กก.วุฒิสภา ตะเพิดจนท.ไอซีทีแจงไม่เคลียร์ไล่ปิดเว็ปไซต์ออนไลน์ จี้ ประชุมครั้งหน้ารมต.ไอซีที-ผู้เกี่ยวข้องควรมาเอง...
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน เพื่อพิจารณารับฟังข้อเท็จจริงในนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ในการกำกับ ติดตาม ควบคุมการดำเนินกิจการสื่อออนไลน์หรือเว็บไซต์ ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือน มี.ค.-พ.ค.2553 และหลังเหตุการณ์การชุมนุม โดยไอซีทีมอบหมายให้นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และดร.สุนทรีย์ ธนารักษ์ศิริถาวร นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ มาชี้แจงแทน โดยนายจิตติพจน์ซักถามว่า ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. มีการปิดสื่อออนไลน์ และมีการเซ็นเซอร์จำนวนมาก บางส่วนถูกปิดด้วยอำนาจ พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มีรายละเอียดอย่างไร ปิดโดยอำนาจของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จำนวนเท่าไหร่ ปิดโดยอาศัยอำนาจตามมาตราใด กฎหมายใด
นายวินัย ชี้แจงว่า ช่วงการชุมนุมทางสำนักกำกับฯมีภารกิจต้องเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ต่างๆ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการปิดสื่อโดยใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอาศัยการรวมอำนาจจาก พ.ร.บ.หลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีหน่วยงานคอนสกรีนเว็บไซต์ เมื่อได้เว็บไซต์ ที่ทำผิดก็รวบรวมนำเข้าสู่การพิจารณาของศาล เพื่อปิดกั้นการเผยแพร่ ซึ่งมีจำนวนมาก แม้ในปัจจุบัน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ยกเลิกไปแล้ว แต่เท่าที่ตรวจสอบยังมีการปิดกั้นอยู่ ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็ได้พิจาณาเรื่องนี้ แต่กระทรวงฯไม่มีอำนาจในการเปิดให้เผยแพร่ เนื่องจากเป็นอำนาจ ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ปิดกั้น
ดังนั้นเท่าที่ทราบถ้าต้องการให้เปิดเว็บที่ถูกปิด ต้องมีผู้ร้องขอต่อศาลให้ทำการเปิด ในส่วนที่ไอซีทีสั่งปิดจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การเอาผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 20 กรณีทำผิดในลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น เรื่องการเผยแพร่คลิป การตัดต่อคลิป ที่เห็นชัดว่ามันมีการขัดต่อศีลธรรมอันดี เรื่องภาพโป๊ลามก รวมถึงการโพสต์ข้อความรุนแรง ซึ่งไอซีทีเคยปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ว่าข้อความไหนเข้าข่ายหมิ่นเหม่สถาบัน ซึ่งประเภทนี้ต้องเน้นมาก ไอซีทีจะไม่ปิดโดยไม่มีเหตุผล แต่ในส่วนของการเมืองไอซีทีจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยสถิติของการปิดในเดือน มี.ค.- เม.ย. มี 9,000 ยูอาร์เอล รวมทุกเว็บไซต์ที่ทำผิด โดยในเดือนเม.ย.- พ.ค. แทบไม่ได้ปิดเว็บไซต์เลย
ส่วนการปิดเว็บไซต์โดยใช้อำนาจพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตนไม่มีข้อมูล แต่ส่วนหนึ่งปิดกั้นโดยใช้อำนาจศอฉ. และอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเข้ามาเป็นทีมงานตรวจสอบ ไม่ได้ใช้เครื่องมือจากไอซีทีโดยตรง โดยความผิดที่เกิดขึ้นทางศอฉ. ได้นำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปิด
ทั้งนี้มีรายงานว่า กรรมการฯหลายคน อาทิ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรหา ในฐานะรองประธานฯ ได้ถามย้ำว่าทาง ศอฉ. มีการร้องขอให้ปิดเว็บไซต์กี่ครั้ง แล้วทางกระทรวงทำตามหรือไม่ ใครเป็นผู้พิจารณา ใช้หลักเกณฑ์อะไร และปิดโดยคำสั่งศาลหรือคำสั่งของ ศอฉ.เอง ซึ่งนายวินัย กล่าวว่า ข้อมูลส่วนนี้ในวันนี้คงไม่ได้รายละเอียดมาก ตนจะส่งข้อมูลให้ทีหลัง เนื่องจากงานด้านนี้อยู่ในความรับผิดชอบของอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นทีมงานที่รับทราบการขอมาจาก ศอฉ. ให้มีการปิดเว็บไซต์
ทำให้นายจิตติพจน์ กล่าวสวนทันทีด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า เอาเป็นว่าในการประชุมครั้งหน้า ตนจะเชิญ รมว.ไอซีที รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง เพื่อจะได้รับรู้ข้อเท็จจริงมากกว่านี้ เพราะจากเอกสารที่ตนได้รับมีเว็บไซต์จำนวนมากถูกสั่งปิดโดยคำสั่ง ศอฉ. โดยไม่ได้ร้องขอคำสั่งจากศาล ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลาของทั้ง 2 ฝ่าย เราจะไม่ประชุมเรื่องนี้ต่อ แม้นายวินัย จะกรุณามาแล้ว แต่นายวินัย ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง ข้อมูลบางอย่างยังมีคลาดเคลื่อนจากความจริง ดังนั้นขอให้การมาประชุมในครั้งหน้า นำข้อมูลที่เป็นเอกสารคำสั่งจากศอฉ.มาให้ด้วย
...