ก.ต.ช.ฉลุยเอกฉันท์นายกฯแจงเหมาะสม

นายกฯนั่งหัวโต๊ะเรียกประชุม ก.ต.ช.ม้วนเดียวจบ ลงมติผ่านฉลุย 10 ต่อ 0 เป็นเอกฉันท์ แต่งตั้ง “อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ผงาดเป็น ผบ.ตร.คนที่ 9 แทน “เพรียวพันธ์” ที่เกษียณราชการเผยใช้เวลาแค่ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น นายกฯให้เหตุผลมีประสบการณ์ปราบปรามยาเสพติดจนเป็นที่ยอมรับ

ที่ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 16 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจ แห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. เป็นประธานประชุม ก.ต.ช.ครั้งที่ 3/2555 โดยมีวาระแต่งตั้ง ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ที่จะเกษียณ อายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยมี ก.ต.ช. อีก 10 คน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ได้แก่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. นายกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเรวัตร ฉ่ำเฉลิม นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ระบุว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร.ต้องมาจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ต.ช. จะเสนอชื่อนายตำรวจยศพลตำรวจเอก 1 คน ให้ ก.ต.ช. อีก 10 คน พิจารณา ถ้า ก.ต.ช. มีมติเกินกึ่งหนึ่งเห็นชอบตามที่ ประธาน ก.ต.ช.เสนอ นายตำรวจผู้นั้นก็ผ่านความ เห็นชอบ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. เพื่อรอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป แต่ถ้าได้เสียง ก.ต.ช. ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ประธาน ก.ต.ช. ต้องเสนอรายชื่อนายตำรวจ ที่เหมาะสมเข้าสู่การพิจารณาของ ก.ต.ช.อีกครั้ง

นายตำรวจยศพลตำรวจเอก 10 คน ที่มีคุณสมบัติ จะได้รับคัดเลือกเป็น ผบ.ตร. เรียงตามลำดับอาวุโส ได้แก่ 1. พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. 2. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รอง ผบ.ตร. 3. พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. 4. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. 5. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. 6. พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล รอง ผบ.ตร. 7. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ปรึกษา (สบ 10) 8. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10) 9. พล.ต.อ.ชลธาร จิราณรงค์ หน.นรป. (สบ 10) และ 10. พล.ต.อ.อมรินทร์ อัครวงษ์ ที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านกฎหมายและสอบสวน

ส่วนผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการเสนอชื่อนั้น มีอยู่ 2 คน คือ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 นักเรียนนายร้อย ตำรวจ (นรต.) รุ่น 28 เกษียณอายุราชการปี 2556 กับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. รักษาการเลขาธิการ ป.ป.ส. อาวุโสอันดับ 3 นรต. รุ่น 29 เกษียณ อายุราชการ ปี 2557

ภายหลังใช้เวลาประชุมนานประมาณชั่วโมงครึ่ง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขานุการ ก.ต.ช. เปิดเผยว่า นายกฯ ได้ชี้แจงความจำเป็นการเรียกประชุมเร่งด่วน เนื่องจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งกฎระเบียบว่าด้วยการ แต่งตั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ระดับชั้นผู้บังคับการ หรือนายพลขึ้นไป จะต้องแต่งตั้งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม ดังนั้น มีความจำเป็นต้องแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ โดยนายกฯเน้นว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ต้องสามารถพัฒนาและนำองค์กรไปในทิศทางตามนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสนับสนุนเรื่องงานอาชญากรรมต่างๆ รวมถึงการที่ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น จำเป็นต้องมีผู้บังคับบัญชาที่มีวิสัยทัศน์ ที่จะดำเนินการสิ่งต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

