เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิเชียร ชวลิต ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference) ร่วมกับศูนย์อำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) โดยมีนายพระนาย สุวรรณรัฐ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย และตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอยู่ที่ ศสอ. เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยจาก ผวจ.นนทบุรี ปทุมธานี ร้อยเอ็ด และยโสธร

นายภาณุ แย้มศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานในที่ประชุมว่า ขณะนี้ยังมี 25 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ทุกภูมิภาคยังคงมีฝนกระจาย และคาดว่าระหว่างวันที่ 6 - 9 ต.ค.นี้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบจากพายุนาเกล ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่างๆ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การดำเนินการช่วยเหลือประชาชน และการป้องกันล่วงหน้าของ จ.นนทบุรี และปทุมธานี ได้มีการประชุมร่วมกับผู้บังคับบัญชาทุกภาคส่วนเพื่อประเมินสถานการณ์ทุกเช้าโดยได้แบ่งการทำงานตามเขตความรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ โดยมีผู้บังคับบัญชา หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเป็นรับผิดชอบดูแลสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือ คอยแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้อำนวยการ ปภ.กล่าวต่อว่า ทาง ปภ.จะแจ้งเตือนให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง ก่อนเกิดเหตุการณ์ล่วงหน้า อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าไปช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนได้อย่างทันที ส่วนสถานการณ์ จ.ร้อยเอ็ด และจ.ยโสธร ได้มีการจัดเวรยามเฝ้าดูสถานการณ์น้ำ และแนวคันกั้นน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนได้มีการคำนวณปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่จังหวัดไว้ล่วงหน้าทำให้ทราบ สถานการณ์น้ำ และเตรียมรับสถานการณ์ไว้ได้ สถานการณ์น้ำล่าสุดอยู่ในภาวะพ้นขีดวิกฤติ และได้มีการเตรียมประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการฟื้นฟูหลังน้ำลด

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายเน้นในส่วนของการเตือนภัยเพราะคงทราบว่าการพยากรณ์อากาศมีปัญหา ซึ่งการเตือนภัยต้องมีเวลาพอที่พี่น้องประชาชนจะเคลื่อนย้ายได้ทัน ที่ผ่านมาการเตือนภัยเป็นไปด้วยความล่าช้า อีกทั้งตนต้องการให้การทำงานมีเจ้าภาพจึงต้องปรึกษากันว่าจะเป็นหน่วยไหนใน การลงไปดูแล และให้ ผวจ.แต่ละจังหวัดเร่งสำรวจความแข็งแรงของคันกั้นน้ำรองรับสถานการณ์ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่คาบเกี่ยวกันของแต่ละจังหวัดให้ ผวจ.หารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันป้องกันไม่ให้จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งได้รับผลกระทบอยู่ฝ่ายเดียว พร้อมทั้งให้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนโครงการขุดลอกคลองที่ ผวจ.ที่ประสบอุทกภัยได้มีการนำเสนอแผนโครงการให้ ศอส.พิจารณาอนุมัติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพื่อเปิดทางระบายน้ำ และโครงการจัดทำเขื่อนและแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำนั้นขอให้ ศอส.เร่งพิจารณาโครงการ และนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขอมอบหมายให้นายพระนาย สุวรรณรัฐ รักษาราชการปลัดกระทรวงมหาดไทย จัดทำแบบฟอร์มการตรวจสอบรายกิจกรรม (Check list) ตามหลักการทำงาน 2P2R ให้ผวจ.แต่ละจังหวัดทำรายงานตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และรับทราบผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป และขอให้เน้นการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแก่ผู้ประสบอุทกภัยต้องดำเนินการอย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยให้กรมชลประทานติดตาม และรายงานสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดหาสิ่งของที่ทางจังหวัดขอรับการสนับสนุนให้เพียงพอต่อความต้องการ

ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่หอประชุมกองทัพเรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร(กทม.)ว่า ในวันที่ 4 ต.ค. ตนจะไปติดตามกับกทม. ทางวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ต้องดูสภาพของจังหวัดใกล้เคียงด้วย เท่าที่คุยกันนั้นน่าจะรองรับได้ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจขอดูเพื่อความเรียบร้อย และตนได้สั่งการ ผวจ.ทุกจังหวัดเชิญเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานไปตรวจดูแต่ละ จุดของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องการทำแนวกั้นน้ำว่ามีเพียงพอหรือไม่ หรือรองรับกับปัญหาหรือไม่ เมื่อถามว่า จะให้หน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกับ กทม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราได้ขอความร่วมมือกับกทม.อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า เกรงว่าจะเกิดปัญหาการเตือนภัยผิดพลาดเหมือนที่ จ.เชียงใหม่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จ.เชียงใหม่นั้นไม่โทษการเตือนภัยที่กระชั้นดีกว่า เพราะทราบว่ามีการเตือนภัยกันทุกระยะ แต่พอตอนสุดท้ายระยะเวลาอาจกระชั้นชิดเลยทำให้ประชาชนเตรียมตัวไม่ทัน ขณะเดียวกันปริมาณน้ำที่มามาก เราอาจจะไม่ได้คุยกันมากในเรื่องการเตือนภัยว่า ปริมาณน้ำที่มาแค่ไหนรวมทั้งความแรงของน้ำ ก็เลยทำให้แนวกั้นน้ำไม่สามารถรองรับ ซึ่งได้มีการสั่งการแล้วว่า ต่อไปนี้ในเรื่องการเตือนภัยจะต้องมีการบูรณาการในเรื่องของกระแสน้ำปริมาณน้ำด้วย และจะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจดูความแข็งแรงของแนวกั้นน้ำอีกชั้นหนึ่ง

...