รอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอันต้องถูกโจมตีแบบ "สาดเสียเทเสีย"จากภายนอกประเทศนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งในจำนวนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายที่ถาโถมเข้ามานั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เสียงที่ดูจะทำให้รัฐบาลต้องเจ็บๆ แสบๆ คันๆ มากที่สุดเสียงหนึ่งคงหนีไม่พ้นถ้อยแถลงที่หลุดออกมาจากปากของ "รอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" ทนายความชื่อดังสัญชาติแคนาดา วัย 54 ปี เจ้าของสำนักงานกฎหมายระดับโลก "อัมสเตอร์ดัม แอนด์ พีร็อฟฟ์"ซึ่งได้ออกโรงโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างรุนแรงว่า"ไร้ความน่าเชื่อถือ"จากกรณีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตั้งกรรมการอิสระสอบสวนเหตุรุนแรงทางการเมืองในประเทศช่วงที่ผ่านมาและประเด็นที่ถือเป็นการ"ตบหน้ารัฐบาลไทยแบบฉาดใหญ่" คือการที่นักกฎหมายชื่อดังรายนี้ระบุว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้วนอกจากจะต้องยอมเปิดทางให้ "หน่วยงานตรวจสอบจากนานาชาติ"เข้ามาสอบสวนเหตุการณ์นองเลือดที่ขึ้นกลางกรุงเทพฯ เพียงสถานเดียวเท่านั้น..
ในถ้อยแถลงของอัมสเตอร์ดัมที่มีการนำออกมาเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ส่วนตัว ยังมีการกล่าวโจมตีรัฐบาลไทยด้วยถ้อยคำที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการ"ตราหน้า"ว่า รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ นั้น ปราศจากความเหมาะสมทุกประการในอันที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น "ตัวตั้งตัวตี" ในการสอบสวนเหตุการณ์สังหารกลุ่มผู้ประท้วงทางการเมืองในกรุงเทพฯที่ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 90 รายในช่วงที่ผ่านมา
โดยอัมสเตอร์ดัม ซึ่งได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า จะขอทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ยังชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่สมควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบสวนอิสระดังกล่าวแม้แต่เพียงนิดเดียวเสียด้วยซ้ำ เพราะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ของไทยได้จัดประเภทให้กลุ่มคนเสื้อแดงมีสถานะเป็น "ผู้ก่อการร้าย" มาโดยตลอด และจนถึงขณะนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ยังคงควบคุมตัวกลุ่มผู้ประท้วงทางการเมืองเอาไว้มากกว่า 400 คน โดยยังไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหา และยังไม่มีการพิจารณาคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย
ซึ่งการกระทำของรัฐบาลไทยเช่นนี้กำลังสร้างความกังวลใจให้กับประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น อัมสเตอร์ดัมซึ่งมีกิตติศัพท์อันโด่งดังไปทั่วโลกว่าหากเขาตัดสินใจรับว่าความให้กับลูกค้ารายใดแล้ว ลูกค้ารายนั้นแทบ " ไม่เคยแพ้คดี " ยังออกโรงสับคณะกรรมการอิสระที่ทางการไทยเป็นผู้ตั้งขึ้นเพื่อให้เข้ามาสอบสวนเหตุรุนแรงทางการเมืองในกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.ว่าเป็นคณะกรรมการที่มี "คุณสมบัติพิเศษ 3 ประการ" อันประกอบไปด้วย การขาดความชอบธรรม, ไม่มีความเป็นกลาง, และไร้อิสระในการทำหน้าที่
ในเว็บไซต์ของอัมสเตอร์ดัมยังมีการเผยแพร่ความเห็นจาก "Human Rights Watch" องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกซึ่งมีฐานอยู่ที่มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ที่ออกมาระบุว่า แม้ท่าทีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ดูเหมือนจะมีภาพของความพยายามให้เกิดความปรองดอง ด้วยการเสนอแผนสมานฉันท์ 5 ประการ แต่ลึกๆแล้วดูเหมือนนายกรัฐมนตรีของไทยจะยังคงต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าต่อไปเสียมากกว่า สังเกตได้จากการตัดสินใจประกาศแต่งตั้ง "คณิต ณ นคร" ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น
โดยทางฮิวแมน ไรต์ส ว็อตช์ระบุว่า " การไต่สวนแบบข้างเดียว" ที่มีลักษณะของการ "ตั้งเอง ชงเรื่องเอง ตัดสินเอง"ของทางการไทยเช่นที่ว่านี้กำลังจะกลายเป็นตัวทำลายความพยายามของทุกฝ่ายที่กำลังมองหาทางออกให้กับปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยที่ยืดเยื้อมานานหลายปี นอกเหนือไปจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก รอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมและฮิวแมน ไรต์ส ว็อตช์แล้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีการนำเสนอความเห็นของ"ชอว์น ดับเบิลยู.คริสพิน"บรรณาธิการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ"Asia Times" ที่ออกมาระบุว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "ยุคใหม่ของเผด็จการทหาร"
