อลงกรณ์ พลบุตร อดีต รมช.พาณิชย์ จากค่าย "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" ปชป. ที่ปัจจุบันถูกแต่งตั้งให้เป็น รมว.พลังงานเงา กล่าวกับทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" ในโอกาสให้เกียรติในการสัมภาษณ์พิเศษ "สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการดูแลนโยบายพลังงานของประเทศ ต้องยึดหลักการบริหารประเทศ ไม่ใช่บริหารการเมือง เพราะพลังงานเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ถ้ามุ่งผลแต่การเมืองเฉพาะหน้า เพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง หรือเพื่อความนิยมทางการเมืองครั้งต่อไป มันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในระยะยาว ตัวอย่างเช่น รัฐบาลไม่ได้แสดงออกในการปรับโครงสร้างพลังงาน ปัจจุบันนับเป็นวิกฤตเสี่ยงอย่างมากคือการใช้แก๊สผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 75% ของใช้พลังงานผลิตไฟฟ้า ขณะที่เราต้องนำเข้าแก๊สจากต่างประเทศ จึงควรต้องมีการปรับโครงสร้างอย่างเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในอนาคต นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องบริหารประเทศ ไม่ใช่บริหารการเมือง"


นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีพลังงาน ต้องพูดถึงแนวทางแก้ไขมากกว่าการที่จะมัวแต่ชี้ให้เห็นถึงปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ทราบอยู่แล้วในข้อเท็จจริง นอกจากรัฐบาล ยังไม่มีแผนบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า จะมีแผนจะลดสัดส่วนการใช้พลังงานแก๊สอย่างไรบ้าง เราไม่เคยได้ยินแผนการลดสัดส่วนการใช้พลังงานจากรัฐบาลเลย  รวมทั้งยังไม่เคยได้ยินแผนยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน

...


"รมว.พลังงาน พูดถึงเรื่องพลังงานทดแทนเหมือนอย่างไม่เข้าใจ จึงสะท้อนออกมาตอนที่มีการประกาศลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล โครงสร้างของราคาขายปลีกน้ำมันทุกประเภท เพราะไม่ได้สะท้อนถึงว่า รัฐบาลมีการส่งเสริมใช้พลังงานประเทศไบโอฟิลด์ อาทิ เอธานอล บีโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า รมว. ขาดความรู้ความเข้าใจ คือมองด้านเดียวตามนโยบายที่แถลง แต่ไม่ได้มองภาพรวม กลับไปมองที่จุดๆ เดียว เปรียบเหมือนเวลาบริหารต้องดูภาพรวมเห็นป่าทั้งป่า ไม่ใช่เห็นต้นไม้แล้วตัดต้นไม้ต้นนั้นต้นเดียว มันทำให้กระทบทั้งระบบ ทำให้เกิดปรากฏการณ์เมื่อรัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมันแล้ว เลยต้องกลับมาประกาศขึ้นราคาอีก แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้ เพราะมันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นนโยบายเฉพาะกิจ คิดว่าเรื่องแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี หรือพลังงานทางเลือกของประเทศ รมว.ก็ยังไม่มีการขยับเขยื้อนนโยบายนี้เลย รมว.พลังงาน ต้องทำให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น กระทบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งก็จะต้องตอบให้ได้ว่า เมื่อกระทบแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศไทยแล้ว จะนำพลังงานอะไรมาทดแทน ซึ่ง รมต.ก็ยังไม่ได้ตอบ" นายอลงกรณ์กล่าว ...


-ถ้า พท. จะระบุว่ารัฐบาลก็กำลังจัดหาแหล่งพลังงานในอนาคตอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ในอ่าวไทย ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ? 

รมว.พลังงานเงา กล่าวว่า ส่วนตัวก็มีความเห็นด้วยที่จะต้องมีการเจรจา แต่ไม่อยากให้นำประเทศไปอยู่บนความไม่แน่นอน เพราะไม่ทราบว่าเรื่องความขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ทั้งกรณีพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. เขาพระวิหาร และพื้นที่ในทะเลที่อุดมไปทั้งแก๊สธรรมชาติและน้ำมันในอ่าวไทยจะจบลงแบบไหนและเมื่อใด ดังนั้น รมว.พลังงานจะต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ รวมทั้งกรณีการเปิดแข่งขันอย่างเสรีในธุรกิจพลังงาน ที่มีลักษณะกึ่งผูกขาด วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนซักอย่าง โดยเฉพาะเรื่องแก๊สซึ่งเป็นวัตถุดิบด้านปิโตรเคมีด้วย


