ขอให้คุ้มครองชั่วคราวมีปัญหาถ้าตัดสัญญาณ

ยูโร 2012 จบแล้ว จอดำตลอดทัวร์นาเมนต์ ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว แจงเกรงประชาชนที่ได้ดูถ่ายทอดอยู่แล้วมีปัญหา ถ้ายูฟ่าตัดสัญญาณการถ่ายทอดทั้งหมด แต่ติงช่อง 3 5 และ 9 เป็นทีวีสาธารณะ มีหน้าที่รับใช้ประชาชน ต้องคำนึงถึงสิทธิ์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ ฝ่ายผู้บริโภคพอใจคำตัดสิน เพราะเป็นแค่ยกคำร้องการคุ้มครองชั่วคราว  แต่ส่วนของคดียังเดินต่อไปในศาล

ที่ห้องพิจารณาคดี 310 ศาลแพ่ง เมื่อเวลา 15.45 น. วันที่ 29 มิ.ย. ศาลนัดฟังคำสั่งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวคดีหมายเลขดำ ผบ.1841/2555 ที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ยื่นฟ้องบริษัทบีอีซี เทโร เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (ทีวีช่อง 3) กองทัพบก (ททบ.5) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (ช่อง 9) และบริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เป็นจำเลย 1-4 ฐานละเมิดและผิดสัญญา ร้องขอคุ้มครองฉุกเฉินให้แพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2012 ก่อนจบการแข่งขันวันที่ 2 ก.ค.นี้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการพิจารณากำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในคดีผู้บริโภค นอกจากศาลจะต้องพิจารณาประโยชน์ของคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ยังต้องพิจารณาประโยชน์และความเสียหายของผู้บริโภคอื่นหรือผลกระทบต่อส่วนรวมโดยรอบด้านด้วย ดังนั้น การพิจารณาหรือมีคำสั่งใดๆ ของศาล จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และสิทธิของผู้บริโภคทั่วไปเป็นประโยชน์ส่วนรวมฝ่ายหนึ่ง กับประโยชน์และสิทธิของปัจเจกชนในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์อันมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการจำหน่าย จ่ายโอน หรือหวงกันสิทธิของตนอีกฝ่ายหนึ่ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ม.47 บัญญัติว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ จำเลยที่ 1 เป็นเอกชนที่ได้เข้าทำสัญญาสัมปทานกับรัฐเพื่อจัดทำบริการสื่อสาธารณะ ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการบริการสื่อสาธารณะอันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ ย่อมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม ดังนั้น การประกอบกิจการ รวมถึงการทำสัญญาซื้อสิทธิหรือให้เช่าเวลาออกอากาศจากเอกชน รวมถึงการถ่ายทอดรายการฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 ระหว่างจำเลยที่ 1-3 กับจำเลยที่ 4 ย่อมต้องกระทำโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนในการเข้าถึงสื่อสาธารณะ แม้จำเลยที่ 1-3 จะมีอำนาจในการแสวงหาประโยชน์โดยชอบจากการได้รับสัมปทานหรือการจัดการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ดังกล่าว แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่กระทบสาระสำคัญของหลักการใช้ทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะตามบท บัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1-3 ทราบดีอยู่แล้วว่าการที่จำเลยที่ 4 ขอเช่าเวลาของทางสถานีเพื่อถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 นั้น เป็นรายการที่มีเนื้อหาอันมีลิขสิทธิ์จากสมาพันธ์ยุโรป และมีเงื่อนไขในการเข้ารหัสเพื่อป้องกันมิให้สัญญาณรั่วไหลออกนอกประเทศ อันจะส่งผลให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งที่รับชมทีวีโดยรับสัญญาณภาพและเสียงผ่านจานหรือกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่ไม่มีรหัส ไม่อาจรับชมรายการฟุตบอลผ่านช่องฟรีทีวีของจำเลยที่ 1-3 ได้ เป็นการกระทบสิทธิของผู้ชมในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของรัฐ ทั้งการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนผังรายการปกติเดิมของช่องสถานี จำเลยที่ 1-3 น่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบเหมาะสมว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นแก่ผู้ชมมากน้อยเพียงใด แม้ปัจจุบันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขอเปลี่ยนผังรายการตาม ม.34 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 แต่ฐานะผู้บริหารจัดการสื่อสาธารณะของรัฐและผู้ประกอบธุรกิจที่มีจริยธรรมที่ดีย่อมต้องใช้ดุลพินิจของตนพิจารณาความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงผังรายการได้เอง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรสื่อสารของชาติ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของตนเป็นสำคัญยิ่งกว่าประโยชน์ในทางธุรกิจ

เมื่อพิจารณาสิทธิของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเอกชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ม.43 บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการหรืออาชีพโดยการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้ง ม.41 ของรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินไว้ ดังนั้น การใช้อำนาจของรัฐทุกองค์กร รวมถึงศาลย่อมต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลในส่วนนี้ การที่ศาลหรือองค์กรของรัฐจะใช้อำนาจหรือออกคำสั่งใดเพื่อล่วงล้ำแดนสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนได้ ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องทำเท่าที่จำเป็น

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังสามารถได้รับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 โดยผ่านสายอากาศรับสัญญาณทั่วไป หรือโดยการรับช่องทางอื่น เช่น อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวในส่วนของจำเลยที่ 1-3 ดังที่โจทก์ทั้ง 5 ขอ สมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) อยู่นอกเขตอำนาจศาลไทย อาจใช้เป็นข้ออ้างเรื่องลิขสิทธิ์ผ่านจำเลยที่ 4 เพื่อระงับการส่งสัญญาณแก่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 ส่วนการระงับสัญญาณเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายผลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์สิทธิ์กันภายหลัง แต่กระทบที่จะเกิดขึ้นทันทีคือ ไม่เพียงแต่โจทก์ทั้ง 5 และผู้บริโภคที่ใช้บริการทำนองเดียวกับโจทก์ทั้ง 5 แล้ว ยังลุกลามไปถึงผู้บริโภคอื่นทั้งประเทศที่อาจไม่ได้รับชมการถ่าย ทอดการแข่งขันฟุตบอลด้วย อันจะเป็นความเสียหายมากมายยิ่งกว่า นอกจากนี้ผลกระทบยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือความน่าเชื่อถือของประเทศที่มีต่อประชาคมโลกเรื่องการรับรองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และอาจ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬารายการอื่น รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคตอันยากที่จะเยียวยาแก้ไข

พิเคราะห์ทางได้เสียของผู้บริโภคโดยรวมและความเสียหายที่จะเกิดแก่จำเลยทั้ง 4 แล้วเห็นว่า กรณียังไม่เป็นการสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวระหว่างการพิจารณามาใช้บังคับในคดีนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาของโจทก์ทั้ง 5 ส่วนคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 4 เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวระหว่างการพิจารณา เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องนี้แล้วจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องค้านของจำเลยที่ 4 อีก ให้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่ว– คราวเพื่อดำเนินการตาม ม.10 พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรม– การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2551

