บทความของคอลัมนิสต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เตือนว่าผู้นำของชาติในทวีปเอเชียกำลังอ่อนเอเข้าขั้นวิกฤติ และเอเชียอาจถึงคราวหายนะในอีก 5 ปีข้างหน้า หากไม่มีการแก้ไข ขณะที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้มเหลวเรื่องปัญหาราคาข้าว-ยางพารา เนื่องจากต้องมุ่งความสนใจไปแก้ปัญหาการเมือง และ พรบ.เงินกู้ 2ล้านล้าน...
สำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐฯ เผยแพร่บทความของนายวิลเลียม เพเซค หนึ่งในคอลัมนิสต์ของเพวกเขา ซึ่งระบุว่า เอเชียกำลังประสบปัญหาความอ่อนแอของผู้นำในภูมิภาค ขณะที่เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ยุคที่ไม่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วอีกต่อไป และเตือนให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ ต้องดำเนินการอย่างสร้างสรรค์เพื่อรักษาระดับการเติบโตไว้ และต้องเตรียมตัวรับมือกับวิกฤติการเงินใหม่ที่กำลังจะมาถึง
บทความของวิลเลียม เพเซค ระบุว่า ผลกระทบจากวิกฤติการล่มสลายของ สถาบันวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของโลกอย่าง 'เลห์แมน บราเธอร์ส' เมื่อ 5 ปีก่อน กำลังเริ่มส่งผลกระทบต่ออัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมาตรฐานการครองชีพในเอเชีย แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เอเชียกำลังเผชิญ หากเป็นเรื่องความอ่อนแอของผู้นำในภูมิภาค ซึ่งต้องการความกล้าและวิสัยทัศน์อย่างยิ่งยวด เพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่ประดังเข้ามา
เอเชียล้มเหลวในการใช้อัตราการเติบโต 5-10% ที่เคยเกิดขึ้น เพื่อขยับขยายเศรษฐกิจออกจากการต้องพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป ไปยังการสร้างการเติบโตโดยใช้ปริมาณความต้องการภายในภูมิภาคแทน โดยหลังจากวิกฤติการเงินของเอเชียเมื่อปี 1997 (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ฝ่ายนิติบัญญัติได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงิน สร้างความโปร่งใส สร้างสภาพแวดล้อมธุรกิจระดับนานาชาติ และต่อต้านระบบเล่นพรรคเล่นพวก และเมื่อเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเล็กน้อยในครั้งแรก มาตรการปฏิรูปอื่นก็ถูกระงับไป จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ผู้นำชาติซึ่งตัดสินใจเลิกพึ่งพาชาติตะวันตก ที่สหรัฐฯและยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ก็ล้มเหลวในการส่งเสริมการเติบโตในประเทศ
...
มูลค่าความเสียหายจากการหลงพึงพอใจในตอนแรกนั้น บัดนี้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประเมิณว่าการเติบโตของเอเชียในปี 2013 อย่างดีที่สุดคืออยู่ในระดับ ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี เมื่อกลไกการส่งออกของเอเชียเริ่มติดขัด ตลาดเตรียมใจรอวันยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมาถึง รัฐบาลของแต่ละประเทศจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและสร้างสรร เพื่อปกป้องการเติบโต และยังต้องเตรียมตัวสำหรับวิกฤติการเงินครั้งต่อไป (เช่น การผิดชำระหนี้ของสหรัฐฯ) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเรื่องความเป็นผู้นำของชาติในเอเชียแล้ว โอกาสของภูมิภาคนี้ยังคงอึมครึม
อินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำเสถียรภาพมาสู่ประเทศเมื่อ 15 ปีก่อน ดูเหมือนกำลังจะมีชะตาที่ต้องกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว รัฐบาลของปธน.ยูโดโยโนจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดการขาดดุลในปัจจุบัน ซึ่งทำให้นักลงทุนหันหลังหนี และผลักให้ค่าเงิน รูเปียห์ ในปีนี้ลดลงถึง 14% ยูโดโยโนควรส่งเสริมการต่อต้านคอรัปชันของเขา, เร่งความเร็วในโครงการปรับโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งสำคัญที่สุดคือ เขาต้องลดจำนวนคนยากจน ก่อนการเลือกตั้งในปีหน้าจะมาถึง แม้เขาจะไม่สามารถลงสมัครชิงตำแหน่งปธน.ได้ เพราะดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัยแล้ว
ส่วนอินเดีย รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี มานโมฮาน สิงห์ มีโอกาสต้องเผชิญกับวิกฤติหนี้สินเช่นเดียวกับสหรัฐฯ และอาจกลายเป็นประเทศแรกใน กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ บริค (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และ จีน) ที่ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับ 'ขยะ'
ที่มาเลเซีย การหวังให้นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค จะเลิกใช้นโยบายเอาใจชนพื้นเมืองมาเลย์ และนักลงทุนต่างชาติ ที่ใช้มา 42 ปี ไม่มีค่าอะไรเลย กลับกัน นาจิบ กลับทำให้เกิดการแบ่งแยกมากขึ้น สร้างความไม่พอใจแก่ชนกลุ่มน้อยชาวจีนและอินเดีย บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายเจ้าส่งเสียงเตือนมาเลเซียถึงปริมาณหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการทุ่มเงินอุดหนุนสินค้า และการปฏิรูปงบประมาณที่น้อยเกินไปด้วย นอกจากนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่านาจิบจะหยุดผลสะท้อนทางสังคม จากการนำมาเลเซียเข้าสู่เขตการค้าเสรี ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศสั่นสะเทือนมากกว่าเดิมได้หรือไม่
ขณะที่ประเทศไทย นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ล้มเหลวในบททดสอบเรื่องการจ่ายเงินอุดหนุนสินค้าเช่นกัน โดยแสดงให้เห็นถึงการขาดจุดยืนในการต่อสู้เพื่อชาวนา, ชาวสวนยางพาราและผู้ใช้น้ำมัน เพราะนายกฯยิ่งลักษณ์เสียสมาธิกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกู้เงินปรับโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อกระตุ้นการเติบโต ทั้งนี้ หลังจากอยู่ในตำแหน่งมา 2 ปี นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อลบความคิดที่ว่าเธอเป็นเพียงรักษาการตำแหน่งแทนของพี่ชายของเธอ ซึ่งก็คือ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น ไปให้หมด
วิลเลียม เพเซค เขียนเตือนในช่วงท้ายว่า ที่ผ่านมาแม้เอเชียจะรอดพ้นจากผลร้ายที่สุดของวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ตลอด แต่โชคของเอเชียอาจกำลังจะหมดลง หากเหล่าผู้นำไม่มีแผนที่ช่วยสร้างโอกาส อีก 5 ปีข้างหน้า เอเชียต้องพบกับความระส่ำระสายอย่างแน่นอน
...