เลขานุการ ก.ต.ช.กล่าวต่อว่า จากนั้นนายกฯในฐานะผู้มีอำนาจในการเสนอชื่อตามกฎหมาย ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ให้เหตุผลว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ผ่านงานสำคัญในฐานะผู้นำหน่วย ตั้งแต่เป็นตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธร และปฏิบัติ หน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขณะนี้ได้รับ มอบหมายเรื่องสำคัญในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่ง ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับ การยอมรับ เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีการลงมติเป็นเอกฉันท์ 10 คน จากคณะกรรมการ 11 คน โดยนายกฯงดออกเสียง ทั้งนี้ คาดว่า จะใช้เวลาภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อรอทูลเกล้าฯถวายต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ในที่ประชุม ก.ต.ช. นายกฯได้ให้เหตุผลในการเสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ว่ามีประสบการณ์การทำงานและอายุราชการ ซึ่งที่ประชุมก็ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเห็นว่าทั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ และ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 ต่างก็มีอาวุโส ประสบการณ์และความสามารถทัดเทียมกัน แต่สุดท้าย นายกฯตัดสินใจที่จะเลือกเสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ซึ่งมีอายุราชการเหลืออีก 2 ปี ในขณะที่ พล.ต.อ.ปานศิริเหลืออายุราชการ 1 ปีเท่านั้น เพราะเห็นว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่าจะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ก.ต.ช.จึงได้เสนอต่อนายกฯให้ดูแลผู้อาวุโสอันดับ 1 ด้วย เพื่อไม่ให้เสียกำลังใจของคนทำงาน ซึ่งนายกฯก็รับปาก

ประวัติ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ชื่อเล่นอู๋ เกิดเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2497 ที่ อ.เมืองนครพนม เป็นบุตรชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของนายอุดม และนางอัมรา แสงสิงแก้ว สมรสกับนางอรัญญา อรัณยกานนท์ จบการศึกษา โรงเรียนอนุบาลนครพนม โรงเรียนสุนทรวิจิตร โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา กทม. โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 29 ปริญญาโทด้านพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรฝ่ายอำนวยการ จบวิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 33 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 42 จบหลักสูตรมินิครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรความเป็นเลิศของนักบริหาร มธ. สถาบันวิทยาลัยตลาดทุนรุ่น 5

เส้นทางรับราชการ ดำรงตำแหน่ง รอง สวป.สน.ปทุมวัน ผบ.มว.หน่วยปฏิบัติการพิเศษ จ.นครพนม สวป.เมืองมุกดาหาร สว.กิ่ง อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร สว.สภ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ผบ.ร้อย 4 หห.1 รร.นรต. หน.ผ.3 ยุทธการ กก.ตชด.13 จ.กาญจนบุรี รอง ผกก.อก.ตชด.ภาค 1 รอง ผกก.2 สสน.ตชด. อาจารย์ภาควิชาทหารและทหารฝึก รร. นรต. รอง ผบก.รร.นรต. รอง ผบก.ตชด.ภาค 1 ผบก.สำนักงานแผนงานและงบประมาณ ผบก.จร. ผู้ช่วย ผบช.น. รอง ผบช.น. ผบช.ภ.3 ผบช.ภ.9 ขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. เมื่อปี 52 ที่ปรึกษา (สบ 10) เมื่อปี 53 และรอง ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 1 ต.ค.54 พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อีกตำแหน่ง

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ถือเป็น ผบ.ตร.คนที่ 9 ภายหลังจากที่กรมตำรวจสถาปนาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำจากอธิบดีกรมตำรวจมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดย ผบ.ตร.คนแรก ได้แก่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ถัดมาคือ พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ และจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง  ผบ.ตร.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55 เป็นต้นไป

ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. กล่าวภายหลังทราบว่าได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.คนต่อไป ว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้รับโอกาสจากนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการ ก.ต.ช. เสนอให้เข้ามารับตำแหน่ง ผบ.ตร. ถือว่าเป็นเกียรติประวัติในชีวิตราชการ ขณะนี้ ยังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะขั้นตอนยังไม่จบสิ้น ต้องรอการโปรดเกล้าฯ

...