สายพันธุ์เอ็นเทอโรไวรัส71พบที่เขมรยังไม่แพร่ในไทย
กระทรวงสาธารณสุขสั่งสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศติดตามใกล้ชิด สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ระบาด หลังเด็กป่วย-ตายในกัมพูชากว่า 60 ราย ย้ำในไทยผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อค็อกซากี่ คนละชนิดกัน แต่ไม่ควรวางใจ ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ กำชับพ่อแม่ ผู้ปกครองหมั่นสังเกตมือ เท้า ลูกหลาน หากมีตุ่มใส ไม่ควรให้ไปโรงเรียน สกัดการแพร่กระจายของเชื้อ และควรสอนเด็กๆล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่กลับจากสถานที่สาธารณะ
จากกรณีการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์รุนแรงในประเทศกัมพูชา และทำให้มีเด็กกัมพูชาเสียชีวิตกว่า 60 คน ในตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.ค. นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั่วประเทศติดตามสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิดว่ามีคนไข้จากโรคดังกล่าวที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์เดียวกับผู้ป่วยในกัมพูชาหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังพบว่าไม่มีการกระจายการแพร่ระบาดของเชื้อในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาด สธ.พร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการควบคุมโรค และมอบหมายให้มีการเฝ้าระวังโรคนี้เป็นพิเศษในศูนย์เด็กเล็กตามแนวชายแดน ซึ่งโรคนี้ไม่ถือเป็นโรคระบาด แต่พบประปราย ไม่ได้มีการระบาดรุนแรง แต่จะต้องดูแลสถานที่ที่มีเด็กเล็กมารวมตัวกันอยู่แออัดเป็นพิเศษ
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก ที่ส่งผลให้คนในประเทศกัมพูชาเสียชีวิตกว่า 60 คน เป็นเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่เมื่อป่วยจะมีอาการรุนแรง สำหรับในประเทศไทย เมื่อปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปากที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์นี้ จำนวน 6 คน ซึ่งผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อค็อกซากี่ โดยตั้งแต่ต้นปี 2555-ปัจจุบัน มีผู้ป่วยราว 10,813 คน แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ หากผู้ปกครองพบบุตรหลานเป็นโรคมือ เท้า ปากแล้วมีไข้สูง เซื่องซึม ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล อย่าปล่อยให้เด็กมีอาการจนชัก เนื่องจากเป็นการแสดงว่าเชื้อเข้าสู่สมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
“พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยดูแลลูกของตนเอง หากมือ เท้าลูกมีตุ่มใสไม่ควรให้ลูกไปโรงเรียน เพื่อจะได้ไม่แพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่น ส่วนที่โรงเรียนถ้าในห้องเรียนเดียวกันมีเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก เกิน 2 คน ต้องปิดห้องเรียนนั้นแล้วทำความสะอาด หากพบผู้ป่วยในระดับชั้นเรียนเดียวกันเกิน 3 คน ต้องปิดการเรียนการสอนทั้งระดับชั้น และหากพบผู้ป่วยกระจายในระดับชั้นเรียนต่างๆเกิน 5 คน จะต้องปิดโรงเรียน ขณะเดียวกันในโรงเรียนจะต้องสอนให้เด็กล้างมือให้ถูกวิธี เพราะเชื้อของโรคจะอยู่ในอุจจาระของเด็กถ้าไม่ทำความสะอาดอาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเมื่อเด็กจับอาหารเข้าปาก” นพ.พรเทพกล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ข้อมูลเรื่องโรคมือ เท้า ปาก ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ลักษณะของโรค ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการป่วย แต่จะปรากฏอาการดังกล่าวอยู่ 3-5 วัน โดยในบางรายอาจไม่พบตุ่มพองแต่อย่างใด แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อจากเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) อาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย โดยเป็นแบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไม่ติดเชื้อที่ไม่รุนแรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่น ที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ทั้งนี้ เชื้ออาจอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยได้เป็นเดือน ทำให้ผู้ป่วยยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ดังนั้น เราควรสอนให้บุตรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่กลับจากสถานที่สาธารณะ
...