บขส.เล็งไว้2แห่ง-ย้ายหมอชิต2

คมนาคมเตรียมแผนกู้ ทางหลวง 340 “บางบัวทอง-สุพรรณ” 12 กิโลฯ ใช้แท่งคอนกรีต-บิ๊กแบ็กกั้นถนนแล้วสูบน้ำออกเปิดประตูสู่ภาคใต้ ดอนเมืองโทลล์เวย์ยืดเวลาเก็บค่าผ่านทางถึง 12 พ.ย. บขส.เล็งสำรองย้ายจากหมอชิตไปประตูน้ำพระอินทร์ หรือสุวรรณ– ภูมิ ชาวบ้านโวยโดนตะปูเรือใบวางยารถทหารยางแตก หวังขูดรีดค่าเรือจ้างสุดโหด บช.น.ปรับทัพรับวิกฤติน้ำ เปิดศูนย์ช่วยประชาชน 24 ชั่วโมง ส่วนกรมการค้าบ้อท่า สารภาพคุมราคาไข่ไม่ได้

วิกฤติอุทกภัยที่ค่อยๆรุกคืบสู่ใจกลางเมืองหลวงเข้าไปทุกขณะ ล่าสุด ท่วมถึงห้าแยกลาดพร้าว ส่งผลให้ การดำรงชีวิตของชาวกรุงต้องปรับเปลี่ยน เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังจะมาเยือนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่เป็นปัญหา ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 พ.ย. ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร บก.02 ได้แจ้งเส้นทางปิดการจราจร และเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยงจากน้ำท่วมขัง มวลน้ำเข้าท่วมพื้นที่เพิ่มเติม ดังนี้ ทิศเหนือ ถนนสายหลัก ถนนวิภาวดีรังสิต ขาเข้า-ขาออก ขยาย พื้นที่ปิดการจราจร ถึงต่างระดับรัชวิภา ถนนพหลโยธิน ขาเข้า-ขาออก ขยายพื้นที่ปิดการจราจร ถึงแยกรัชโยธิน และถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกรัชโยธิน ถึงทางต่างระดับรัชวิภา ทิศเหนือ ถนนสายรอง ปิดการจราจรเพิ่มเติม 4 สาย ได้แก่ ถนนพระยาสุเรนทร์ ถนน เทอดราชันย์ ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 และถนนช่างอากาศอุทิศ ทั้งหมดนี้ปิดการจราจรตลอดสาย

ทิศตะวันตก ถนนสายรอง ปิดการจราจรเพิ่ม 11 สาย ได้แก่ 1. ถนนกาญจนาภิเษก จากสะพานข้ามคลอง มหาสวัสดิ์ ถึงคลองบางไผ่ 2. ถนนราชพฤกษ์ ตั้งแต่ตัด ถนนบรมราชชนนี ถึงสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ 3. ถนนสวนผัก ตั้งแต่แยกกาญจนา ถึงสะพานข้ามทางรถไฟ 4. ถนนบางระมาด ตั้งแต่ตัดถนนกาญจนาภิเษก ถึงตัดถนนราชพฤกษ์ 5. ถนนทวีวัฒนา ตั้งแต่คลองทวีวัฒนา ถึงตัดถนนกาญจนาภิเษก 6. ถนนทวีวัฒนา ตั้งแต่ประตูระบายน้ำทวีวัฒนา ถึงคลองบางไผ่ 7. ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตั้งแต่ขนส่งรถไฟสายใต้ ถึงคลองบางไผ่ 8. ถนนทุ่งมังกร ตั้งแต่ตัดถนนบรมราชชนนี ถึงตัดถนนสวนผัก 9. ถนนฉิมพลี ตั้งแต่แยกทุ่งมังกรถึงหน้า สน.ตลิ่งชัน 10. ถนนชัยพฤกษ์ตั้งแต่ตัด ถนนบรมราชชนนี ถึงตัดวัดชัยพฤกษ์ และ 11. ถนนบางแวก ตั้งแต่คลองทวีวัฒนา ถึง สน.บางเสาธง