"ถึงเวลาหรือยังที่ต้องมีการพูดถึงการลอยตัวราคาแก๊ส น้ำมัน ซึ่ง รมว.ต้องตอบให้เกิดความชัดเจน เพราะราคามีความเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ทำให้บริษัทน้ำมันที่เกี่ยวข้องมีกำไรมากเกินไป คือการเปิดเสรี แทนกึ่งผูกขาด วันนี้จึงมีคำถามว่า ปตท. ผูกขาดกิจการแก๊ส ต้นน้ำ กลางน้ำ เปิดปลายน้ำ วันนี้ ปตท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถามว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปิดเสรีธุรกิจด้านกิจการแก๊สในประเทศไทย นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ รมต.ต้องตอบ ตรงนี้ส่วนตัวอยากเห็นจุดเปลี่ยนมาจากพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน ไม่อยากให้เห็นจุดเปลี่ยนมาจากพรรค ปชป.อย่างเดียว"


"ผมคิดว่า รมว.จะมาฝึกงานไม่ได้ พรรคการเมืองต้องมีความพร้อม พรรค ปชป. มีระบบ รมว.เงา มาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ฉะนั้นผมจะติดตามทั้งในเชิงตรวจสอบรัฐบาล และในเชิงสร้างนวัตกรรมทางนโยบาย ทันทีเป็นรัฐบาลเรานำมาใช้บริหาร ไม่ว่าใครมาเป็น รมว.พลังงาน มันต้องบริหารด้วยนโยบาย ไม่ใช่เอาคนมาแล้วมาดู หรือคิดนโยบายอะไรบ้าง มันไม่ใช่ มันไม่ใช่เวทีการฝึกงาน ไม่มีฮันนีมูนสำหรับ รมต.  ขณะเดียวกันรัฐบาลและ รมว.พลังงาน จะต้องแยกการบริหารราชการแผ่นดินออกจากการบริหารการเมือง รมว.พลัังงานต้องแยกบทบาทตรงนี้ให้ออก การบริหารการเมืองเป็นเรื่องของพรรค พท. ขณะเดียวกัน ต้องมีสมาธิ มองอนาคตพลังงานของประเทศให้ออก โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีวาระซ่อนเร้น ไปเกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี ผมว่ามีงานสำคัญมากกว่านั้น"


"นอกจากเรื่องอดีตนายกรัฐมนตรี อาทิ ไทยมีโอกาสเป็น เอทานอลฮับ ไบโอฟีลด์ฮับ หรือเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนของอาเซียน นี่เป็นโอกาสของประเทศ แล้วอีก 3 ปีข้างหน้า เราจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พลังงานเป็นฐานทุกอย่าง ไทยเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนในด้านพลังงานทดแทน ซึ่งในวันนี้ รมว.พลังงาน ก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนในการสร้างโอกาสของประเทศ  เพราะมันไม่ใช่ว่าเราผลิตเอทานอลได้ หรือผลิตไบโอดีเซลได้เท่านั้น แต่เราต้องทำโลจิสติกส์ในการส่งออก แก้กฎหมาย กฎระเบียบใหม่ ซึ่งผมยังไม่เห็นว่ารัฐมีความพยายามเสนอกฎหมายเข้ามาเลย ซึ่งตรงนี้น่าห่วง รมว.ต้องเร่งทำงาน รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของงาน" นายอลงกรณ์ ย้ำ

นายอลงกรณ์ ยังกล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะเชื่อมระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย ลดค่าใช้จ่ายการส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ว่า คิดว่า นายพิชัย รมว.พลังงาน ยังมีความสับสนในนโยบาย ว่ามันคือโครงการเซาเทิรน์ซีบอร์ด หรือโครงการที่ปากบารากันแน่  แต่เชื่อว่าท่านอาจไม่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะทั้ง 2 พื้นที่มีสถานการณ์ที่ทำให้โครงการยืดเยื้อ นั่นคือกรณีที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือชุมชนท้องถิ่น ไม่ยอมให้มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้น จึงเกิดการประท้วง เลยไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่ง รมว.พลังงานต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนี้ แล้วจึงสามารถนำมาตัดสินใจได้ว่า จะขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างไร

นั่นคือเหตุผล ทำไมรัฐบาลที่แล้วจึงเดินคู่ขนาน ทำทั้งโครงการปากบารา และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะประเทศรอไม่ได้ เราต้องมีโครงการที่เชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งนี้ โครงการทวายเป็นโครงการที่รัฐบาลลงทุนน้อยที่สุด อีก 2 ปีก็น่าจะเสร็จสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ถึงต้องบอกว่าต้องมองอย่างเข้าใจ ถึงบอกว่าต้องรู้ทันสถานการณ์ ทันโลก มีความเข้าใจข้อมูลที่แท้จริง แล้วมาจัดลำดับตัดสินเรื่องนโยบาย เมื่อตัดสินนโยบาย ถ้ามีความไม่แน่นอนวางอยู่ข้างหน้า ไม่รู้ว่าความฝันของท่านจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับประเทศไทยจะสูญเสียโอกาส