ปปช. เตรียมชง ครม. ลงนามลุยตั้งสถาบันปราบทุจริตระหว่างประเทศ...
มีรายงานว่า ในการประชุมครม.วันที่ 4 เม.ย. สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ การลงนามในความตกลงเพื่อก่อตั้งสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตระหว่างประเทศ เป็นองค์การระหว่างประเทศ (Agreement for the Establishment of the International Anti - Corruption Academy as an International Organization) โดยระบุว่า การที่ประเทศไทยจะลงนามในความตกลงฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการต่อต้านการทุจริตโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการยกระดับมาตรฐานด้านการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย
นอกจากนี้ การลงนามในความตกลงฯ จะแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการต่อต้านการทุจริต และประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมและวิจัยในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศต่าง ๆ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ ซึ่งป.ป.ช. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2554
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช. รายงานว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติการประชุม ครั้งที่ 244-79/2553 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. (ศาสตราจารย์ ภัคดี โพธิศิริ) เป็นผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับทางสถาบัน IACA ณ กรุงลาเซนเบิร์ก ประเทศออสเตรีย โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงของคณะกรรการ ป.ป.ช. ที่จะเข้าร่วมเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน โดยคณะผู้แทนได้หารือกับ Mr. Martin Kreutner ประธานกรรมการสถาบัน IACA ไว้ในชั้นหนึ่งแล้วว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีและจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถลงนามในความตกลงฯ ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน IACA ต่อมา กต. ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า เห็นชอบในหลักการในการเข้ามาภาคีความตกลงฯ และมีความเห็นและข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้ ความตกลงฯ ถือเป็น “หนังสือสัญญา” ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนลงนาม และเนื่องจากสถาบัน IACA เป็นองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์ (full international legal personality) และมีความสามรถทางกฎหมาย (legal capacity) ในการทำสัญญา การได้มาและการจำหน่ายออกไปทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ การยื่นฟ้องคดีและการต่อสู้คดีในกระบวนการทางกฎหมายและการดำเนินการอื่น ๆ ที่อาจจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และกิจกรรมของสถาบัน IACA ที่จะเข้ามาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยหรือทำสัญญาต่าง ๆ กับรัฐบาลไทยในอนาคต
โดยอาจต้องออกกฎเพื่อรองรับการทำงานของสถาบัน IACA และการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่สถาบัน IACA และสมาชิก แต่ในรายละเอียดในของความตกลงกำหนดให้เพียง สาธารณรัฐออสเตรียเท่านั้นที่ต้องให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่สถาบัน IACA และสมาชิก โดยสถาบัน IACA อาจทำความตกลงฯ กับรัฐอื่น ๆ เพื่อให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามความเหมาะสม
ดังนั้น ตราบใดที่สถาบัน IACA ยังไม่ทำความตกลงฯ กับประเทศไทยก็ยังไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินงานของสถาบัน IACA ความตกลงฯ จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนการดำเนินการให้เป็นผลผูกพัน นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบความตกลงฯ ก่อนที่จะลงนาม และขออนุมัติให้ กต. จัดทำภาคยานุวัติสาร (Instrument of Accession) เพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงฯ และต้องให้ความเห็นประกอบพิจารณาด้วย
...