"สาทิตย์" รอผู้ว่าฯพัทลุงรายงาน กรณีเงินช่วยเหลือชาวบ้านน้ำท่วมได้ไม่ครบ 5,000 บาท หลังตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว แย้มบางที่รับแล้วไปเฉลี่ยแจกกันเอง ทำให้ได้ไม่ครบ แต่ก็ไม่มีปัญหา...
เมื่อเวลา 08.50 น. 20 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการได้รับเงินชดเชยไม่ครบตามจำนวน 5,000 บาทของชาวจังหวัดพัทลุง ว่า เท่าที่ตามเรื่องนี้ ทางธนาคารออมสินยืนยันได้จ่ายแต่ละคนครบ 5,000 บาท แต่หลังจากจ่ายไปแล้วจะเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ก็ได้บอกว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง รัฐบาลได้กำหนดวิธีการจ่ายคือจ่ายผ่านธนาคารออมสิน โดยคนรับหรือคนที่เซ็นชื่อรับ ต้องได้รับเงินครบ 5,000 บาท ไม่เช่นนั้นทางธนาคารจะไม่ยอมจ่ายให้ และเมื่อได้รับไปแล้วก็จะเป็นสิทธิของคนนั้น ที่จะนำเงิน 5,000 บาท ไปใช้จ่ายอย่างไร
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ที่ จ.พัทลุงนั้น ตนไม่แน่ใจว่า กระบวนการที่เกิดขึ้น เกิดในขั้นตอนใด เพราะทางธนาคารออมสินยังยืนยันว่าจ่ายครบ 5,000 บาท และคนที่เซ็นต้องรับเงินครบ 5,000 บาท การตรวจสอบ หากจะตรวจสอบด้วยการที่ผวจ.บอกจะตั้งกรรมการมาตรวจสอบ ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง โดยตนจะรอรายงานจาก ผวจ. ที่ผ่านมาคนที่เดือดร้อนจะเป็นผู้ไปเซ็นรับเงินด้วยตัวเอง เพราะในหลักเกณฑ์ที่วางไว้จะไม่สามารถมารับแทนได้ การมอบอำนาจจะทำได้กรณีที่เจ้าของบ้านป่วย ให้คนหนึ่งคนใดในบ้านไปรับเท่านั้น มอบอำนาจให้ผู้ใหญ่บ้านเพียงคนเดียวไปรับ ก็ทำไม่ได้ และหลักของการรับเงินจะไปเซ็นไว้ก่อนไม่ได้ ต้องไปเซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคาร
"ที่ผ่านมาเท่าที่รู้มาอย่างไม่เป็นทางการ มีบางชุมชนไม่มีปัญหา คนรับเงินไปแล้ว กลับไปบ้านไปประชุมกัน แล้วต่างคนต่างเฉลี่ยให้คนที่ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของชุมชนนั้น ไปว่าไม่ได้ แต่จะไปบังคับหักไม่ได้" นายสาทิตย์ กล่าว
นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่ประสบปัญหา ปี 2553 กว่า 1ล้าน ครอบครัวรับเงินไปแล้วไม่พบปัญหา อย่างที่เกิดขึ้นกับจังหวัดพัทลุง แต่มีที่ จ.ลพบุรี ที่มีการผิดสังเกตเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ประเด็นเงินชดเชย แต่เป็นเรื่องอื่น ที่ทาง ป.ป.ท.ไปตรวจสอบพบ และก็ได้ส่งเรื่องทาง ป.ป.ช.ไปแล้ว
นอกจากนี้ นายสาทิตย์ ยังกล่าวถึงเรื่องการดูแลในเรื่องการสร้างบ้านให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย โดยมีประมาณ 800 หลัง ที่เสียหายทั้งหลัง ซึ่งแยกได้หลายกลุ่ม อาทิกลุ่มที่บ้านเดิมมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่พบมาก โดยเรื่องนี้จะต้องไปหารือกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยเป็นที่ของกระทรวงทรัพย์ฯ โดยจะเอาหลักเกณฑ์เดิม ตอนเกิดสึนามิมาใช้คือ ผ่อนผันไม่อยู่ต่อไป ส่วนอีกกลุ่ม คือ ต้องการจะย้าย แต่ไม่มีที่ดินใหม่ ตรงนี้ก็ต้องไปเจรจาและหาที่ดินให้
...