ต้องชดใช้1,132ล. ยังมีอีก8สำนวน อีกรายพนักงาน กรุงไทยคุก120ปี
ศาลสั่งจำคุก 10 ปี พ่อมดการเงิน “ราเกซ สักเสนา” โกงแบงก์บีบีซี คดีปล่อยสินเชื่อบริษัทตัวเองมูลค่า 1,657 ล้านบาท เป็นสำนวนแรกใน 9 สำนวนที่ถูกฟ้อง พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่ 1,132 ล้านบาท เจ้าตัวถึงกับแสดงอาการอิดโรยฟังคำพิพากษา มีล่ามแปลภาษาแบบคำต่อคำ อีกรายอดีตพนักงานธนาคารกรุงไทยทุจริตเบียดบังเงินลูกค้าที่ไปชำระค่าโทรศัพท์ 24 ครั้ง จำนวนเงิน 32,622 บาท เจอศาลตัดสินลงโทษ 24 กระทง รวมจำคุก 120 ปี จำเลยสารภาพลดเหลือ 60 ปี
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 8 มิ.ย. ศาลมีคำพิพากษาในคดีนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษานายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือบีบีซี เป็นจำเลยฐานเบียดบังทรัพย์สินโดยทุจริตก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ระบบการเงิน ตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ กรณีเปิดสินเชื่อให้บริษัท ซิตี้เทรดดิ้งคอปเปอร์เรชั่น จำกัด จำนวน 1,657 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 9 สำนวนที่ถูกฟ้อง โดยนายราเกซถูกอัยการตามตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมารับโทษในประเทศไทย หลังหลบหนีคดีไปที่ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี 37 ขณะที่นายเกริกเกียรติรับโทษในเมืองไทยจนเกือบครบทุกสำนวนแล้ว
คำพิพากษาใจความว่า เมื่อปี 35-38 นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ตั้งจำเลยเป็นที่ปรึกษา ทั้ง 2 ได้ ตั้งบริษัทขึ้นมาถึง 60 บริษัท โดยไม่มีการดำเนินกิจการจริง มีทุนจดทะเบียนเพียงแห่งละ 10,000 บาท กระทั่งปี 38 จำเลยกับนายราเกซได้อนุมัติสินเชื่อระยะสั้น ให้กับบริษัทซิตี้เทรดดิ้งคอปเปอร์เรชั่น จำกัด ของจำเลยมาทำทีกู้เงินไป มีโฉนดที่ดินใน จ.กำแพงเพชร และ จ.ปราจีนบุรี มูลค่า 1,350 ล้านบาท กับหุ้นของบริษัทนิติบุคคลต่างๆ 3 รายมาค้ำประกัน โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏต่อมาว่า ที่ดินดังกล่าวมีราคาเพียง 26.9 ล้านบาทเท่านั้น
พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยและนายเกริกเกียรติอนุมัติเงินกู้เอง โดยไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ หลักประกัน กำไรที่จะได้จากการอนุมัติเงินกู้ ทั้งที่เป็นเงินกู้รายใหญ่เกิน 30 ล้านบาท และใช้บัตรอนุมัติเงินกู้ทั้งที่รู้ว่าผู้กู้ไม่มีความสามารถที่จะใช้เงินคืน เมื่อรับเงินไปแล้วก็นำไปชำระหนี้แก่บริษัทพวกของจำเลยในต่างประเทศ มีเส้นทางการโอนเงินชัดเจน พยานจำเลยไม่มีน้ำหนัก ไม่มีเหตุผลน่ารับฟัง
ศาลจึงฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับนายเกริกเกียรติเบียดบังเงิน 1,657 ล้านบาทไปโดยทุจริต ทำให้เสียหายแก่ธนาคาร และผู้ฝากเงิน จำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่นายราเกซจำเลยเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ คงเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท ถ้าไม่จ่ายค่าปรับให้กักขัง 2 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่แก่ธนาคารบีบีซี 1,132 ล้านบาท ทั้งนี้ ระหว่างฟังคำพิพากษา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายราเกซมีอาการอ่อนระโหยตลอดเวลาและต้องใช้ล่ามแปลแทบจะคำต่อคำ
ที่ศาลอาญา วันเดียวกัน ศาลอ่านคำพิพากษาคดีนายสุรพล หรือวรพล ภานุโสภา อายุ 45 ปี อดีตพนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเตียน เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่จัดทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต เหตุเกิดระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค.40 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานระดับ 5 มีหน้าที่ให้บริการลูกค้ารับฝากเงิน และทำธุรกรรมการเงินทั้งในและนอกสถานที่ ไปรับเงินจากสมาชิกสหกรณ์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และสมาชิกสหกรณ์ สำนักงานอัยการสูงสุด ลูกค้าของธนาคารเพื่อนำไปชำระค่าโทรศัพท์ แต่กลับเบียดบังเงินที่รับชำระจำนวน 24 ครั้ง รวมเป็นเงิน 32,622 บาท ต่อมาธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย เข้าแจ้งความร้องทุกข์และตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีมติให้ไล่ออก และให้ชดใช้เงินค่าเสียหายทั้งหมด จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน แต่ให้การรับสารภาพในชั้นศาล พร้อมชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายครบแล้ว
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมจำนวน 24 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 120 ปี คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 60 ปี แต่กฎหมายบัญญัติให้จำคุกจำเลยสูงสุดไว้ 50 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 50 ปี
...