ทางด้านรถไฟฟ้าใต้ดิน นายชาติชาย ประดิษพงษ์ ผู้อำนวยการงานส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรม บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ผู้ให้ บริการเดินรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที เปิดเผยว่า บริษัทคงให้บริการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินตามปกติทุกสถานี แม้จะมีน้ำท่วมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีพหลโยธินและจตุจักร แต่ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด โดยให้เพิ่มความถี่ในการตรวจระดับน้ำทุกชั่วโมง โดยเฉพาะที่สถานีพหลโยธิน ซึ่งมีทางเข้าออก 5 แห่ง ได้ติดตั้งผนังป้องกันน้ำแล้วเสร็จ 100% จำนวน 2 แห่ง ติดตั้งผนังป้องกันน้ำบางส่วน 1 แห่ง และเปิดปกติ 2 แห่ง บริเวณทางเข้า-ออกด้านถนนลาดพร้าวซอย 1 และห้างยูเนี่ยนมอลล์ หากระดับน้ำสูงถึงบันไดขั้นที่ 2 ของสถานี หรือมีความสูงจากถนนประมาณ 40 ซม. จะปิดทางเข้าออกทั้งหมดทันที ส่วนสถานีอื่นๆนั้น มีการเฝ้าระวังระดับน้ำ รวมทั้งได้ติดตั้งผนังป้องกันน้ำที่สถานีทุกแห่งประมาณ 50% แล้ว ส่วนการพิจารณาหยุดการให้บริการเดินรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีนั้น ขึ้นอยู่กับสถาน– การณ์ เช่น อาจหยุดให้บริการที่สถานีใดสถานีหนึ่ง หรือหยุดให้บริการทั้งหมด

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เนื่องจากปริมาณน้ำจำนวนมากได้ผ่านถนนเพชรเกษมไปยังถนนพระราม 2 ถือว่าเป็นเส้นทางสายสำคัญและเป็นเส้นเดียวที่จะเดินทางไปยังภาคใต้ได้ล่าสุดได้ข้อสรุปว่ากระทรวงคมนาคมจะใช้วิธีการกู้ทางหลวงหมายเลข 340 เส้นทางบางบัวทอง-สุพรรณบุรี เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ และสามารถเชื่อมต่อจากจังหวัดสุพรรณบุรีอ้อมไปออก จ.นครปฐม เพื่อต่อไปยังภาคใต้ได้ ซึ่งในขณะนี้เส้นทางดังกล่าว ปริมาณน้ำได้เริ่มลดลงแล้ว แต่ยังอยู่ในปริมาณสูงระดับ 0.80-1.2 เมตร วิธีการกู้ถนนนั้นจะใช้ท่อคอนกรีตเสริมเหล็กและกระสอบทรายขนาดใหญ่เพื่อนำมากั้นเส้นทางถนน จากนั้นจะดำเนินการสูบน้ำออก เพื่อเปิดให้รถสามารถสัญจรในเส้นทางดังกล่าวได้ 3 ช่องทาง รวมระยะทางประมาณ 12 กม. เริ่มจากบางใหญ่หน้าหมู่บ้านสมบัติศิริ ไปยังบางบัวทอง เข้าสู่เส้นทางสุพรรณบุรี บริเวณวัดไผ่โรงวัวเพื่อที่จะตัดไปออกนครปฐมเพื่อเดินทางสู่ภาคใต้ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันจันทร์ที่ 7 พ.ย.นี้ ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการสั่งอุปกรณ์เครื่องมือ คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. โดยกระทรวงคมนาคมจะใช้ช่างจากกรมทางหลวง ระดมมาจากแขวงการทางในพื้นที่ จ.เพชรบุรี หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ทำหนังสือส่งตรงถึงบริษัททางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ขอความร่วมมือขยายเวลา งดเก็บค่าผ่านทางโทลล์เวย์ จากเดิมถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งผู้บริหารดอนเมืองโทลล์เวย์ ได้ประชุมและมีมติขยายระยะเวลางดเก็บค่าผ่านทางถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่12พ.ย.นี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการสัญจรบริเวณถนนวิภาวดีฯ

