ศอส.รายงานมีผู้เสียชีวิตแล้ว 132 ราย เตือน 20-23 ก.ย.ร่องมรสุมพาดผ่านตอนกลางของประเทศ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ย้ำ ปชช. พื้นที่ประสบภัยเข้าหลักเกณฑ์จ่ายเยียวยา ส่งหลักฐานภายใน 26 ก.ย.นี้ ...

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 25 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 132 ราย สูญหาย 2 รายสำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 3,986 ลบ.ม.ต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,715 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี

นายวิบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 88 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 96 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำร้อยละ 99 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณมากเกินความจุ ร้อยละ 111 ซึ่งต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับกระทบจากระดับน้ำที่ เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวให้ขนย้ายสิ่งของ ขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ ส่วนกรุงเทพมหานคร พื้นที่ด้านตะวันออกนอกคันกั้นน้ำบริเวณเขตมีนบุรี หนองจอก และเขตลาดกระบัง ยังมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

รองผอ.ศอส.กล่าวต่อว่า ในช่วงวันที่ 20 - 23 ก.ย. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดตอนกลางของประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดนครนายก สระแก้ว ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร มุกดาหาร ขอนแก่น ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี ตราดภาคใต้ฝั่งตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปโดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ให้ระวังน้ำที่ล้นมาจากจังหวัดนครนายก จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่ม และใกล้ทางน้ำไหลผ่านระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ที่สำคัญขอให้โรงพยาบาล 16 แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำ โดยเฉพาะโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เตรียมเสริมแนวกระสอบทรายให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่โรงพยาบาล พร้อมเตรียมแผนอพยพคนไข้ หากสถานการณ์วิกฤติ

นายวิบูลย์กล่าวว่า ศอส. ขอให้จังหวัดที่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในรอบแรก และประสงค์ขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเร่งสำรวจข้อมูลให้แล้วเสร็จภายใน 26 ก.ย. เพื่อจัดส่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวบรวมและพิจารณาเสนอคณะ รัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมต่อไป.

...