ครม.ถกเครียด ลงมติตามความเห็น “เฉลิม” ไม่ประกาศวันหยุดยาว-ไม่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน สอนเชิง รมต. ต้องอ่านการเมืองให้ขาด อย่าเต้นตามฝ่ายค้าน ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ซ้ำเติมสถานการณ์...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายกฯและ ครม.ได้ใช้เวลาหารือเรื่องการเสนอให้ประกาศวันที่ 12-14 ต.ค.เป็นวันหยุดราชการ และข้อเสนอให้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อความสะดวกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยใช้เวลานานถึง 1 ชั่วโมง โดยนายกฯ ได้กล่าวขึ้นมาว่า มีส่วนราชการได้พูดว่าอยากให้รัฐบาลประกาศวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 12-14 ต.ค. ซึ่งรัฐบาลได้ปรึกษากับส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว และส่วนตัวก็เห็นว่า ไม่ควรที่จะประกาศให้เป็นวันหยุด เพราะถ้าหยุด ราชการก็ไม่ได้ไปช่วยประชาชนได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีการแบ่งฝ่ายทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้หยุด และฝ่ายที่คัดค้านอย่างชัดเจน โดยฝ่ายที่อยากให้ประกาศเป็นวันหยุดนำโดย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ที่อ้างเหตุผลว่าตอนนี้โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ถูกน้ำท่วมอยู่แล้ว และส่วนราชการเองก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ข้าราชการออกไปทำงานไม่ได้ ทำให้นายกฯ ได้กล่าวแย้งว่า ได้บอกอยู่นี่ไงว่าถ้าหน่วยราชการใด มีลูกน้องที่ไปทำงานไม่ได้ก็ให้ผู้บังคับบัญชาวินิจฉัยเลยว่า พนักงานผู้นั้นไม่ต้องมาก็ได้ โดยไม่ต้องถือเป็นวันลา ไม่ให้ไปกระทบวันลากิจ ลาป่วยของเขา แต่ นพ.วรรณรัตน์ ก็ยังติดใจโดยระบุว่า การใช้วินิจฉัยของส่วนราชการแต่ละที่ก็จะแตกต่างกัน
ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะอดีตประธานวิปรัฐบาล ที่เข้ามาร่วมประชุมในตอนหลัง ได้แสดงความเห็นว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่อยุธยาถือว่าหนักมาก ซึ่งคิดว่าน่าจะประกาศให้เป็นวันหยุด เพราะประชาชนเดือดร้อนจริง ๆ นายกฯ จึงได้ชี้แจงว่า ขอให้ท่านวิทยา ฟังก่อน เพราะมีการพูดกันไปตั้งแต่ตอนต้นแล้ว แต่นายวิทยา กลับบอกว่า ตนไม่ได้มีเจตนาจะสวนนายกฯ แต่ประชาชนเขาเดือดร้อนจริง ๆ จึงอยากให้ประกาศเป็นวันหยุด และในฐานะที่เป็นอดีตประธานวิปรัฐบาล เรื่องอะไรที่เราจะไม่ประกาศให้หยุด เพราะถ้าไม่หยุด พอเปิดสภามาวันพุธ พฤหัสฯ ฝ่ายค้านก็จะมาถล่มเราอีก ดังนั้นถ้าเราให้หยุด แล้ว ส.ส.ของเราก็จะได้ลงพื้นที่ พร้อมกับให้ส่วนราชการหยุดไปด้วย
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านนำโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯกล่าวให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ต้องมองมิติการเมืองให้เป็น เราจะบอกให้เป็นมติ ครม.ไปบีบบังคับสภาไม่ได้ ถ้าเขาอยากหยุดก็ให้หยุดเอง และไม่ว่าจะให้เป็นวันหยุดหรือไม่หยุด ถึง ส.ส.จะลงพื้นที่กันหมดสภา ก็ไม่สามารถทำให้น้ำลดลงไปได้ ยิ่งตอนนี้ฝ่ายค้านมีการโจมตีประเด็นว่านายกฯหนีตอบกระทู้อยู่ด้วย ทั้งที่ความจริง กระทู้เขาให้ถามความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนประชาชน แต่ฝ่ายค้านไปกันใหญ่ มานั่งคอยเช็คว่านายกฯมาเซ็นชื่อร่วมประชุมสภากี่ครั้ง หรือเซ็นชื่อแล้วออกจากสภาไป ทั้ง ๆ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยไม่ตอบกระทู้แต่มอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตอบแทน
ส่วนนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า ในส่วนของวิปรัฐบาลเอง ก็มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย บางฝ่ายก็ต้องการให้ประกาศเป็นวันหยุด ส.ส.จะได้ลงไปช่วยเหลือประชาชน แต่อีกฝ่ายก็ไม่อยากให้หยุด มองว่าจะลงไปทำไม เพราะ ส.ส.ไม่มีเครื่องมืออะไรไปช่วย ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ได้กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ทั้งนายกฯและส.ส.ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนอะไรเลย แต่ควรจะไปปรับที่ประธานสภา เพราะปล่อยให้สมาชิกขอหารือซ้ำซาก และประธานเงอะงะ มัวแต่เปิดข้อบังคับ อย่างบางครั้งตนมีเอกสารมอบหมายจากนายกฯให้ไปตอบกระทู้แทน แต่ประธานสภา กลับไม่มีเอกสารนั้น ก็เลยเงอะงะ มีปัญหา ซึ่งในที่สุด นายกฯก็ได้สรุปว่า ครม.