คดีสาวซีวิคชนรถตู้ 9 ศพ ยังไม่จบ ครอบครัวเหยื่อที่มาศาลต่างผิดหวังที่ไม่ได้พบจำเลย ยอมรับสื่อสารไม่ตรงกัน คิดว่าจะได้เจรจาโดยตรง กลับได้พบแต่นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ เหมือนถูกตอกย้ำเหตุการณ์ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ย้ำไม่ได้เรียกร้องอะไร ต้องการเพียงการยอมรับและคำขอโทษ ด้านอัยการแจง หากประชุมกลุ่มผู้เสียหายทุกรายเสร็จจะทำรายงานเสนอศาล กำหนดวันนัดหมายคดีภายในเดือน ก.ค.คาดว่าศาลจะนัดจำเลยมาพูดคุยเรื่องการเยียวยาครอบครัวผู้เสียหายนัดใดนัดหนึ่ง

ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สนามหลวง เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ก.ค. ศาลนัดประชุมคดีหมายเลขดำที่ 1233/2554 อัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.แพรว (นามสมมติ) อายุ 18 ปี เป็นจำเลยความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทจนเป็นเหตุในผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายต่อร่างกายบาดเจ็บสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์จากอุบัติเหตุสยอง เมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.53 น.ส.แพรวขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิค ทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร บนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า ใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุ่งชนท้ายรถตู้โดยสารวิ่งระหว่างรังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เสียหลักหมุนไปชนขอบกั้นโทลล์เวย์ แรงเหวี่ยงทำให้ผู้โดยสารกระเด็นออกจากตัวรถเสียชีวิต 9 ศพ บาดเจ็บ 6 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.55 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีแต่เห็นควรให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยเยียวยาค่าเสียหาย จึงให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาพร้อมนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันในนัดนี้

ฝ่ายผู้เสียหายประกอบด้วย นางถวิล เช้าเที่ยง มารดาของ ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง และ นพ.กฤช รอดอารีย์ บิดาของนายเกียรติมันต์ รอดอารีย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเสียชีวิต รวมทั้งญาติผู้เสียชีวิตรายอื่นรวม 9 ราย เดินทางมาถึงศาล ด้านจำเลยมีทนายความและลุงของ น.ส.แพรวเดินทางมาศาล ขั้นตอนแรกศาลจัดให้คู่ความเข้าพบนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ผู้พิพากษาสมทบเพื่อประเมินสภาพจิตใจที่ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อบำบัดฟื้นฟูเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งอยู่ภายในบริเวณศาลเยาวชนฯ ใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 3 ชั่วโมง

พ.ต.อ.ศรัญ นิลวรรณ บิดาของ น.ส.สุดาวดี หรือน้องนุ่น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เสียชีวิต กล่าวว่า ช่วงเช้าเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจครอบครัวผู้เสียหาย พูดคุยถึงความรู้สึกความต้องการเพื่อเป็นข้อมูลรายงานต่อศาล ครั้งแรกกลุ่มญาติเข้าใจว่าจะเจรจากับจำเลยโดยตรง แต่เข้าใจผิดจากการสื่อสารไม่ตรงกัน หากพูดคุยลักษณะนี้อีก

ครั้งหน้าบางครอบครัวอาจไม่มา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะส่งนักจิตวิทยาไปพูดคุยที่บ้านหรือไม่ ตนเห็นว่าการเยียวยาไม่จำเป็นแล้ว เพราะเหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 2 ปี แม้จะเริ่มทำใจได้แต่ทุกคนยังไม่เคยลืม ทั้งนี้ กระบวนการเยียวยาจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน ขณะที่กลุ่มญาติผู้เสียหายไม่ได้เตรียมเงื่อนไขอะไร ยืนยันตามที่เสนอศาลไปคือ ต้องการให้จำเลยยอมรับและกล่าวขอโทษ เมื่อฝ่ายจำเลยยังคงยืนยันให้การปฏิเสธไม่ทราบจะพูดคุยเพื่ออะไร หวังว่าคดีนี้จะเสร็จสิ้นโดยเร็ว หากคดีอาญาเสร็จสิ้นจะเริ่มกระบวนการทางแพ่งต่อไป

ด้าน นพ.กฤช รอดอารีย์ บิดาของนายเกียรติมันต์ เหยื่ออีกราย กล่าวว่า ยังไม่เข้าใจขั้นตอนของกระบวนการเยียวยา รู้สึกไม่พอใจที่การเดินทางมาวันนี้ยังไม่มีโอกาสได้พบจำเลย เพราะทุกคนคาดหวังว่าจะได้ความชัดเจนจากการเจรจาครั้งนี้ ทุกคนต่างไม่ต้องการให้คดียืดเยื้อ เพราะเป็นการบั่นทอนจิตใจญาติผู้เสียหายทุกคน

ต่อมาช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลนัดประชุมร่วมกับญาติผู้เสียหายอีกครั้ง ภายหลังนางทองพูน พานทอง มารดา น.ส.นฤมล ปิตาทานัง คนขับรถตู้ โดยสารที่เสียชีวิต เผยว่า นัดนี้เป็นการประชุมมาตรการเพื่อเยียวยาทางจิตใจ ระหว่างฝ่ายครอบครัวผู้เสียหายและฝ่ายผู้แทนจำเลย ศาลแยกกลุ่มสอบถามยังไม่ได้ให้พูดคุยกันโดยตรง การประชุมเป็นการสอบถามแต่ละฝ่ายว่ามีความต้องการอะไรบ้าง ศาลแจ้งว่า การพูดคุยนี้เพื่อให้ได้รับการเยียวยาบรรเทาผลร้ายให้น้อยที่สุด ยังไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย ศาลจะนัดประชุมเพื่อพูดคุยกับญาติผู้เสียหายแต่ละรายอีกครั้ง ส่วนตนศาลนัดวันที่ 6 ก.ค.55 เวลา 13.00 น. สุดท้ายยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังที่ยังไม่ใช่การไกล่เกลี่ย และอยากให้พิจารณาคดีให้เสร็จโดยเร็วเพื่อจะได้ความชัดเจนว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด

ส่วนนางยุวดี เยี่ยงยุกดิ์สากล อัยการประจำสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว 1 ฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า หากการประชุมกับกลุ่มผู้เสียหายทุกรายเสร็จเมื่อใดจะทำรายงานเสนอศาล เพื่อกำหนดวันนัดหมายคดีอีกครั้ง ภายในเดือน ก.ค.นี้ ศาลจะกำหนดวันนัดประชุมกลุ่มประมาณ 3 ครั้ง คาดว่าศาลจะนัดจำเลยมาพูดคุยในนัดใดนัดหนึ่งเพื่อพูดคุยถึงการเยียวยาครอบครัวผู้เสียหายต่อไป

...