รักษาการประธานาธิบดีแห่งยูเครน สั่งให้กองทัพเตรียมความพร้อมเต็มรูปแบบ หลังจากรัฐสภารัสเซียอนุมัติเรื่องการส่งทหารเข้าไปในยูเครน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ...
สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ว่า กองทัพของประเทศรัสเซียเข้าควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ในคาบสมุทร 'ไครเมีย' ของประเทศยูเครนเอาไว้แล้วเมื่อวันเสาร์ โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง หลังมีข่าวว่ารัสเซียส่งทหารหลายพันคนเข้าไปในเมืองซิมเฟอโรปัล ในพื้นที่ดังกล่าว แม้ประธานาธิบดี บารัค โอบามา จะออกมาเรียกร้องต่อรัสเซียให้ถอนทหารออกจากยูเครน ขณะที่รัฐบาลใหม่ในกรุงเคียฟไร้กำลังที่จะมีมาตรการตอบโต้ใดๆ
เมื่อวันเสาร์ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาอย่างรวดเร็ว เรื่องการใช้กำลังทหารเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของรัสเซียในยูเครน และในวันเดียวกันชาวยูเครนฝ่ายสนับสนุนรัสเซียในหลายภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครน เช่น คาร์คีฟ, โดเนตสค์ และลูฮานสค์ ออกมารวมตัวประท้วงรัฐบาลใหม่ในกรุงเคียฟซึ่งเป็นฝ่ายฝักฝ่ายสหภาพยุโรป (อียู) และปะทะกับผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามจนมีผู้บาดเจ็บ 97 คน
...
ความตึงเครียดของสถานการณ์เริ่มเพิ่มสูงขึ้น หลังจากนายโอเลกซานเดอร์ ตูร์ชีนอฟ รักษาการประธานาธิบดีแห่งยูเครน ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อคืนวันเสาร์ ว่าเขาได้ออกคำสั่งให้กองทัพเตรียมความพร้อมเต็มรูปแบบ เพราะมีภัยคุกคามจากการบุกรุกที่อาจเกิดขึ้นได้ และสั่งให้ยกระดับความปลอดภัยของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์, สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ ด้วย
หลังจากรัฐสภารัสเซียอนุมัติคำร้องของปูติน สหรัฐฯ ก็จัดการประชุมฉุกเฉินที่ทำเนียบขาวทันที เพื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวของกองทัพรัสเซียในยูเครน โดยโฆษกทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีโอบามาได้ต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินโดยตรงเป็นเวลา 90 นาที และแสดงความรู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนอย่างชัดเจนโดยรัสเซีย
โอบามายังเรียกร้องรัสเซียให้ลดความตึงเครียดโดยการถอนทหารออกจากสาธารณรัฐปกครองตนเอง 'ไครเมีย' และอดกลั้นต่อการแทรกแซงพื้นที่อื่นๆ ของยูเครน เขาขู่ด้วยว่า สหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 8 หรือ จี8 ในเดือน มิ.ย. ที่เมืองโซชิของรัสเซีย หากรัสเซียแทรกแซงยูเครน
ด้านรัฐบาลเครมลินของรัสเซียมีแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีปูตินได้เน้นย้ำกับนายโอบามาผ่านการพูดคุยในครั้งนี้ว่า มีภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อชีวิตและสุขภาพของชาวยูเครน รวมถึงเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ในยูเครน แถลงการณ์ของเครมลินยังส่งสัญญาณด้วยว่า รัสเซียอาจส่งกองทัพไปที่อื่นในยูเครนนอกจากในไครเมียด้วย
ขณะเดียวกัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดการประชุมฉุกเฉินผ่านทางโทรศัพท์เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเมื่อช่วงบ่ายวันเสาร์ หลังจากมีการปรึกษาหารือในห้องลับ โดยนายยูรีย์ เซอร์เกเยฟ ทูตยูเครนประจำสหประชาชาติเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ เพื่อหยุดยั้งการรุกรานของรัสเซีย ขณะที่นายวิตาลี เชอร์คิน ทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ ขอให้รัฐบาลรักษาการในกรุงเคียฟ หยุดร่วมมือกับพวกหัวรุนแรง
อีกด้านหนึ่ง องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศจัดการประชุมของสภาแอตแลนติกเหนือในวันอาทิตย์ รวมถึงการประชุมคณะกรรมการนาโต-ยูเครน โดยพวกเขาจะร่วมมือกันรับมือสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกิดขึ้นหลายวันหลังจากเกิดเหตุรุนแรงในคาบสมุทรไครเมีย พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของสหภาพโซเวียตในอดีต ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี (27 ก.พ.) จากการบุกยึดอาคารรัฐบาลและรัฐสภาท้องถิ่นโดยกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย และก่อเหตุยึดสนามบินหลักของเมืองซิมเฟอโรปัลในวันเสาร์ ท่ามกลางการเดินขบวนของชาวไครเมีย ที่ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียปกป้องพวกเขาจากรัฐบาลใหม่ของยูเครน
...
รัฐบาลใหม่ของยูเครนซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีจากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้ยูเครนร่วมมือกับอียู รับตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากอดีตประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช ถูกรัฐสภาโหวตถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ก.พ. หลังจากเขาถูกประท้วงอย่างรุนแรงตั้งแต่เขาปฏิเสธไม่ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับอียู เมื่อเดือน พ.ย. 2013
...