จาก 19 กันยายน 2549  ถึง19 กันยายน 2553 รวมระยะเวลาเกือบ 4 ปี ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่รอนแรมอยู่ในต่างประเทศอันเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติ เรามาฟังคำต่อคำของอดีตนายกรัฐมนตรี ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกันดีกว่า...

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยรัฐออนไลน์ ตอบคำถามถึงพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทย หลังการปฏิวัติ 19 กันยายน2549ที่ผ่านมาเกือบ4 ปีว่า

การเมืองไทยยังคงวนเวียนอยู่กับระบบเผด็จการที่ฝังรากลึก จนยากเกินหยั่งถึง  ผมเคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่า เมื่อเผด็จการมายุ่งเกี่ยวกับระบบประชาธิปไตยแล้ว  โอกาสที่จะถอนตัวออกไปเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ 4 ปีมาแล้วระบบเผด็จการจึงยังคงอยู่คู่กับระบบประชาธิปไตยไทย ซ้ำร้ายนักการเมืองไทยบางจำพวก ยังดูถูกประชาชนด้วยการขายตัวให้กับเผด็จการเพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดและอยู่ในอำนาจต่อไป รวมทั้งยังมีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร จนแทบจะกลายวัฒนธรรมของสังคมไทยในปัจจุบันไปแล้ว และที่มักจะดูถูกประชาชนว่าซื้อได้นั้น ในปัจจุบันก็เห็นกันแล้วว่านักการเมืองบางคนซื้อได้ง่ายกว่าอีก

...

จะมีโอกาสที่ประเทศไทยสามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้หรือไม่จากสภาวการณ์ในปัจจุบัน

ผมคิดว่ามีโอกาสแน่ แต่คงต้องใช้เวลานิดนึงในช่วงนี้  เนื่องจากมีนักการเมืองขายวิญญาณประชาธิปไตยให้กับเผด็จการและหวังจะที่ให้เผด็จการช่วยให้สามารถมีอำนาจได้ต่อไปนาน ๆ ซึ่งอันนี้น่ากลัว

อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความร่วมมือกันสองฝ่ายคือประชาชนต้องใช้พลังของตัวเองในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เลือกประชาธิปไตยจริง และนักการเมืองจะต้องเลิกขายจิตวิญญาณของตัวเองและอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง

การเลือกตั้งหากเกิดขึ้นในปัจจุบัน จะใช่คำตอบของประชาธิปไตยไทยหลัง 19 ก.ย.2549หรือไม่

ผมคิดว่า แม้จะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่มันก็เป็นการให้โอกาสประชาชนชี้ชะตาอนาคตของเค้า เท่าที่พึงจะสามารถกระทำได้ เพราะกติกาที่รองรับในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย กติกาต้องแก้ไข แต่ทีนี้ต้องให้ประชาชนเริ่มต้นด้วยการเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองที่เน้นเรื่องของประชาธิปไตยมาแก้ไขกติกาใหม่ เพื่อในอนาคตระบบประชาธิปไตยไทยจะได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เพราะวันนี้เปรียบไปก็เหมือนลิงไต่เสาน้ำมัน ตามความรู้สึกตอนที่เราเรียนคณิตศาสตร์ ไต่ขึ้นไป 3 รูดลงมา 2 มันยังเหลืออีก 1 แต่ในเที่ยวนี้ เราไต่ขึ้นไปถึง 5 ถึง 7 แล้ว แต่มันรูดลงที่ 8 หรือ 9 มันติดลบ

เพราะฉะนั้นจึงเป็นอะไรที่จะต้องช่วยกันทั้งภาคประชาชนและนักการเมือง เพราะจะไปอาศัยคนอื่นก็คงจะไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนซึ่งแต่เดิมเคยเรียกร้องประชาธิปไตยเคยพูดถึงเรื่องปิดหูปิดตาปิดปาก  แต่วันนี้สื่อมวลชนหลายพวกเป็นสื่อมวลชนที่กระโดดเข้าหาผลประโยชน์มากกว่าอุดมการณ์ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย มาวันนี้ได้ทำประชาธิปไตยเพื่อตัวเองมากกว่าเพื่อสังคมไปเยอะ โดยแม้ส่วนใหญ่ยังดีอยู่แต่ที่เสียไปก็เยอะมาก

มองว่านักการเมืองไทยในปัจจุบันพัฒนาขึ้นหรือเลวร้ายลงหลังการปฏิวัติ 19 กันยายน2549

