นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะจี้ข้าราชการบูรณาการแก้น้ำท่วม สั่งสำนักงบประมาณขยายวงเงินช่วยเหลือ พร้อมให้ มท.รื้อหลักเกณฑ์จ่ายเงิน 5,000 บาท เพื่อความโปร่งใส...
เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 3 ก.ย. ที่ตึกสันติไมตรี หลังในทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมบูรณาการแนวทางป้องกันและแก้ไข ปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบครั้งที่ 1/2554 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนสำนักงบประมาณ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง กองบัญชาการกองทัพไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อหารือและให้แต่ละหน่วยงานเสนอแนวทางในการจัดทำกรอบการดำเนินการ กรอบเงินงบประมาณ และเวลาดำเนินการแก้ปัญหา โครงการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างบูรณาการในระยะยาว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในช่วงต้นเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้ต้องการที่จะให้ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบและเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขแบบบูรณาการการป้องกันอุทกภัย เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานและฝ่ายปฏิบัติต่างๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คือการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งแนวทางในการทำงานนั้นต้องหาจุดที่ว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้ในลักษณะของวันสต็อปเซอร์วิส ด้วยการเร่งให้ความช่วยเหลือ การฟื้นฟู และการดูแลทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 4 ก.ย. เวลา 09.00-12 .00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุโซนร้อนนกเต็น ประกอบด้วย สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี และสิงห์บุรี มาประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงแนวการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จากนั้นเวลา 13.00 -15.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมามอบนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด รวมทั้งรับฟังแนวทาง และข้อเสนอแนะต่างๆจากพื้นที่
ต่อมาเวลา 10.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมว่า วันนี้มีการประชุมบูรณาการจาก 37 หน่วยงานมาทำงานร่วมกันในภาพใหญ่ หลังจากที่มีการประชุมที่กระทรวงมหาดไทยก่อนหน้านี้ในการเริ่มบูรณาการ ก็มองว่าการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งควบคู่กันไป จึงมีการแบ่งงานเป็น 2P2R เพื่อให้บูรณาการแบบวันสต็อปเซอร์วิส ทำให้มีผู้รับผิดชอบและตามงานชัดเจน นอกจากนี้ตนยังมอบหมายให้อธิบดีฯดูแลส่วนของบางระกำโมเดลที่เป็นโมเดลต้นแบบ ดังนั้นวันนี้จึงเป็นการประชุมในส่วนตัวสุดท้ายในเรื่องของการป้องกันอย่างยั่งยืน
นายกฯ กล่าวว่า หลังจากดูภาพใหญ่แล้วจะมาดูรายจังหวัดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบ เพราะการแก้ไขปัญหาจังหวัดหนึ่งก็จะมีผลกระทบกับจังหวัดหนึ่ง ทั้งนี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายขั้นตอน แต่ถ้าวันนี้ได้ข้อสรุปก็จะเห็นภาพรวมในการเป็นแผนระยะยาวในการวางแผนแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ตนมีความเป็นห่วงใน 9 จังหวัดที่น้ำยังไม่ลดจาก 44 จังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน และจากนั้นก็จะขยายไปยังพื้นที่ 44 จังหวัดที่มีปัญหาด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ชาวบ้าน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เริ่มขาดแคลนอาหารหลังจากที่รัฐบาลพยายามจะทำเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทราบเรื่องราวแล้ว และตนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่แอ่งน้ำ และปัญหาในเรื่องของการระบายน้ำก็จะมีการเร่งระบายน้ำให้ ส่วนในเรื่องของอาหารที่ขาดแคลนนั้นได้ให้ในพื้นที่รายงานเข้ามาว่าพื้นที่ไหนยังไม่ได้รับการดูแล เพราะเราจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว
เมื่อถามว่า เงินชดเชยจากเดิมรัฐบาลที่แล้วจ่าย 5,000 บาท และในส่วนรัฐบาลนี้จะให้เท่าไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของการช่วยเหลือเงิน 5,000 บาทนั้น กระทรวงมหาดไทยกำลังพิจารณารายละเอียดนี้อยู่ เพราะเมื่อก่อนที่มีการจ่ายก่อน เราเองก็ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์วิธีการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสชัดเจน จึงให้หน่วยงานดูเพื่อความรอบคอบ และที่สำคัญต้องกลับไปประเมินงบประมาณที่เหลือไว้ให้เราในการแก้ไขงบฉุกเฉินค่อนข้างมีจำกัด ตนคงต้องประเมินภาพรวมทั้งหมด ก็คงต้องบริหารจัดการ แต่ทุกอย่างจะบริหารจัดการให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า มีข้อมูลจากพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าเหลืองบประมาณมากกว่าพันล้านบาท ตรงนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพียงพอที่จะดำเนินการหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ก็ลองคิดดูง่ายๆ ถ้าจากพันล้านบาท ลองคิดดูว่าถ้าค่าเสียหาย 5,000 บาทต่อครัวเรือน แล้วนี่เสียหายหลายแสนครัวเรือนอย่างนี้งบประมาณ 1 พันล้านบาทจะพอหรือเปล่า ต้องบอกว่าวันนี้แค่งบประมาณที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 50 ล้านบาทเองก็ยังไม่พอ เราคงต้องมาดูเรื่องความสำคัญเร่งด่วนกัน แต่จะพยายามไม่ให้งบประมาณเป็นข้อจำกัด จะเร่งหารือกับสำนักงบประมาณในการที่จะดูว่าจะทำอย่างไรในส่วนของงบฯสำรองฉุกเฉินต้องเรียนว่าจากข้อมูลพื้นฐานงบประมาณเหลือน้อยมาก
เมื่อถามว่า ต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังพยายามไม่ทำแบบนั้น เพราะจริงแล้วในส่วนของการอนุมัติงบ 5,000 บาท เป็นการให้กรณีพิเศษ ให้เป็นครั้งคราวไม่ใช่เป็นหลักเกณฑ์ปกติ ซึ่งเราต้องนำมาพิจารณาทบทวน
...