ใครที่ผ่านไปมาแถวตลาดนัดสวนจตุจักรในช่วงเสาร์-อาทิตย์ คงต้องเคยได้ยินเสียงดนตรีไทยสุดคึกคักของวัยรุ่นกลุ่มนี้ พวกเขาสามารถสร้างความแปลกใจ น่าสนใจ และเพลิดเพลินใจได้ทุกครั้งที่ได้ยิน จนถนนคนเดินในตลาดนัดแห่งนี้ต้องเกิดการจราจรติดขัดเพราะหยุดฟังเสียงเพลงเป็นประจำ


หากเสียงเพลงที่พวกเขาบรรเลงอยู่เป็นเพียงแค่ความนึกสนุกเหมือนกับวัยรุ่นที่เล่นเปิดหมวกทั่วๆ ไปก็คงดี แต่มันก็กลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นมันคืออาชีพที่เลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดจากความยากจนที่ไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวเอง

ไอติม-คัมภีร์ สุวรรณหงษ์ หนุ่มวัย 22 ปีจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็น 1 ใน 4 พี่น้องที่เริ่มทำวงดนตรีไทยเปิดหมวกจนถูกใจคนผ่านไปมา บอกว่า เป็นเพราะครอบครัวยากจน เลยต้องเดินทางจากบุรีรัมย์ตามพี่ชายที่เข้ามาทำงานอยู่ก่อน ส่วนตัวเองตามมาหลังจากที่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัย พร้อมกับน้องชาย จากพื้นฐานของครอบครัวซึ่งมีคุณตา เป็นลิเกเก่า จึงสอนพวกเขาเล่นดนตรีตั้งแต่เด็กๆ เลยทำให้มีพื้นฐานในการเล่น และจากของขวัญชิ้นสุดท้ายที่ตาได้ให้พวกเขาไว้วันนั้น ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ให้พวกขาหารายได้มาเลี้ยงชีวิต และส่งตัวเองเรียนหนังสือไปด้วย

"เรามีกันอยู่ 4 คนพี่น้องเป็นผู้ชายหมด ตอนแรกพี่ผมเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯก่อน แล้วผมกับน้องชายก็ตามๆ กันมา เพราะมาเรียนหนังสือ แต่พอดีที่บ้านทำนา ฐานะไม่ค่อยดีครับ จะให้พ่อแม่ส่งเรียนหนังสือ หรือเลี้ยงดูเรา 4 คน ก็คงไม่ไหว เลยต้องทำงานด้วยเรียนด้วย   ตอนแรกก็คิดๆ กันว่าจะทำไรดี พี่ชายคนที่ 2 ก็ชวนให้ตั้งวงเล่นดนตรีเปิดหมวกดีกว่า เพราะพวกเราก็เล่นกันได้ ที่แรกที่ไปเล่นก็ที่สวนจตุจักร แต่ตอนนั้นก็ไม่ค่อยมีใครสนใจมากเท่าไหร่ เลยคิดเปลี่ยนแนวทางการเล่นใหม่ เริ่มแกะเพลงสากลบ้างอย่าง Hotel california, zombie, yesterday once more และ เพลงไทยที่ฮิตๆบ้าง ก็ดีขึ้น จนตอนนี้เราทำมาได้ 8 เดือน และมีสมาชิกทั้งหมด 8 คนครับ แต่บางทีก็มาไม่ครบ แล้วแต่ว่าใครว่างก็มาเล่นครับ"

...


สิ่งที่พวกเขาทำอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเป็นวัยรุ่นทั่วไปอาจไม่ใช่วิถีที่อยากจะทำ แต่สำหรับวัยรุ่นกลุ่มนี้เขาบอกอย่างเต็มปากเลยว่า ไม่อาย และไม่สนใจด้วยว่าใครจะมองพวกเขาแบบไหน เพราะสิ่งที่พวกเขาทำคือการสร้างอนาคตที่ดีในวันหน้าให้สบายกว่าที่เป็นอยู่