ภายหลังนายณรัช อิ่มสุขศรี เลขานุการศาล แพ่ง แถลงข่าวทันทีว่า ศาลแพ่งคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้บริโภค โจทก์ และผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้รับสิทธิถ่ายทอดบอลยูโร ศาลเข้าใจว่าช่อง 3, 5 และ 9 เป็นโทรทัศน์สาธารณะมีบทบาทต้องรับใช้สิทธิของประชาชน แต่ช่อง 3, 5 และ 9 ทำสัญญากับแกรมมี่ ถ้ามีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว และให้ถ่ายทอดสดใน 2 ระบบ อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์และยูฟ่าอาจจะระงับสัญญาณได้ ทำให้ ประชาชนที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเสาก้างปลาไม่ได้รับชม เมื่อพิจารณาแล้วจึงให้ความคุ้มครองคนส่วนใหญ่ แต่ศาลเขียนในคำสั่งให้ช่อง 3, 5 และ 9 คำนึงถึงสิทธิของประชาชนมากขึ้นในอนาคต กสทช. ต้องกำหนดระเบียบการทำสัญญาระหว่างโทรทัศน์สาธารณะกับบริษัทเอกชน ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า ยอมรับ คำสั่งศาล เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการเตือนผู้ประกอบการธุรกิจให้ตระหนักว่า การทำสัญญาโดยละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ยอมรับกันไม่ได้ หน่วยงานต่างๆของรัฐต้องพิจารณาเงื่อนไขของสัญญาก่อนว่าจะไม่ขัดกับสิทธิการรับรู้ของประชาชน แม้ศาล จะยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ในส่วนของคดียังเดินหน้าต่อไป กรณีนี้สะท้อนว่ากฎหมายของบ้านเราก้าวไม่ทันระบบธุรกิจที่พัฒนาไปเรื่อย อยากให้ทุกหน่วยงานนำเรื่องนี้ไปเป็นบทเรียน และพิจารณาเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้วย ส่วนจะนำคำสั่งศาลไปเสนอต่อ กสทช.หรือไม่นั้น เห็นว่าอาจใช้เนื้อ–หานี้ส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นส่วนวางรากฐานต่อไป

ส่วนนายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการสายงาน Platform Strategy บริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหา และมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อป้องกันปัญหาลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต ต้องพูดคุยและตกลงข้อสัญญาให้มีความชัดเจน เช่น การส่งสัญญาณทางดาวเทียมกับการส่งคลื่นความถี่ทางภาคพื้นดินมีความแตกต่างกันอย่างไร และอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาด้วยหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวหลังหารือร่วมกับ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีจอดำฟุตบอลยูโร 2012 ว่า ได้ข้อสรุปร่วมกัน 1. ต่อไปนี้ฟรีทีวีจะบล็อกสัญญาณไม่ได้ และจะต้องออกกฎหมายมาบังคับใช้ 2. จะกำหนดรายการที่ต้องถ่ายทอด เช่น โอลิมปิก ฟุตบอลโลก หรือรายการสำคัญๆ ที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะไปดำเนินการเป็นเจ้าของเพียงลำพังไม่ได้ และ 3. จะควบคุมสื่อด้านการโฆษณาผ่านทีวีทุกประเภท เนื่องจากขณะนี้ทีวีดาวเทียมที่ออกโฆษณาไม่ได้ขออนุญาต และกลุ่มการทำสัญญาลิขสิทธิ์ทีวีต่อไปต้องควบคุมสัญญาโดย สคบ.จะไปดำเนินกฎกติกา สัปดาห์หน้าจะประกาศกฎกติกาออกมา หมายความว่าหลังจากนี้จะไม่มีใครแทรกแซงกระบวนการของสื่อ

ด้าน น.ส.สุภิญญากล่าวว่า วันที่ 2 ก.ค. กสทช.จะพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการห้ามการบล็อกสัญญาณฟรีทีวี ขณะที่ระยะเวลาการทำร่างกฎหมายประมาณ 3-4 เดือน เนื่องจากมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ทำประชาพิจารณ์ การประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ยืนยันว่าจะออกทันการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิลอย่างแน่นอน นอกจากนี้ วันที่ 5 ก.ค. กสทช.จะเชิญทีวีพูลซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาชี้แจงเป็นหลักประกันว่า จะสามารถรับชมทางฟรีทีวีได้โดยที่ไม่มีการบล็อกสัญญาณ และจะเชิญบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกไว้ล่วงหน้าแล้วมาพูดคุยด้วยว่า จะมีแนวทางอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์จอดำอีก

...