ศอส.รายงานยังมีน้ำท่วม 30 จังหวัด เสียชีวิต 269 ราย เตือน 7 จังหวัดเฝ้าระวังดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมถนนไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 217 สายจาก 32 จังหวัด...

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2554 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฐานะรอง ผอ.ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 30 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และตาก รวม 223 อำเภอ 1,532 ตำบล 10,130 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 784,097 ครัวเรือน 2,388,286 คน และมีผู้เสียชีวิต 269 ราย สูญหาย 4 คน

น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 217 สาย แยกเป็น ทางหลวง 59 สาย ใน 15 จังหวัด ทางหลวงชนบท 158 สาย ใน 32 จังหวัด พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำร้อยละ 99 เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 98 เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ ร้อยละ 101 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 133 นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ รวมทั้งปริมณฑล ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และเพชรบุรี ระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักในระยะ 3-4 วันนี้

ส่วนพื้นที่ที่ต้องระวังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้ มี 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านตอนกลางของประเทศไทย ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบางพื้นที่วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มม. ทำให้ดินบนภูเขาชุ่มน้ำอาจพังถล่มลงมาได้ โดยขณะนี้เริ่มมีน้ำหลากในบางพื้นที่แล้ว ขอให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม

นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า ศอส.ได้กำชับ กทม.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ระดับน้ำภายในเขตพื้นที่ป้องกันว่าอยู่ในภาวะปกติ สามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์ได้ เพื่อมิให้ประชาชนตื่นตระหนกต่อผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัด โดยรอบกรุงเทพฯ

สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มรุนแรง ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถป้องกันได้เข้ามาอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพที่จังหวัดจัดตั้งขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีความคล่องตัว มากขึ้น.

...