อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมบุกตรวจโรงงานน้ำแข็ง ชี้เป็นตัวต้นเหตุปล่อยสารแอมโมเนียลงสู่ลำตะคอง ทำให้ปลาตายเกลื่อนพร้อมสั่งหยุดการผลิตชั่วคราวทันที จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จ ประเดิมข้อหาแรกปิดซ่อมโรงงานโดยไม่แจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดทราบ มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ในขณะที่กรมควบคุมมลพิษเตรียมฟันซ้ำโรงงานน้ำแข็งชุ่ย เตือนประชาชนอย่านำปลาไปบริโภค หวั่นเป็นอันตรายต่อชีวิต
กรณีปลาตายเกลื่อนลำตะคองช่วงที่ไหลผ่านในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ตั้งแต่บริเวณชุมชนตรอกสำโรงจันทร์ยาวไปถึงหมู่บ้านวีไอพี เป็นระยะทางกว่า 3 กม. ความคืบหน้าเมื่อตอนสายวันที่ 16 ก.ค. นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงาน อุตสาหกรรม เดินทางไปร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมสำนักงานสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ก่อนจะลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็ง เอ็ม.พี. ของ หจก.มิตรภาพอุตสาหกรรมนครราชสีมา ซึ่งอยู่ติดกับลำตะคอง หลังได้รับรายงานว่า มีการรั่วไหลของสารแอมโมเนียจากโรงงานลงสู่ลำตะคอง พบว่า โรงงานอยู่ระหว่างปิดซ่อมเครื่องจักร โดยมีกลิ่นแอมโมเนียรั่วไหลกระจายอย่างรุนแรง ทำเอาเจ้าหน้าที่ถึงกับแสบตาแสบจมูก เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ
นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงาน อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบโรงน้ำแข็ง เอ็ม.พี. ซึ่งเป็น 1 ในจำนวน 4 โรง ที่ตั้งอยู่ริมลำตะคอง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของโรงงานยอมรับว่ามีการรั่วซึม ของแอมโมเนียลงสู่ลำตะคองจริง แต่ก็ต้องรอผลสรุป ที่ชัดเจนอีกครั้งว่าแอมโมเนียที่รั่วซึมไปนั้น มีปริมาณมากพอจนเป็นต้นเหตุให้ปลาตายจำนวนมากหรือไม่ เกิดจากอุบัติเหตุหรือความตั้งใจ คาดว่า 1-2 วัน จะ ทราบผลที่ชัดเจน หากพบว่าเข้าข่ายมีความผิดก็จะถูกสั่งปิดโรงงานทันที เท่าที่ทราบโรงงานแห่งนี้ปิดซ่อม เครื่องผลิตน้ำแข็ง แต่ไม่แจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาทราบ ซึ่งก็มีความผิดโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ในชั้นนี้ได้สั่งห้ามปล่อยน้ำเสียลงลำตะคอง โดยเด็ดขาด จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จ รวมทั้งให้หยุดการผลิตก่อนชั่วคราว ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เร่งสำรวจโรงงานทุกแห่งที่อยู่ติดริมลำตะคอง และแบ่งกลุ่ม ไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่กลุ่มเสี่ยงน้อยไปหาเสี่ยงมาก เบื้องต้นทราบว่ามีอยู่ประมาณ 200 แห่ง
ด้าน นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง– แวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีปลาในลำตะคองตาย ว่าได้รับรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาตายเกิดจากสาร แอมโมเนียจากโรงน้ำแข็งที่อยู่ระหว่างการปิดซ่อมรั่วไหลลงสู่ลำตะคอง โดยโรงงานดังกล่าวทราบว่าปิดซ่อมใหญ่และเมื่อซ่อมแล้วจะต้องล้างเครื่องพร้อมเปลี่ยนสารแอมโมเนียที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำแข็ง ครั้งละ 6 ถัง ถังละ 50 กก. รวม 300 กก. คาดว่าระหว่าง ล้างทำความสะอาด และซ่อมบำรุงนั้น แอมโมเนียรั่วไหลลงในลำตะคอง ส่งผลปลาตายจำนวนมาก ทั้งนี้ ที่เชื่อว่าเป็นแอมโมเนีย เพราะพบว่าปลาจะตายมาก ในช่วง 1 กม. ในรัศมีโรงงานเท่านั้น หากเป็นสารอื่นๆ ผลกระทบจะมากกว่านี้ อีกทั้ง แอมโมเนียนั้นจะดึงออกซิเจนเข้ามาทำปฏิกิริยา ทำให้ปลาขาดออกซิเจน รวมทั้งมีพิษอยู่ในตัวคือ หากมีการปนเปื้อนเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ปลาก็จะตาย โดยเฉพาะปลาผิวน้ำ
เมื่อถามว่า จะเอาผิดกับโรงงานได้หรือไม่อย่างไร อธิบดี คพ. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมไปเก็บตัวอย่าง น้ำและปลาเอาไปตรวจในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แล้ว ผลจะออกมาในวันที่ 18 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม
ทราบว่า วันที่ 16 ก.ค. อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมไปตรวจในพื้นที่แล้ว และจะแจ้งความเอาผิดกับโรงงาน ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ตามมาตรา 8 ระบุว่า การล้าง หรือซ่อมแซมทำความสะอาดโรงงาน นั้น จะต้องแจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบก่อน มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดทันที กรณีนี้มีความผิดชัดเจน เพราะไม่ได้มีการแจ้ง และในส่วนของกรมประมง ก็สามารถแจ้งความเอาผิดกับโรงงานฐานทำให้ สูญเสียทรัพยากร คือ ปลาตายจำนวนมากเช่นกัน ที่ยังเป็นห่วงคือ กลัวว่าจะมีประชาชนนำปลาไปบริโภค และเอาไปทำปลาร้า น้ำปลา ต้องเตือนว่า ไม่ควรทำ เพราะเวลานี้ผลการตรวจสอบยังไม่ออกมาว่า ตัวปลา มีความเป็นพิษอย่างไรบ้าง การกำจัดซากปลาที่ตายในเวลานี้คือ การฝัง หรือเอาไปทำปุ๋ยจะดีที่สุด
...