สืบเนื่องจากกรณี เฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังเข้าซื้อกิจการ ว็อทส์แอพพ์ สำนักข่าว สเตรทส์ ไทม์ ได้เผยแพร่บทความเรื่องสิ่งที่คนทั่วไปอาจไม่รู้เกี่ยวกับ ว็อทส์แอพพ์...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ว่า 'ว็อทส์แอพพ์' (WhatsApp) แอพพลิเคชั่นบริการส่งข้อความด่วนยอดนิยมบนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ถูกบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟซบุ๊กซื้อไปในราคา 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6.19 แสนล้านบาท) เมื่อเร็วๆ นี้
ว็อทส์แอพพ์ เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้งานประจำอยู่หลายร้อยล้านคนทั่วโลก และมีผู้ดาวน์โหลดแอพฯ นี้วันละหลายล้านครั้ง ซึ่งต่อไปนี้อาจเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแอพฯ ดังตัวนี้ที่คุณอาจไม่เคยรู้
1. บริษัท ว็อทส์แอพพ์ อิงค์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดย ไบรอัน แอคตัน ชาวอเมริกัน และ แยน คูม ชาวยูเครน ซึ่งทั้งสองคนเคยเป็นลูกจ้างของบริษัท ยาฮู! ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของสหรัฐฯ
2. ว็อทส์แอพพ์ มีผู้ใช้งานมากกว่า 450 ล้านคน และกว่า 70% ในจำนวนนี้ เป็นผู้ใช้งานประจำทุกวัน
3. มีการส่งข้อความผ่าน ว็อทส์แอพพ์ วันละมากกว่าหมื่นล้านข้อความ และมีการแชร์รูปภาพผ่าน ว็อทส์แอพพ์ ราว 400 ล้านภาพในแต่ละวัน
4. ว็อทส์แอพพ์ มีผู้สมัครใช้งานใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน และอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานใน 4 ปีแรกของ ว็อทส์แอพพ์นั้น สูงกว่าเฟซบุ๊ก, สไกป์ (Skype) และ ทวิตเตอร์ (Twitter) มาก
5. บริษัท ว็อทส์แอพพ์ มีลูกจ้างเพียง 50 คน โดยส่วนใหญ่เป็นวิศวกร
6. เมื่อ 31 ธ.ค. 2013 ว็อทส์แอพพ์ ทำสถิติใหม่โดยมีผู้ส่งข้อความในวันเดียวถึง 1.8 หมื่นล้านข้อความ
7. เครื่องหมายถูก (✓) ใต้ข้อความหนึ่งตัวหมายถึงข้อความถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ได้สำเร็จแล้ว และเครื่องหมายถูก 2 ตัว หมายถึงข้อความส่งถึงผู้รับเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้หมายความว่าข้อความถูกอ่าน
8. ว็อทส์แอพพ์ ไม่มีโฆษณาหรือเชื่อมต่อผู้ใช้งานไปยังแอพฯ เกม แต่ ว็อทส์แอพพ์ มีรายได้ด้วยการค่าสมัครสมาชิกรายปีเป็นเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากให้ใช้งานฟรี 1 ปีแรก
9. เหตุผลที่ ว็อทส์แอพพ์ ไม่มีโฆษณา ผู้พัฒนา ไบรอัน แอคตัน และ แยน คูม เคยกล่าวไว้ว่า "เราต้องการสร้างอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ ระบบเครือข่ายให้บริการข้อมูลโฆษณา (ad clearinghouse) อีกตัวหนึ่ง เราต้องการทุ่มเทเวลาของเราเพื่อสร้างบริการที่ประชาชนต้องการใช้ เพราะมันได้ผล และช่วยพวกเขาประหยัดค่าใช้จ่ายและทำให้การใช้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น แม้จะเล็กน้อย"
10. นักพัฒนาทั้ง 2 คนยังระบุด้วยว่า โฆษณา เป็นตัวขัดขวางสุนทรียศาสตร์, ดูถูกสติปัญญา และขัดจังหวะการฝึกฝนทางความคิดของผู้ใช้งาน.
...