ผมว่าไม่ดีขึ้น ไม่ดีขึ้นจริง เพราะส่วนหนึ่งขายจิตวิญญาณไปให้ผลประโยชน์และอำนาจและก็มีความอยากเอาตัวรอดมากกว่าที่จะรักอุดมการณ์ ซึ่งเราต้องเรียกร้องว่า นักการเมืองควรจะเห็นแก่อุดมการณ์มากกว่าอำนาจ เพราะปัจจุบันแม้กระทั่งนักการเมืองฝ่ายค้านบางคนก็ยังขายจิตวิญญาณ หวังแต่งบประมาณ หวังอะไรต่ออะไรจนอันนี้เป็นเรื่องที่บางคนยอมหน้าด้านกับกติกา โดยไม่คำนึงถึงสังคมและไม่อายใคร เอาเงินไว้ก่อนอย่างนี้ก็มี

พรรคเพื่อไทยจะสามารถลงสู้ศึกเลือกตั้งที่อาจจะมาถึงในเร็วๆ นี้ ได้หรือไม่

ไหวไม่ไหวไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่อยู่ที่ประชาชนยังอยากจะสู้ต่อหรือเปล่า หรือยังอยากที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ ยังอยากจะได้พรรคการเมืองที่ทุ่มเทเพื่อประชาชนอยู่หรือเปล่า

มองว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง มีมากน้อยเพียงใด

หากเป็นในเร็วๆ นี้ ผมไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะกล้ายุบสภาหรือเปล่า เพราะเค้ารู้ดีว่ายุบก็แพ้ ผมมั่นใจว่าประชาชนยังอยากเห็นรัฐบาลที่ทำเพื่อประชาชน รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ยังอยากเห็นกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ยังไม่อยากเห็นนักการเมืองตั้งรัฐบาลผสมในค่ายทหาร เค้าคงไม่อยากเห็นแบบนั้น เรายังอยากให้การเมืองเป็นเรื่องของการเมือง

หากพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ยังเป็นห่วงเรื่องการปฏิวัติอยู่หรือไม่

ก็คง..ในเมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ แล้วสังคมก็รู้แล้วว่าการกระทำที่ผ่านมาเป็นการกระทำสองมาตรฐานโดยไม่มียางอาย ถ้าจะทำอีกเราก็ต้องถือว่าประชาชนเค้าก็จะยืนยันของเค้าอีก จะทำอีกก็ไม่เป็นไรก็ให้ประชาชนยืนยันออกมาเรื่อย ๆ ผลสุดท้ายระบบความยุติธรรม ระบบขององค์กรอิสระก็จะเป็นปฏิปักษ์ หากขืนยังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญระบบทุกอย่างต้องรองรับเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่ระบบเพื่อใบสั่ง

ถ้าพรรคเพื่อไทย  ได้รับชัยชนะ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่

ผม.. ผมไม่ได้สนใจเรื่องเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ ตราบใดที่ประเทศไทยมีความยุติธรรม เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าก็เป็นประเทศที่น่าอยู่ และผมเองก็เป็นคนที่รักชาติรักบ้านเมืองก็อยากกลับไปอยู่ แต่เมื่อกลับไปแล้วก็ไม่เห็นจำเป็นว่าจะต้องเป็นอะไรอีก อย่างไรก็ดีต้องยอมรับก่อนว่า วันนี้ผมเองเป็นหนี้บุญคุณประชาชนเยอะ  ผมต้องคิดว่าจะทำอะไรจึงจะรับใช้เค้าได้ เพราะว่าเค้ามีน้ำใจต่อผม มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะฉะนั้น ผมจึงต้องถือว่าผมเป็นหนี้บุญคุณเค้าเยอะ ก็แล้วแต่ว่า... มันคงให้เป็นเรื่องของประชาชนฝ่ายสนับสนุนที่จะทำให้ผมได้รับใช้ประชาชนหรือไม่ อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือจากอำนาจของประชาชน อันนี้ผมก็สุดแล้วแต่ คือ... ถามว่าผมอยากเป็นอะไรไหม เวลานี้ผมก็มีความสุขดี ไม่อยากเป็นอะไร ถ้าหากว่า เป็นสิ่งที่ผมต้องตอบแทนบุญคุณประชาชน หรือว่าได้รับอนุญาตให้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยหรือประชาชนผมก็ทำได้ แต่หากไม่จำเป็นก็ขออนุญาตอยู่อย่างนี้ดีกว่า

