป็นการลงทุนระยะยาว  ถือเป็นจุดเปลี่ยนในกระบวนการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

สิ่งที่เราใฝ่ฝันคือ  อยากให้ภูมิภาคของเรา  ซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย  มีความศรัทธาและความเชื่อที่แตกต่างกัน  แต่ก็สามารถอยู่ ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว  โดยชื่นชมและเคารพในความแตกต่างทางวัฒน-ธรรม  ซึ่งเป็นมุมมองใหม่สำหรับการนำไปสู่ความสันติสุขและเจริญรุ่งเรือง

เห็นฝันของ นายกฯ อภิสิทธิ์ ในเวทีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแล้ว ผมก็อยากให้ฝันนั้นเป็นจริง ผู้คน 10 ชาติกว่า 500 ล้านคน แตกต่างในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แตกต่างในเชื้อชาติ แตกต่างในศาสนาและวัฒนธรรม แต่กลับมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว คือ "ประชาชนอาเซียน" แห่ง "ประชาคมอาเซียน" เหมือน "ประชาชนยุโรป" ใน "ประชาคมยุโรป" ที่รวมตัวกันสำเร็จมาก่อนหน้านี้

ความฝันนี้จะเป็นจริง ก็ต่อเมื่อเราสามารถทำให้ผู้ที่มีความแตกต่างในความเชื่อและศรัทธา สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยยอมรับความเชื่อและความศรัทธาที่แตกต่างกัน แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ผมเห็นความฝันของ นายกฯ อภิสิทธิ์ ที่มีต่อประชาคมอาเซียนแล้ว  ก็ต้องหันกลับมาดูประเทศไทย  หนึ่งในสมาชิกประชาคมอาเซียน แม้จะเป็นคนชาติเดียวกัน  มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดียวกัน  แต่มี  "ความเชื่อ"  และ  "ศรัทธา"  ที่แตกต่างกัน  ส่งผลให้ผู้คนในบ้าน เมืองแตกแยกเป็นสองฝ่าย  จนบัดนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถสมาน รอยแตกนี้ให้เชื่อมสนิทเป็นหนึ่งเดียวกันได้

อีก 6 ปี เมื่อคนอาเซียน 500 กว่าล้านคน รวมตัวเป็นคนในประชาคมเดียวกัน แล้วคนไทย 64 ล้านคน จะสามารถกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวเหมือนอาเซียนได้หรือไม่ เป็นการบ้านข้อใหญ่และยาก ที่ นายกฯ อภิสิทธิ์ จะต้องไปหาทางทำให้สำเร็จ

การรวม 10 ชาติอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว แม้จะมีข้อดีในเรื่องอำนาจการต่อรองระหว่างภูมิภาค แต่ในทางปฏิบัติข้อเสียก็มีมาก ประเทศเจริญกว่า  เศรษฐกิจเข้มแข็งกว่า  ย่อมได้เปรียบประเทศที่เจริญ น้อยกว่า  เศรษฐกิจอ่อนแอกว่า  ยุโรปเป็นตัวอย่างมาแล้ว  ไปถามดูได้ คนในประเทศที่ด้อยกว่าเจ็บปวดแค่ไหนกับการรวมยุโรป  ผมได้แต่ หวัง 6 ปีจากนี้ไป  ไทยจะเตรียมความพร้อมให้แข็งแกร่งพอที่จะไม่ให้ คนไทยและเกษตรกรไทย  ต้องเสียเปรียบและเจ็บปวดจากการรวมกลุ่มอาเซียน  เหมือนคนจนหลายประเทศในยุโรปที่เจอมาแล้ว.

"ลม เปลี่ยนทิศ"

...