เฉพาะเด็ก-เยาวชนผิดจราจร2-300คนส่วนนักโทษอีกนาน
“ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” รองปลัดฯยุติธรรม ประธานคณะกรรมการศึกษาโครงการกำไลฝังชิป ยืนยันโครงการจะไม่ปล่อยผีนักโทษเด็ดขาด เฮโลออกมานอนนอกคุกจำนวนมากแน่ เบื้องต้น คณะทำงานมีมติให้เริ่มจากเด็กและเยาวชนที่ถูกคุมประพฤติแค่ 200-300 คน ส่วนกรณีนักโทษเด็ดขาดที่ถูกจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ต้องให้กรมราชทัณฑ์ศึกษาคุณสมบัติของนักโทษที่ควรได้รับสิทธิ ก่อนเสนอ มาที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอีกครั้ง
กรณี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ลงนามในประกาศกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต 2556 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มี.ค. จนมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ออกมาตอบรับ เตรียมนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือกำไลฝังไมโครชิปมาควบคุมนักโทษเด็ดขาดภายนอกเรือนจำเพื่อลดความแออัด โดยให้โอกาสนักโทษที่มีความจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด ยื่นคำร้องต่อศาลขอทุเลาโทษคุมขังในเรือนจำออกไปใช้ชีวิตภายนอก เบื้องต้นคาดว่าจะมีนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการนี้ถึง 5.2 หมื่นคน จากนักโทษทั่วประเทศประมาณ 2.6 แสนคน
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาวางแนวทางการนำกำไลไมโครชิป มาใช้ควบคุมผู้ต้องขังผ่านระบบจีพีเอส เพื่อทุเลาการควบคุมภายนอกเรือนจำกล่าวว่า นายกิตติพงษ์ กิตยา–รักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมรับฟังการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ควบคุมนักโทษต้องทำอย่างไรบ้าง เบื้องต้นได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินการแยกเป็น 2 กลุ่มประกอบด้วย 1. กลุ่มเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจร ซึ่งจะทำโครงการนำร่องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยมีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมคุมประพฤติ ประสานกับศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนกำหนดระยะเวลาใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งที่หน่วยงานต้องการให้กระทรวงยุติธรรมสนับสนุน ซึ่งโครงการนำร่องจะทดลองใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับเด็กและเยาวชนเพียง 200-300 คนเท่านั้น
รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวอีกว่า 2. ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์วิธีการจำคุกแบบอื่นตามกฎกระทรวงที่ออกมา ประเด็นนี้กรมราชทัณฑ์จะไปจัดทำร่างประกาศและรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ความผิดฐานใด นักโทษกลุ่มไหนที่จะได้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร หรือเวลาไปยื่นคำร้องต่อศาลจะตอบรับอย่างไร ส่วนการทุเลาการควบคุมในเรือนจำของผู้ต้องขังในส่วนของกรมราชทัณฑ์ต้องใช้เวลาอีกระยะ ซึ่งตนเป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวม ส่วนเรื่องของอุปกรณ์เทคโนโลยีในการควบคุมผู้ต้องขังที่จะนำมาใช้ จะใช้ระบบอุปกรณ์ควบคุมเทคนิคของกรมคุมประพฤติ เพราะได้ศึกษาเรื่องการควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มานานจนผลการศึกษาก้าวหน้าไปไกลแล้ว
นายชาญเชาวน์กล่าวอีกว่า ส่วนกรมราชทัณฑ์จะให้ดูแลในการประเมิน ทำเรื่องเสนอขั้นตอนการปฏิบัติในโครงการดังกล่าวต่อกระทรวงยุติธรรมเรื่องนี้เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน จึงให้กรมราชทัณฑ์นำระบบของกรมคุมประพฤติมาปรับใช้ จะได้ไม่ซ้ำซ้อนไม่สับสน แต่ในส่วนของผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ที่จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมต้องค่อยๆไปแต่ยืนยันว่าจะไม่มีการให้ผู้ต้องขังออกจากเรือนจำจำนวนมากด้วยโครงการดังกล่าวแน่นอน ทั้งนี้แนวทางการปฏิบัติและข้อสรุปโครงการตามกฎกระทรวงนี้ทั้งหมดจะไปยุติที่คณะทำงานของนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะประกาศออกมาเป็นระเบียบปฏิบัติต่อไป
...