จะมีข้อเสนอแนะอย่างไรเพื่อนำมาปรับปรุงให้กติกาของระบบประชาธิปไตยกลับมาสู่ความถูกต้อง

คือวันนี้ ต้องสร้างความปรองดองแห่งชาตินั่นแหล่ะคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และที่สำคัญวันนี้คนไทยต้องหันหน้าเข้าหากันและเลิกชี้นิ้วใส่กันและมองไปข้างหน้าด้วยกันดีกว่า เพราะถ้าหากเรายังชี้นิ้วใส่กันมันไม่จบหรอกและไม่มีใครยอมใคร มันต้องหันหน้าเข้าหากัน กอดคอกันไปข้างหน้าเพื่ออนาคตของประเทศไทยและลูกหลานเราดีกว่า แล้วก็ ... มาตกลงกันว่ากติกาอะไรที่มันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะว่าคนที่อยู่ในวงการการเมือง ไม่มีใครอยู่จีรังยั่งยืนหรอก ไม่กี่วันก็ต้องล่วงลับลากันไป เปลี่ยนลูกเปลี่ยนหลานกันไปแต่กติกาจะต้องอยู่  ทำไมฟุตบอลอังกฤษถึงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะกติกาไม่เปลี่ยน  เค้ารักษากติกาที่เป็นกลาง กรรมการก็เป็นกลาง  เวลาแข่งคนดูก็ไม่ต้องตีกัน หากกรรมการไม่เป็นกลาง ก็เท่ากับยั่วยุให้คนดูมาตีกัน

คณะกรรมการสมานฉันท์ที่รัฐบาลตั้งขึ้น จะนำไปสู่สิ่งที่พูดถึงข้างต้นได้หรือไม่

ผมว่าทุกอย่างมีความเป็นไปได้ อยู่ที่ว่าคนที่วันนี้อยากเห็นอย่างไร ถ้ายังมองว่าผมไม่จงรักภักดีอยู่ มันก็เห็นไม่ได้  มันยาก แต่ถ้ามองว่าที่ผ่านมาผมทำงาน ผมไม่มีอะไรที่แสดงว่าไม่จงรักภักดีเลย มีแต่ใส่ความข้างเดียวและเสียเวลากับการกล่าวหาผมว่าไม่จงรักภักดี จนบ้านเมืองเละเทะหมดเนี่ย ถามว่ามันคุ้มไหม จับหนูตัวเดียวเผาบ้านทั้งหลังเนี่ย เวลานี้หนูไม่อยู่ในบ้านแล้วยังไม่เลิกเผาบ้าน

มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะเปิดการเจรจากับบุคคลระดับสูงในรัฐบาล  คิดว่าจะเจรจากับผู้ใดจึงจะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้

อึม...ผมพูดกับคนได้ทุกคนยกเว้น เสือ สิงห์ กระทิง แรด เพราะผมพูดภาษาเสือ สิงห์ กระทิง แรด ไม่เป็น พูดแต่ภาษามนุษย์ธรรมดา และผมเองก็ไม่ได้ต้องการอะไรเลย นอกจากเห็นบ้านเมืองมีสันติสุข และความปรองดอง

หากเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เปิดเจรจาเอง จะมีความเป็นไปได้หรือไม่

ก็เรียนไง ผมคุยได้กับทุกคน ถ้าทุกคนคิดว่าผมเป็นคนไทย และเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน เคยทำงานให้บ้านเมืองมา ก็ต้องย่อมมีความรักชาติ รักประชาชน และสถาบัน ซึ่งหากคิดมองผมในมุมนี้ คุยกับผมได้ทุกคน

มุมมองที่มีต่อบทบาทของทหารหลังเหตุการณ์ 19 กันยายนต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน

(เซ็นเซอร์)

มองว่าปัญหาการเมืองจะทำให้ประเทศชาติต้องสะดุดการพัฒนาไปอีกนานเพียงใด

ผมว่าวันนี้ เราต้องเลิกคิด ... วันนี้ หลายคนไม่ได้มองรอบตัวเอง เพราะมองแต่ตัวเองมากไป คืออย่าไปคิดว่าประเทศไทยเราจะอยู่คนเดียว วันนี้เราเชื่อมโยงกับโลกไปมาก  หลายประเทศเค้าก็หวังจะติดต่อกับประเทศไทย เราต้องเลิกระแวงซึ่งกันและกันได้แล้ว ต้องหันกลับไปดูกติกาที่มันเป็นธรรม กรรมการต้องถูกควบคุมด้วยระบบไม่ใช่ถูกสั่งด้วยคน

