อาชีวศึกษาได้ข้อสรุป แก้ปัญหานักเรียนนักเลง เฉดหัวโจก 130 คน กลุ่มเสี่ยงไปดัดสันดานนอกสถานที่ให้ช่วยเหลือมวลชน 3 เดือน เริ่มต้น  ก.ค.นี้ ติวเข้มบทลงโทษมาตรฐานเดียวกันทุกวิทยาลัย 4 ระดับ ศึกษาปล่อยรถลาดตระเวนป้องกันเหตุตีกัน 2 ช่วง เตรียมประสาน ขสมก.ติดกล้องบนรถเมล์

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษากลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า  ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาทไว้ 4 แนวทาง ได้แก่ 1.มาตรการดูแลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงของรัฐที่มีอยู่ประมาณ 50 คน และเอกชน 80 คน รวม 130 คน ไปเรียนนอกสถานที่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยใช้หลักสูตรเข้มข้น มีครู พระ และทหารดูแล เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.นี้เป็นต้นไป ใช้รูปแบบการช่วยเหลือ เหมือนในช่วงเกิดเหตุสึนามิ เช่น การสร้างบ้านแบบน็อกดาวน์และยานพาหนะช่วยชีวิต 2.มาตรการดูแลเด็กกลุ่มปกติ 32,000 คน โดยสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจ เน้นการพัฒนาจิตในวัดและมัสยิด 3.มาตรการดูแลติดตามและประสานงาน 4.กำหนดให้มีคณะทำงานในการคิดหาแนวทางบังคับให้ทุกวิทยาลัยใช้แนวทางร่วมกันเพื่อทำให้นักเรียนอาชีวศึกษามีความสุขในการเรียน

สำหรับระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาโทษนักเรียน นักศึกษานั้น นายชัยพฤกษ์กล่าวว่า จะมีการปรับปรุงให้ใช้เกณฑ์การลงโทษที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกวิทยาลัย มีโทษ 4 ระดับ คือ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2. ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ โดยผู้มีอำนาจสั่งตัดคะแนนความประพฤติได้ครั้งละไม่เกิน 51 คะแนน รอง ผอ.หัวหน้าฝ่ายปกครอง ครั้งละไม่เกิน 10 คะแนน และ ผอ.วิทยาลัย ครั้งละไม่เกิน 30 คะแนน ในกรณีดังต่อไปนี้ หนีเรียน เล่นการพนัน พกอาวุธปืนหรือระเบิด ซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยนสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติด ลักทรัพย์ ก่อเหตุทะเลาะวิวาทโดยใช้อาวุธ เป็นต้น และ 4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ ขโมยทรัพย์สินของวิทยาลัย หรือของบุคคลอื่นโดยปรากฏหลักฐานชัดเจน ความผิดโดยคณะกรรมการปกครองนักเรียนเห็นว่าเป็นความผิดสถานหนัก ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อวิทยาลัย หรือชุมชน เรียกร้องชุมนุมประท้วงต่างๆโดยมิชอบ เป็นผู้นำในการซ่องสุม ก่อกวนความสงบเรียบร้อย ยกพวกก่อการทะเลาะวิวาท ขาดเรียนเกิน 15 วัน เป็นต้น ทั้งนี้หากมีการตัดคะแนนความประพฤติตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป ให้เชิญบิดามารดา หรือผู้ปกครองมารับทราบด้วย ส่วนการจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศธ.กำหนด

ในวันเดียวกัน ที่กระทรวงศึกษาธิการ หน้าอาคารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถลาดตระเวนเฝ้าระวังเหตุ เพื่อป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา อาชีวศึกษา เพื่อประจำที่ศูนย์ป้องกันเหตุทะเลาะวิวาท 4 ศูนย์รอบ กทม.และปริมณฑล ได้แก่ ศูนย์จตุจักร, ศูนย์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ศูนย์สวนหลวง ร.9 และศูนย์ธนบุรี นายศักดากล่าวว่า รถลาดตระเวนจะช่วยลดปัญหาการทะเลาะวิวาทได้ในระดับหนึ่ง โดยจะดูแลพื้นที่ 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเช้าก่อนเข้าเรียนถึงบ่าย และช่วงเย็น หลังเลิกเรียนถึงเวลา 20.00 น. นอกจากนี้ยังประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ซึ่งเตรียมติดกล้องวงจรปิดภายในรถเมล์ทุกคัน จึงได้เสนอให้ ขสมก.หันหน้ากล้อง 1 ตัวออกด้านนอกตัวรถทางซ้ายมือ ซึ่งจะส่องให้เห็นภาพความเป็นไปบนทางเท้ารอบกรุง เพื่อตรวจจับการรวมกลุ่มก่อเหตุของนักศึกษา รวมไปถึงจับตาดูเหล่ามิจฉาชีพทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการปล้น จี้ ฉกชิงวิ่งราว หรือวางระเบิด เพื่อป้องกันอาชญากรรมทุกประเภทในกรุงเทพฯ และรถเมล์ของ ขสมก. ก็วิ่งตลอด 24 ชั่วโมง เปรียบเหมือนมีตาวิเศษ หรือตาทิพย์ สอดส่องทุกพื้นที่เพื่อป้องกันอาชญากรรม

ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เร่งกำชับให้วิทยาลัยกลุ่มเสี่ยงทุกแห่งส่งนักเรียนทุกคนไปเข้ารับปฏิบัติธรรมที่วัดทันที ความจริงแล้วมอบนโยบายนี้ไปตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน แต่ปรากฏว่าหลายแห่งก็ยังไม่ส่งนักเรียนไปอบรมปฏิบัติธรรม จึงได้กำชับไปอีกครั้ง หากสถานศึกษาแห่งใดไม่ยอมปฏิบัติตามแล้วเกิดเรื่องขึ้นมาอีกก็จะต้องรับผิดชอบ

...