ขณะที่นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่ง จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ บขส.ยังไม่ตัดสินใจย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 เนื่องจากมั่นใจว่าหากรัฐบาลสามารถวางบิ๊กแบ็กเสร็จสิ้นภายในวันนี้ จะช่วยสกัดน้ำที่จะเข้ามาภายในสถานีขนส่งได้ นอกจากนี้ บขส.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง ทาง  กทม.ยืนยันว่าน้ำจะไม่ไหลเข้าท่วมสถานีขนส่งหมอชิต 2 หรือหากมีการไหลเข้าท่วมจะไม่กระทบต่อการปฏิบัติงานของ บขส. เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง อย่างไรก็ดี บขส.ได้มีการซักซ้อมแผนหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่สถานีขนส่ง โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถย้ายรถโดยสารที่อยู่ภายในสถานีออกจากพื้นที่ได้ภายใน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ บขส.ได้ประสาน ขสมก. เพื่ออำนวยความสะดวก ในกรณีต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ โดยได้จัดหาสถานีขนส่งสำรองไว้แล้ว 2 แห่ง คือบริเวณประตูน้ำพระอินทร์ หรือบริเวณสถานีสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ซึ่งสถานที่ทั้ง 2 แห่งนี้มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก บช.น. กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขยายวงกว้างขวางมากขึ้น สถานีตำรวจบางแห่งก็ถูกน้ำท่วม มีเส้นทางจราจรไม่สามารถใช้การได้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วินัย ทองสอง รรท.ผบช.น. ดำเนินการตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและการจราจรส่วนหน้า ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ได้แก่ บก.น.2, 3, 7, 8 และ 9 โดยตั้งศูนย์ในพื้นที่ดอน ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งรถและเรือ เช่น เชิงสะพานปิ่นเกล้า เชิงสะพานซังฮี้ ทางลงด่วนรามอินทรา วงเวียนใหญ่ ทางลงด่วนศรีสมาน ถนนกาญจนาภิเษกใกล้เดอะมอลล์บางแค และมหาวิทยาลัยสยาม เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือต่างๆ รับ-ส่งประชาชน มีโรงครัวทำอาหาร แพทย์และพยาบาล เป็นจุดรับสิ่งของบริจาค แนะนำเส้นทางจราจร ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม รวมทั้งการรับแจ้งเหตุ แจ้งความคดีอาชญากรรม โดยปฏิบัติหน้าที่ตลอด24ชั่วโมง

โฆษก บช.น.กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่ บช.น.ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพนังกั้นบริเวณคลองประปา 2 คืนที่ผ่านมา ยังไม่พบการรื้อพนังกั้นน้ำแต่อย่างใด อีกทั้งพบว่ามีชาวบ้านช่วยตำรวจในการออกตรวจตราด้วย จากการตรวจสอบเบื้องต้น สาเหตุพนังกั้นน้ำพังมี 3 สาเหตุ คือถุงทรายที่กั้นน้ำบางจุดเปื่อย ชาวบ้านที่ใช้เรืออาจจะยกข้าม หรือชนพนังโดยไม่ได้ตั้งใจ และคนที่มาตกปลา จับปลาจำนวนมาก เหยียบไปบนพนังกั้นทำให้เสียหาย ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจตราห้ามไม่ให้ตกปลาบริเวณดังกล่าว ส่วนกรณีรถขนาดใหญ่ที่รับ-ส่งคนและส่งสิ่งของช่วยเหลือชาวบ้าน ถูกวางเรือใบและตะปูล้มลุกนั้น พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า เกิดขึ้นในพื้นที่รอบนอกย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี แต่ไม่ใช่ปัญหาอาชญากรรม สาเหตุอาจเกิดจากพวกหากินทางเรือ หรือรถวิ่งน้ำกระเพื่อม ทำให้คันกั้นน้ำของชาวบ้านเสียหายมากกว่า

