"มาร์ค"ส่อทยอยเลิก พ.ร.ก.ใต้ ทหารค้านเลิก 5 อำเภอเหตุยังไม่วางใจ ด้าน “ประยุทธ์”วางยุทธศาสตร์แก้ใต้ เน้นทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย-ศาสนา ลดปัญหาแทรกซ้อน...

มีรายงานจากกองบัญชาการกองทัพบก ว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) มีแนวคิดที่จะทยอยเลิกการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่ใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อเสนอขององค์กรเอกชน และ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะให้กอ.รมน.พิจารณาว่า สมควรจะยกเลิกในอำเภอใดก่อน

ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงมหาดไทยได้เสนอไว้ คือ ให้ยกเลิกทั้งหมด 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา อ.สุคิริน อ.แว้ง จ.นราธิวาส และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ทั้งนี้ ในการพิจารณาการเลิกประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในบางอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทางนายอภิสิทธิ์ จะมีการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ถึงสถานการณ์ด้านการข่าวและความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบว่าใน 5 อำเภอตามข้อมูลของนายถาวรมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนซึ่งจากข้อมูลของ กอ.รมน.ภาค 4 พบว่า สถานการณ์ใน 5 อำเภอดังกล่าวยังไม่น่าไว้วางใจนัก แต่ในอำเภอที่มีการเคลื่อนไหวน้อยลงคือ อ.กาบัง และ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งหากรัฐบาลจะยกเลิกคงน่าจะเป็น 1 -2 อำเภอ ในจ. ยะลา และ หากตัดสินใจยกเลิกก็มีแนวโน้มที่จะประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงฯ แทนเช่นเดียวกับ 5 อำเภอใน จ.สงขลา

โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้มอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกว่า ยังยึดมั่นในนโยบายของผู้บังคับบัญชาทุกท่านที่ผ่านมา โดยยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักในการทำงาน ยึดมั่นแนวทาง “ใช้การเมือง นำการทหาร” เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนทุกคนมีความเข้าใจการดำเนินการของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา และช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังการก่อเหตุนอกจากนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์รองเพิ่มเติมใน 6 เรื่อง คือ 1. การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ - หลักศาสนา ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้ง กลุ่มผู้นำทางศาสนา นักวิชาการ, ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผู้ที่หลงผิดเป็นแนวร่วมของผู้ก่อเหตุรุนแรง 2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ประชาชนในพื้นที่มีการศึกษาที่ดี มีงานทำ มีรายได้พอเพียง 3.การป้องกันและแก้ไขปัญหาแทรกซ้อนในพื้นที่ ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้มีอิทธิพล ปัญหาการลักลอบสินค้าหนีภาษี เพื่อให้ประชาชนเคารพและอยู่ในกรอบของกฎหมาย 4.การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม โดยปลูกฝังอุดมการณ์ความคิดกับทุกภาคส่วนให้เคารพในสิทธิมนุษยชน เน้นการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย 5.การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ประชาชนสามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างเป็นปกติ และ 6.การมีส่วนร่วม โดยมุ่งเน้นการบูรณาการทรัพยากรทั้งบุคคล เครื่องมือ งบประมาณ และแผนงานโครงการของทุกภาคส่วนมาร่วมแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดย ผบ.ทบ.ย้ำถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่า จะต้องไม่มีการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องเคารพถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก และเพื่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงกำหนดให้มีการประเมินผลการทำงานของทุกหน่วยงานในวงรอบ 3 เดือน โดยกำหนดตัวชี้วัดหรือเงื่อนไข เช่น การลดลงของเหตุระเบิด ความเป็นปกติของการดำรงชีวิตของประชาชน เป็นต้น

...