ห้องวิจัยเคลื่อนที่ คิวเรียซิตี ซึ่งกำลังสำรวจหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร วิเคราะห์องค์ประกอบแร่ของดิน พบแร่ธาตุคลายดินที่พบบนเกาะฮาวาย...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่า จากผลการวิเคราะห์องค์ประกอบแร่ธาตุในดินบนดาวอังคารโดยหุ่นยนต์ 'คิวเรียซิตี' ที่เก็บมาระหว่างสำรวจพื้นที่ที่เรียกว่า เกลเนลก์ (Glenelg) ภายในปล่องภูเขาเกล (เกลแครตเตอร์ : Gale crater) พบว่า มีองค์ประกอบแร่ธาตุของหินบะซอลต์เป็นส่วนใหญ่ คล้ายดินที่พบบนเกาะฮาวาย บนโลกมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์เอาไว้แล้วว่า ดินในบริเวณนี้ของดาวอังคารจะมีองค์ประกอบของแร่เฟลด์สปาร์, โอลิวีน และแร่ไพโรซีน เหมือนในหินบะซอลต์ นอกจากนี้ยังพบทรายที่มีลักษณะหยาบกว่าปกติ คาดว่าอาจถูกพัดมาจากบริเวณอื่นที่ไกลออกไปด้วยอิทธิพลของลมพายุบนดาวอังคาร

ทั้งนี้ การตรวจสอบดินดังกล่าว เป็นเพียงการทดสอบขั้นแรกเท่านั้น โดยใช้เครื่อง เคมิน เอ็กซ์เพอริเมนท์ (CheMin experiment) การฉายรังสีเอ็กซ์ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า เอ็กซ์เรย์ ดิฟแฟรกชัน (X-Ray diffraction : XRD) สามารถหาค่าความเป็นผลึกของวัตถุได้ ทำให้ได้รับข้อมูลทางเคมีวิทยาชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งทางนาซาระบุว่า ผลการวิเคราะห์ของคิวเรียซิตี สอยคล้องกับทฤษฎีการทับถมของปล่องภูเขาเกล ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ชุ่มชื้น แต่กลายสภาพเป็นพื้นที่แห้งแล้วตามกาลเวลา

...

ในขั้นตอนต่อไป คิวเรียซิตีจะใช้เครื่อง แซม (Sam : Sample Analysis at Mars instrument) เพื่อวิเคราะห์หาการมีอยู่ของสารอินทรีย์ หรือประมาณโมเลกุลของคาร์บอน ซึ่งอาจพบคำใบ้ว่าครั้งหนึ่ง เคยมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้หรือไม่