เปิดใจเบื้องหลังการถูกปฏิวัติ 19 ก.ย. 2549

ในช่วงก่อนหน้าวันที่ 19 ก.ย. เคยทราบว่าก่อนหรือไม่ว่าทหารจะปฏิวัติ

ผม....ก็ทราบว่ามีความไม่พอใจ มีความพยายาม แต่ไม่ทราบละเอียดก่อนหน้านั้น เพราะว่าหน่วยข่าวกรองของผมมันแย่ ทำงานด้านการข่าวแย่มาก อีกทั้งผมอยู่เมืองนอกนานไปหน่อย เพราะหากผมอยู่ที่เมืองไทย ในช่วงนั้นคงไม่มีการปฏิวัติ แต่ผมมั่นใจว่าการลอบฆ่า ผมก็ยังจะคงเกิดขึ้นต่อไป

หากย้อนเวลาได้ จะแต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. เป็น ผบ.ทบ หรือ แต่งตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นแม่ทัพภาค 1 หรือไม่

คือประเทศไทยนะครับ ผมเคยพูดตลอดเวลาว่า (เซ็นเซอร์)

ขณะที่ผิดหวังกับบทบาทของทั้งคู่หรือไม่   ภายหลังร่วมกันปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 ก.ย.

ผม .... มัน ...ผมเฉย ๆ ครับ เพราะว่ามนุษย์ เนี่ยยากแท้หยั่งถึง เพราะแม้กระทั่งคนในพรรคของผมเอง บางคน ไม่มีอะไรเลย ผมให้โอกาสเค้าจนเติบโตขึ้นมา เค้ายังหักผมได้เลย บางทีคนเราบางทีก็มีสิทธิ์หลงได้ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา

รู้สึกผิดหวังกับบุคคลใดที่เคยทำงานอยู่ร่วมกัน แต่สุดท้ายแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามหลัง 19 ก.ย. โดยเฉพาะนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่ในอดีตถือเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดมากคนหนึ่ง

ผม.. เฉย ๆ ครับ ไม่ได้รู้สึกผิดหวังอะไร  ก็มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว มันเป็นเรื่องของ ...แต่ละบุคคลทุกคนมีสิทธิ์เลือกครับ ทุกคนสามารถเลือกชีวิตของตัวเองได้ ไม่มีปัญหา ผมเองก็คงไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตใครได้ ใครอยากจะอยู่ก็อยู่ ใครอยากจะไปก็ไป แต่ที่แน่ ๆ ก็คือว่าวันนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรากำลังอาสาประชาชนมาทำงาน เราก็คิดว่าเราต้องให้ประชาชนทำให้บ้านเมือง แต่ว่าจะทำแบบไหน แล้วก็ทุกคนก็ต้องมีวัฒนธรรม อริยธรรม จริยธรรม ที่จะต้องคำนึงว่า จะทำอะไรแล้วจะเกิดความละอายหรือไม่ละอาย หิริโอตัปปะ ของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน


จะร่วมงานกับ นายเนวิน ชิดชอบ อีกครั้งได้หรือไม่

ผม.... ไม่พูด ครับ เพราะผมไม่ได้เป็นนักการเมืองแล้ว ตอนนี้ เพราะผมเป็นคนตกงาน กำลังหางานให้ตัวเองทำอยู่

เคยวิตกกังวลกับบุคคลฝ่ายตรงข้าม ที่สุดท้ายกลับมาร่วมกันต่อสู้ในนามกลุ่มเสื้อแดงว่าจะเป็นไส้ศึกทางการเมืองหรือไม่

อันนี้..ก็เป็นเรื่องของแกนนำเสื้อแดง ผมไม่รู้เค้า ผมไม่เคยไปยุ่งกับเค้าในเรื่องรายละเอียดใด ๆ เลย มีอะไรก็จะคุยกันเฉพาะอุดมการณ์ทางการเมืองมากกว่าในรายละเอียดไม่เคยไปยุ่ง  ปล่อยเค้า...

สามารถรับฟังเสียงสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้ง 2 ตอนเต็มๆ ได้ที่ โทร *7172113 ค่าบริการนาทีละ 3 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) สำหรับลูกค้าเครือข่ายดีแทค