ผู้สื่อข่าว ได้รับการเปิดเผยจากผู้ประสบภัยรายหนึ่ง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเศรษณีลากูน ซอยวัดลาดปลาดุก ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ว่าบ้านถูกน้ำท่วมขังในระดับสูงมาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้การเดินทางเข้าออกลำบากมาก ระดับน้ำท่วมสูงถึงเอว รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ต้องอาศัยรถทหารและเรือรับจ้าง เดิมมีรถเจ้าหน้าที่ทหารคอยรับ-ส่ง แต่เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา รถทหารที่เคยเข้าไปช่วยเหลือรับส่งมีน้อยลง นานๆถึงจะโผล่มาให้เห็นสักคัน ผู้ประสบภัยบางคนที่มีลูกเล็กเด็กแดง ต้องหอบลูกมายืนตากแดดรอรถนานหลายชั่วโมง สอบถามเจ้าหน้าที่ทหารทำให้ทราบว่าเมื่อหลายวันก่อนมีคนกลุ่มหนึ่งนำปืนออกมาไล่ยิงรถทหาร ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารไม่กล้านำรถเข้าไปรับผู้ประสบภัย นอกจากนี้ กลุ่มผู้ไม่หวังดียังนำตะปูเรือใบมาโรยตลอดเส้นทางเข้าวัดลาดปลาดุก ทำให้รถบรรทุกของเอกชนและรถทหารที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยยางล้อแตกไปหลายคัน เชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มเรือรับจ้างที่เข้าไปหากิน เรียกค่าโดยสารแพงสุดโหด ซ้ำเติมผู้ประสบภัย อยากเรียกร้องให้ตำรวจเข้าไปจัดการกับคนกลุ่มนี้ด้วย

สำหรับปัญหาสินค้าแพงและขาดแคลน นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการควบคุมราคาสินค้าโดยเฉพาะไข่ไก่ที่ขายเกินราคานั้น ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ การกระจายขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความลำบาก ไม่สะดวก และมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่สมเหตุสมผลตามสถานการณ์ จะไปควบคุมไม่ได้ เพราะตอนนี้น้ำท่วมและเงื่อนไขผิดไปจากข้อเท็จจริง หากจะไปควบคุมแบบภาวะปกติจะถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นธรรม จึงทำไม่ได้ แม้สินค้าไข่ไก่จะเป็นสินค้าควบคุม แต่เกษตรกรรายย่อย รายจิ๋ว ต้นทุนสูงขึ้น จึงไปคุมราคาปลายทางไม่ได้ เพราะต้นทางราคาสูง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจะไปกำหนดให้ขายตามราคาเดิมไม่ได้ ระบบจะป่วนจนสร้างปัญหาขึ้นมาอีก
ในส่วนการนำเข้าไข่ไก่จากฮ่องกงนั้น ขณะนี้นำเข้ามาแล้ว 3 ล้านฟอง แต่ยังติดปัญหาเรื่องการรับรองโรคจากกรมปศุสัตว์ จึงยังไม่สามารถนำออกมาจำหน่ายให้ประชาชนได้ และยังไม่ทราบว่าต้องใช้เวลานานเท่าใด ต้องแช่ไข่ไก่ไว้ในห้องเย็น ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ได้ระดมน้ำมาจากต่างจังหวัดวันละ 1 ล้านขวด ส่วนการนำเข้านั้น นำเข้ามาน้อยมาก เพราะราคาสูงจากต้นทุนเรื่องค่าขนส่งและค่าบรรจุภัณฑ์ ที่แพงกว่าผลิตในประเทศ แต่การเปิดให้นำเข้าสร้างผลทางจิตวิทยา ที่เอาเข้ามาได้ คือ น้ำแร่ สำหรับปลากระป๋องนำเข้ามาจากเวียดนาม ซึ่งไทยไปตั้งฐานการผลิตที่นั่น อยู่ระหว่างดำเนินการนำเข้ามา ตอนนี้ส่งออเดอร์ไปเวียดนามแล้ว จะเข้ามากลางเดือน พ.ย.นี้ จำนวน 3 ล้านกระป๋อง

...