มท.1 ยันน้ำไม่ท่วมกรุงเทพ ปภ.เผยจ่ายเงินช่วยน้ำท่วมแล้วแสนกว่าครัวเรือน ศอส.รายงานน้ำยังท่วม 26 จังหวัด เสียชีวิตทั้งสิ้น 112 ราย สูญหายอีก 2 ราย พร้อมเตือนระวังมรสุมเข้า 20-23 ก.ย.นี้...


เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯว่า ภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไปลงเรือตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการหารือแผนงาน การตรวจสอบมวลน้ำไปจนถึงแผนเผชิญเหตุ และการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้มั่นใจว่าปัญหาน้ำท่วมจะไม่ส่งผลกระทบกับ กทม. ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศอย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนอุ่นใจได้

ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาทว่า ได้จัดส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินแล้ว 107,122 ครัวเรือน เป็นเงิน 535,610,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 61.18 คงเหลือข้อมูลครัวเรือนที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 67,966 ครัวเรือน เป็นเงิน 339,830,000 บาท ทั้งนี้สำหรับจังหวัดที่ได้จัดส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว ขอให้รายงานรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ส่วนจังหวัดที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอตรวจสอบข้อมูลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรวบรวมจัดส่งให้ธนาคารออมสินดำเนินการจ่ายเงินแก่ผู้ประสบภัยตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับผู้ประสบภัยต้องเตรียมบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อรับเงินต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน กรณีไม่สามารถมารับเงินได้ด้วยตนเอง ต้องมีหนังสือมอบฉันทะและบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มอบและผู้รับมอบ

ด้านนายประทีป กีรติเรขา รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 26 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 112 ราย สูญหาย 2 ราย ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 3,935 ลบ.ม.ต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,706 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณ 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี

...

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 88 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 96 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำมากเกินความจุร้อยละ 102 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำมากเกินความจุร้อยละ 109 ต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ

ส่วนกรุงเทพมหานครพื้นที่ด้านตะวันออกนอกคันกั้นน้ำ บริเวณเขตมีนบุรี หนองจอก และเขตลาดกระบัง ยังมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายประทีป กล่าวว่า จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในช่วงวันที่ 20 – 23 ก.ย.นี้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนบนของประเทศระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ เนื่องจากระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ในวันที่ 23 ก.ย. ร่องมรสุมอาจเคลื่อนตัวผ่านและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและจังหวัดโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบกับแหล่งน้ำของชลประทานในพื้นที่มีระดับเก็บกักสูงอยู่แล้ว จึงขอให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โครงการชลประทานจังหวัด สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดทุกวัน