โฆษก ปชป. จวก พท. กล้องวงจรปิด กทม. กลบเกลื่อนบริหารงานเหลว ปูด สมัย พ.ต.ท.ทักษิณก็มีการติดกล้องดัมมี่ในภาคใต้กว่า 7,000 ตัว ขณะที่ของจริงมีเพียง 3,000 ตัวเท่านั้น ชี้ นำเรื่องนี้ขึ้นมา ต้องการดิสเครดิต ปชป. ช่วงใกล้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร...

วันที่ 25 ก.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยุติการโจมตีประเด็นการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ กทม. ว่า การเปิดประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงความพยายามที่จะบิดเบือน และกลบเกลื่อนความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และยังเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความสับสนเข้าใจผิด ไม่คิดว่าจะมีคนกล้าใช้ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชนมาเป็นตัวประกัน เพียงเพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการดิสเครดิตทางการเมืองอย่างน่ารังเกียจได้เช่นนี้

“เรื่องอย่างนี้คนดีๆ เขาไม่ทำกัน อย่าแกล้งโง่ ทำเป็นไม่เข้าใจ หรือสร้างประเด็นบิดเบือนให้ประชาชนสับสน เพราะในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีการติดตั้งกล้องดัมมี่ เพราะมีงบประมาณจำกัดในพื้นที่ภาคใต้มากถึง 7 พันตัว โดยมีการติดตั้งกล้องจริงเพียง 3 พันตัว ซึ่งข้อมูลนี้พรรคประชาธิปัตย์เองก็ทราบมานานแล้ว แต่เราไม่เคยเอามาใช้ประโยชน์ทางการเมืองด้วยความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สิน และความมั่นคงของรัฐ เพราะเข้าใจข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และรู้ดีว่าจะกลายเป็นการสร้างผลกระทบด้านความปลอดภัยของประชาชน ทำให้ผู้ร้ายไม่เกรงกลัว คนที่ได้รับความเดือดร้อนก็คือประชาชน"นายชวนนท์ กล่าว...

นายชวนนท์ กล่าวต่อ ว่า แต่พรรคเพื่อไทยกลับนำเรื่องนี้มาเล่นการเมือง เพียงเพราะใกล้ช่วงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จึงต้องการทำลายคู่แข่งโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน และยังเป็นความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นที่รัฐบาลไร้ความสามารถในการบริหารประเทศด้วย ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่หวาดกลัว เพราะชี้แจงได้ทุกประเด็น เรื่องไหนที่คิดว่าไม่โปร่งใสก็ขอให้ตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำให้เกิดกระแส จากนั้นก็ปล่อยทิ้งไป เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด เช่น กรณี 165 ศพที่จังหวัดระยองที่มีการขนศพไร้ญาติมากว่าสิบปีแล้ว แต่กลับพยายามขุดศพมาใส่เสื้อแดงกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อความจริงปรากฏ ก็ไม่มีใครรับผิดชอบหรือกล่าวคำขอโทษแม้แต่คำเดียว”

นายชวนนท์ ยังได้อธิบายเกี่ยวกับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ผ่านมา จำนวน 4 ฉบับ ในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน มีการทำสัญญาเพียงหนึ่งฉบับ โดยติดตั้งกล้องจริง 347 ตัว ดัมมี่ 242 ตัว ราคาตัวละ 2,900 บาท เป็นเงิน 7 แสนบาท ส่วนสัญญาฉบับที่สองถึงฉบับที่สี่เกิดขึ้นในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยฉบับที่สอง มีการติดตั้งกล้องจริง 533 ตัว กล้องดัมมี่ 373 ตัว ฉบับที่สามมีการติดตั้ง กล้องจริง 490 ตัว กล้องดัมมี่ 343 ตัว และฉบับที่สี่ ติดตั้งกล้องจริง 676 ตัว กล้องดัมมี่ 367 ตัว รวมทั้งหมดมีการติดตั้งกล้องจริง 2,046 ตัว และกล้องดัมมี่ 1,325 ตัว วงเงินทั้งหมดรวม 330 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาของกล้องดัมมี่ก็แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา ในปัจจุบันราคาก็ตกลงไปอีก ดังนั้น ผู้ที่ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ควรพูดให้ครบ อย่าหยิบยกแต่บางประเด็นที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองกับตัวเองเท่านั้น

...