พฤติกรรมการเล่นเว็บสังคมออนไลน "เฟซบุ๊ก" ในเอเชีย พุ่ง ที่ 1 ของโลก ผู้สื่อข่าวเทศยกตัวอย่าง กรณีการรวมกลุ่มต่อต้านในอินเตอร์เน็ตของไทย อาทิ เด็กสาวขับรถประมาทไม่มีใบขับขี่ ชนรถตู้โดยสารบนทางด่วนโทลล์เวย์ในกรุงเทพฯ จนมีผู้เสียชีวิต 9 ศพ เป็นการก่อกระแสสร้างความเกลียดชัง...

สำนักข่าวเอเอฟพีเผยแพร่บทความเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของผู้ใช้ในแถบเอเชียเมื่อ 14 ม.ค. อ้างอิงผลสำรวจของเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเปิดเผยข้อมูลในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ระบุว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีผู้สมัครเข้าใช้เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่เว็บไซต์ โซเชียลเบเคอร์ซึ่งเป็นบริษัทรวบรวมสถิติการใช้เว็บไซต์ ทั่วโลกยังระบุด้วยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้สมัครเข้าใช้เว็บไซต์เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันมีผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยมากกว่า 7.4 ล้านคน หรือ 11 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ทั้งนี้ เรเชล โอไบรอัน ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี ระบุว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยเป็นปัจจัยหลัก ซึ่ง ผลักดันให้คนจำนวนมากหันมาใช้พื้นที่สาธารณะทางอินเตอร์เน็ตในการแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ในสังคม และกลายเป็นพื้นที่ถกเถียงโต้แย้งกันอย่างดุเดือด ซึ่ง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตของไทย ระบุว่าสังคมต้องร่วมกันกำหนดขอบเขตในการใช้พื้นที่สาธารณะทางอินเตอร์เน็ต เพื่อแยกแยะการแสดงความเห็นที่สร้างสรรค์ออกจากการข่มขู่คุกคามผู้อื่น

เนื้อหาบทความยังได้ยกตัวอย่างกรณีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในไทย ก่อตั้งกลุ่มในเว็บไซต์เฟซบุ๊กต่อต้านเด็กสาวอายุ 17 ปี ผู้ก่อเหตุขับรถยนต์โดยประมาทและไม่มีใบขับขี่ ชนรถตู้โดยสารบนทางด่วนโทลล์เวย์ในกรุงเทพฯ จนมีผู้เสียชีวิต 9 ศพ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าวมากถึง 300,000 คน ในเวลาไม่กี่วันหลังก่อตั้ง และมีผู้แสดงความเห็นคุกคามเด็กสาวผู้ก่อเหตุ ทั้งการขู่ฆ่าและขู่ว่าจะข่มขืน ทั้งยังมีการสืบหาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ก่อเหตุมาประจานในเว็บอย่างเปิดเผย และนักจิตวิทยาระบุว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวเป็นการโจมตีด้วยความเกลียดชัง ซึ่งไม่คำนึงถึงกระบวนการทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มต่อต้านและเผยแพร่ ความเกลียดชังในอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า "อี-ม็อบ" มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชียอื่นๆ เช่น จีนและเกาหลีใต้ ได้แก่ กรณีนักแสดงหญิงชื่อดังชาวจีน "จาง ซิยี่" บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนของจีน ไม่ครบตามจำนวนที่เคยสัญญาว่าจะให้ในปี 2551 ผู้ใช้เน็ตของจีนจึงตั้งกลุ่มประณามจนนักแสดงสาวต้องออกมาแถลงข่าวขอโทษ รวมถึงกรณีผู้ใช้เน็ตเกาหลีใต้ ตามล่าตัวเด็กสาวซึ่งถูกบันทึกวีดิโอขณะทำร้ายกระต่ายจนตาย และกรณีมีผู้กล่าวหาว่า "ทาโบล" นักร้องเพลงฮิพฮอพชาวเกาหลีใต้ เรียนไม่จบ นำไปสู่การเรียกร้องให้ทาโบลออกมาขอโทษแฟนเพลง แต่ผลพิสูจน์ระบุว่าวุฒิการศึกษาของนักร้องเป็นของจริง ทำให้ผู้ใช้เน็ต 14 ราย ถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท.

...