จะไม่มีมติประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในช่วงเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องการตอบกระทู้ อยากให้นายสุรวิทย์ ไปช่วยหาคนมาประเมินว่า กระทู้ไหนที่นายกฯควรไปหรือไม่ควรไปตอบ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ได้ขอเสนอตัวเป็นหัวหน้าชุดเพื่อดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมานายกฯ ได้หารือถึงเรื่องข้อเสนอให้ประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วมว่า มีคนเสนอเข้ามา และมีส่วนราชการหลายส่วนเสนอเข้ามาว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่หลวงเกิกว่ารัฐบาลจะรับได้ จึงเสนอให้ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จากนั้นนายกฯ ได้หันไปถามนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าเรื่องนี้มีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง ซึ่งนายอัชพร ได้อธิบายว่า มีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องคือ 1.พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ให้นายกฯมีอำนาจเต็มในการสั่งการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอพยพประชาชน หรือกรณีการห้ามไม่ให้ทำลายคันกั้นน้ำ แต่ พรก.นี้ไม่ค่อยได้ใช้กัน เพราะส่วนใหญ่มักใช้ในการเคลื่อนย้ายกำลังทหารเท่านั้น 2.พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งนายกฯก็ใช้อยู่แล้วในขณะนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯจึงหันไปขอความเห็นจาก ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งระบุว่า เรื่องนี้ต้องมองการเมืองให้ออก เราจะไปประกาศทำไม ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครว่ารัฐบาล มีแต่คนชมนายกฯว่าขยัน ก่อนหน้านี้อาจมีคนไม่เข้าใจอยู่บ้าง แต่พอเปิด ศปภ.และนายกฯ ขยันมาก ขนาดผู้ชายยังทึ่งเลย แล้วเราจะไปประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ให้ประชาชนตกใจทำไม อย่าไปเต้นตามฝ่ายค้าน อย่าไปตกใจเพราะทั้งประเทศมีคนกลุ่มเดียวที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็คือฝ่ายค้านนั่นเอง น้ำท่วมขณะนี้อย่าไปประกาศ พรก.ซ้ำเติมประชาชนและสถานการณ์ไปอีก ฝ่ายค้านก็ต้องแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา สถานการณ์อย่างนี้ใครมาเป็นก็ท่วม ต่อให้นายอภิสิทธิ์ มาเป็นก็ท่วม ตอนนี้ไม่มีอะไรที่ประชาชนไม่เห็นด้วย เขาเทมาทางเรา ทุกวันนี้ รมต.ไปลงพื้นที่ก็ไม่มีชาวบ้านออกมาต่อต้าน เราบริหารอารมณ์ ความรู้สึกและสถานการณ์ได้ดีอยู่แล้ว
ขณะที่นายชุมพล และนพ.วรรณรัตน์ ต่างสนับสนุนความเห็นของร.ต.อ.เฉลิม เพราะหากประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ก็จะกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่นายกฯ ได้กล่าวขึ้นมาว่าตอนนี้การแก้ปัญหาน้ำท่วม รัฐบาลได้รับความร่วมมืออยู่แล้ว มากกว่าการที่จะไปเอากฎหมายบังคับ และวันนี้รัฐบาลคงไม่ไปแบ่งแยก ว่าใครใช่หรือไม่ใช่รัฐบาล แต่ กทม.จะต้องแอ็คทีฟมากกว่านี้ อย่างที่บอกว่าจะขุดลอกคลอง 5 แห่งใน 7 วัน ตนขอว่าขุดคลองสำคัญคลองเดียวที่คลองสามวา ให้เสร็จใน 3 วันจะได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นขอให้รัฐมนตรีทุกคนมาที่ ศปภ.มาให้กำลังใจ มาช่วยกันติดตามงานเป็นรายกระทรวง วันนี้ประชาชนโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือเป็นแสนราย รัฐบาลต้องกำกับสถานการณ์ให้ได้ แม้จะมีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหาก็ตาม มีคนถามนายกฯว่า นายกฯมั่นใจแค่ไหนว่าน้ำจะไม่ท่วมกทม. ซึ่งนายกฯก็บอกว่า เรื่องนี้ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าน้ำจะท่วมกทม.หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิม ได้ขอให้ทุกคนไปดูข้อมูลย้อนหลังไป 7 เดือน ที่อธิบดีกรมชลประทานพยากรณ์ว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะน้อย ขอให้ประชาชนอย่าทำนามากกว่า 2-3 ครั้ง ขอให้ทำเพียงแค่ครั้งเดียว ซึ่งการประเมินสถานการณ์อย่างนั้น ณ วันนั้น จึงทำให้เขื่อนเชื่อว่าน้ำจะน้อยเลยกักเก็บน้ำไว้มาก พอมีฝนตกลงมากๆ ก็ยังเก็บน้ำอีก มารู้อีกทีน้ำก็จะล้นเขื่อนแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ต้องทำให้ระดับน้ำลดลงให้เร็วที่สุด ซึ่งนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯก็ไม่ได้โต้แย้งและแทบไม่ได้มีส่วนร่วมในการหารือเรื่องนี้ในครม.แต่อย่างใด
...