เนื่องจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ต้องยอมมอบ"อำนาจพิเศษที่มากล้นเกินกว่าปกติ" ให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศซึ่งก็คือ "ทหาร"ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจับกุมคุมขังผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้โดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดี รวมถึง ยังปล่อยให้ทหารเข้าไปมีบทบาทในการเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวของสื่อ และห้ามการชุมนุมทางการเมืองอีกด้วย จนทำให้ในขณะนี้มีหลายคนหลายฝ่ายหลงเข้าใจผิดไปแล้วว่า "ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน" หรือ ศอฉ.ดูจะมีบทบาทมากขึ้นทุกขณะจนอาจเปรียบได้กับการเป็น " รัฐบาลเงา" ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้าไปทุกทีแล้วในขณะนี้
ขณะเดียวกัน โจชัว เคอร์แลนซิคต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของภูมิภาคเอเชียได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ล่าสุดของตัวเขาเองเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยลงใน "นิวสวีค" นิตยสารวิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์สัญชาติอเมริกัน โดยมีเนื้อหาที่ระบุว่า "ชื่อเสียงอันดีงาม" ของประเทศไทยในเรื่องของความมีน้ำใจของผู้คน ความรักสงบ และเอกลักษณ์ในเรื่องของการเป็น "สยามเมืองยิ้ม" กำลังจะถึงกาลอวสานเสียแล้ว อันเป็นผลพวงมาจากการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการที่รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ประกาศว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากในรูปของขบวนการใต้ดินเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ
เคอร์แลนซิคต์ชี้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทยตอนนี้คล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือตลอดหลายสิบปีที่มา โดยเตือนรัฐบาลไทยต้องแก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ต้องเข้าใจ และยอมรับความจริงด้วยว่าความผิดพลาดของนโยบายการบริหารประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมามีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดความแตกแยกและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน บทวิเคราะห์ของเคอร์แลนซิคต์ยังระบุด้วยว่ารัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมาไม่เคยมีนโยบายที่จะพัฒนาและปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศอย่างจริงจังอันมีผลทำให้คนไทยขาดโอกาสในการพัฒนาความคิดและศักยภาพของตนเอง
ซึ่งการละเลยของรัฐบาลไทยที่ว่านี้ ไม่แตกต่างอะไรกับการเต็มใจเฝ้าดูพลเมืองของตนมีคุณภาพ"ด้อยลงเรื่อยๆ"อันจะเห็นได้จากกรณีของการวัดระดับความรู้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทยโดยเฉลี่ยที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ "เกือบรั้งท้าย"ของเอเชียมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้บุคลากรของไทยไม่สามารถก้าวเข้าสู่การแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ และทำให้สถานะของไทยที่เคยประกาศตัวว่าจะเป็น"พี่ใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" กำลังเสื่อมถอยอย่างร้ายแรง จนประเทศไทยแทบไม่มี "ที่อยู่ที่ยืน" ในประชาคมระหว่างประเทศอีกต่อไปแล้ว
เช่นเดียวกับนโยบายด้านอุตสาหกรรมของรัฐบาลไทยที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญแต่เฉพาะการทำให้ไทยกลายเป็นฐานสำหรับรองรับการผลิตสินค้านานาชนิดให้กับต่างชาติเพียงอย่างเดียว โดยไม่เคยให้ความสำคัญกับการพัฒนา " นวัตกรรมของตัวเอง"รวมถึง การโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของทางการไทยที่มุ่งเน้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเป็นจำนวนมากๆ แบบ"เน้นปริมาณ"เพียงอย่างเดียวโดยยังไม่มีแนวทางปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
มิหนำซ้ำหลายโครงการของภาครัฐยังเป็นตัวการทำลายสภาพแวดล้อมและความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเสียเอง เช่น โครงการตัดถนนผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งที่อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทยแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น " มรดกแห่งอาเซียน " มาตั้งแต่ปี 1984 และยังได้รับการคัดเลือกเป็น "แหล่งมรดกโลก" โดยองค์การยูเนสโกตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2005 หรือแม้แต่กรณีการอนุญาตให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามา "ปู้ยี่ปู้ยำ" สภาพแวดล้อมของไทยจนเสียหายยับเยิน เช่น กรณีภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งที่เข้ามาถ่ายทำกันบนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
คำถามจึงอยู่ที่ว่าในขณะนี้มันเกิดอะไรกับสังคมไทยกันแน่ ทำไมคนไทยถึงปล่อยให้ประเทศชาติอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองต้องประสบกับภาวะ"ถอยหลังเข้าคลอง" ในแทบทุกเรื่อง ไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่องการเมือง และมันถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศจะช่วยกันหยุดยั้งและกำจัดสิ่งเลวร้ายและความเสื่อมถอยต่างๆ เพื่อช่วยกันนำพาประเทศไทยของเราให้สามารถเริ่มออกก้าวเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้งเสียที
...