กระทรวงพาณิชย์ ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร “ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เทิดทูนพระอัจฉริยภาพในฐานะกษัตริย์นักประดิษฐ์ เผยก่อนหน้าได้นำไปใช้บำบัดน้ำเสียที่วัดพุทธคยา ประเทศอินเดีย จนน้ำใสสะอาดมาแล้ว แนะคนไทยเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีไทย
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช สำหรับการประดิษฐ์ “ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ”
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรแด่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช สำหรับการประดิษฐ์ “ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ” เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ว่า สิทธิบัตรที่นำขึ้นทูลเกล้าฯฉบับนี้ เป็นสิทธิบัตรที่ต่อยอดมาจากกังหันน้ำชัยพัฒนา และเครื่องกลเติมอากาศอัดอากาศและดูดน้ำ ซึ่งเป็นสิทธิบัตร 2 ฉบับแรกที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นการประดิษฐ์จากพระราชดำริในการพัฒนาระบบการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้พืชที่มีคุณสมบัติในการดูดซับของเสียได้ดี ทำงาน ร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทูลเกล้าฯถวายจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรเลขที่ 29091 ไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.53
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาส 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสิทธิบัตรระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศฉบับนี้ให้มูลนิธิพระดาบส ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนานำไปติดตั้ง ณ สระมุจจลินท์ วัดพระศรีมหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยา ประเทศอินเดีย ที่น้ำกำลังจะเน่าเสีย เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ภายหลังการติดตั้ง ปรากฏว่าให้ผลในการบำบัดและปรับปรุงจนน้ำในสระมีคุณภาพที่ดีขึ้นจากเดิมมาก แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ ในการที่ทรงเป็นกษัตริย์นักประดิษฐ์ จนเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรทั้งชาวไทยและต่างประเทศ กระทรวงขอเชิญชวนประชาชนให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ พัฒนาเทคโนโลยีของไทยขึ้นมาใช้เอง และการรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานที่ได้คิดค้นขึ้น รวมทั้งใช้ทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์ สนองแนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และช่วยเสริมระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเป็นที่ประจักษ์ และทรงให้ความสำคัญต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างมาก โดยได้ทรงยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ต่างๆของพระองค์ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายการรับจด ทะเบียนสิทธิบัตรแล้วรวม 11 ฉบับ สิทธิแต่ละฉบับได้ใช้ในโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทย โดยสิทธิบัตรฉบับแรกที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวาย ได้แก่ การประ-ดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ หรือการใช้น้ำดีบำบัดน้ำเสีย ฉบับที่สอง เป็นการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ” ที่ทรงพัฒนาเครื่องกลเติมอากาศอีกรูปแบบหนึ่งให้สามารถเติมอากาศได้ทั้งในระดับผิวน้ำและในระดับน้ำที่ลึกลงไปด้านล่างของแหล่งน้ำ ทำให้สามารถเติมอากาศในแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและแพร่กระจายได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สิทธิบัตรที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ สิทธิบัตร “ฝนหลวง” ซึ่งนอกจากจะใช้ในการบรรเทาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปภายในประเทศ เช่น ภาวะภัยแล้ง ปัญหาหมอกควัน ยังมีประเทศต่างๆ หลายประเทศที่ขอพระราชทานฝนหลวงไปเพื่อบรรเทาภาวะภัยแล้งในประเทศของตนอีกด้วย ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ส่วนปีที่ผ่านมาทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตร 2 ฉบับ คือ “เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์” ทรงโปรดให้เรียกว่า อุทกพลวัต นอกเหนือจากจะใช้เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยอาศัยพลังงานจากน้ำไหล ซึ่งติดตั้งที่โครงการพระราชดำริคลองลัดโพธิ์แล้ว เมื่อครั้งมหาอุทกภัยปลายปีที่ผ่านมา การประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรสองฉบับนี้ได้ใช้เป็นเครื่องผลักดันน้ำเพื่อให้น้ำสามารถไหลลงสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น
...