ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศยูโรโซนมีมติเห็นชอบให้มีการเลื่อนการพิจารณามอบเงินช่วยเหลือรอบใหม่จำนวนกว่า 3.2 แสนล้านบาทแก่กรีซออกไปจนถึงช่วงกลางเดือน พ.ย.เป็นอย่างน้อย ถือเป็นข่าวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 4  ต.ค.ว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศยูโรโซนมีมติเห็นชอบให้มีการเลื่อนการพิจารณามอบเงินช่วยเหลือรอบใหม่แก่กรีซออกไปจนถึงช่วงกลางเดือน พ.ย. เป็นอย่างน้อย  ถือเป็นข่าวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลก

รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของชาติยุโรปซึ่งจัดขึ้นที่ลักเซมเบิร์ก มีมติให้เลื่อนการพิจารณามอบความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่แก่กรีซจำนวน 8,000 ล้านยูโร หรือราว 328,260 ล้านบาท ออกไปจนถึงช่วงกลางเดือน พ.ย. โดยที่ประชุมให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องเลื่อนการพิจารณาความช่วยเหลือแก่กรีซออกไป เนื่องจากรัฐบาลกรีซภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจอร์จ ปาปันเดรอู ยังคงไม่สามารถตัดลดการขาดดุลงบประมาณได้ตามเป้าหมาย

ก่อนหน้านี้สหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กำหนดให้รัฐบาลกรีซต้องปรับลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือร้อยละ 7.6 ของจีดีพี แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลกรีซสามารถปรับลดการขาดดุลจากร้อยละ 10.5 ในปี 2010 เหลือร้อยละ 8.5 ของจีดีพีในปีนี้

ด้านฌอง โคล้ด ยุงค์เกอร์ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก วัย 56 ปี ในฐานะประธานกลุ่ม "ยูโรกรุ๊ป" ซึ่งมีอำนาจในการกำกับดูแลเงินยูโร ออกมายืนยันว่า จะไม่ปล่อยให้กรีซก้าวเข้าสู่ภาวะล้มละลายจากปัญหาการขาดดุลงบประมาณและการ มีหนี้สินล้นพ้นตัว  พร้อมเผยว่า ในวันที่ 13 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมของกลุ่มยูโรโซนอีกครั้งเพื่อพิจารณาว่า จะมีการออกมาตรการใดเพื่อช่วยเหลือกรีซในการต่อสู้กับปัญหาด้านงบประมาณและ หนี้สิน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่กรีซอาจหนีไม่พ้นภาวะล้มละลายก่อนที่จะได้รับความช่วย เหลือทางการเงินก้อนใหม่ เนื่องจากมีรายงานว่า เงินสดที่รัฐบาลกรีซมีอยู่ในมือขณะนี้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายได้ถึงสิ้น เดือน ต.ค. เท่านั้น.

...