"เคยนั่งเล่นริมถนนอยู่ แล้วบังเอิญเจอเพื่อนที่มหาวิทยาลัยฯ บางทีก็เจอครู ผมก็ยิ้มนะ ไม่ได้อาย เพราะไม่ได้ทำสิ่งไม่ดี มันเป็นอาชีพสุจริตนะครับ และพวกเราก็ตั้งใจแกะเพลง ตั้งใจเล่น ไม่ได้มาทำเพื่อเรียกร้องความสงสารใคร พวกเราแต่งตัวกันปกติ ขายฝีมืออย่างเดียว เวลาไปเล่นอุปสรรคมันก็มีบ้าง พ่อค้า แม่ค้าบางคนเขาก็บ่นหนวกหู เราก็ต้องเปลี่ยนที่ บางทีเจอเทศกิจไล่จนตอนนี้รู้จักกันหมดแล้วครับ (หัวเราะ)"


ภาพลักษณ์ที่เห็นกับสิ่งที่พวกเขาคิดคือความต่างที่น่าแปลกใจพอๆ กับดนตรีที่พวกเขานำเสนอ แต่ด้วยความลำบากที่เค้าสัมผัสจนเหมือนเป็นเงาตามตัว เลยทำให้พวกเขาคิดได้ว่าสิ่งที่จะต้องทำมันมากกว่าแค่สนุกไปวันๆ

"พวกเราคิดเสมอว่าวันนึงอนาคตจะต้องดีกว่านี้ การเล่นดนตรีเปิดหมวกมันเหมือนเป็นการหาเงินเพื่อมาปูชีวิตเราในวันหน้า เพราะถ้าผมไม่ได้เงินจากตรงนี้ก็คงไม่มีค่าเทอมไปจ่ายหรอก ในอนาคตเลยคิดไว้ว่า ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเล่นดนตรีจนเป็นคนที่พอมีชื่อเสียงบ้าง แต่ถ้าอายุเยอะขึ้น ก็อยากมีอาชีพที่มั่นคง เป็นครูสอนดนตรีไทย หรือสากลก็ได้ครับ จะได้มีเงินเลี้ยงพ่อแม่ให้สบายขึ้นกว่าตอนนี้ "

การเล่นดนตรีเปิดหมวกใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคเกิดขึ้นกับพวกเขา เพราะในช่วงที่เกิดสงครามกีฬาสีนั้น พาให้พวกเขาต้องหยุดเล่นที่ย่านสยามสแควร์ไปเลย

"ช่วงนั้นก็ต้องหยุดเล่นที่สยามสแควร์เลยครับ ก็เสียรายได้นิดหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร ไม่อยากโทษใครเลยครับ เพราะเงินที่ได้มาส่วนใหญ่มันแล้วแต่ว่าคนที่เขาผ่านไปมา ว่าพอใจแค่ไหน เขาก็ให้ตามกำลังที่เขามี ผมเลยไม่อยากโทษทั้งฝ่ายประท้วงหรือรัฐบาลเลย แต่ขออย่างหนึ่งอยากให้ส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมไทย ดนตรีไทยกันให้มากๆ และเปิดโอกาสให้คนที่ด้อยกว่าได้ทำสิ่งที่อยากทำบ้าง บางทีพวกผมก็อิจฉาหมีแพนด้านิดๆนะ เพราะอยากดังเหมือนมันบ้าง (หัวเราะ)"

...



ได้ฟังสิ่งที่พวกเขาพูดก็พานึกถึงกลุ่มวัยรุ่นที่สนุกสนานไปวันๆ บ้างก็ซิ่งมอเตอร์ไซค์ หรือไปชกต่อยจนถึงขั้นเสียชีวิต วันนี้ได้โอกาสมาเจอวัยรุ่นกลุ่มนี้เลยถามเขาเป็นคำถามสุดท้ายก่อนจะปล่อยให้เล่นดนตรีกันต่อ ซึ่งก็ได้คำตอบมาว่า

"ผมก็ไม่รู้จักพวกเขานะ แต่เท่าที่เห็นก็มองว่ามันสิ้นเปลือง เสียดายเงินแทนจริงๆ เคยมีเหมือนกันนะครับ พวกลูกคนงานก่อสร้าง ภารโรง มันชอบไปแว้นกัน ก็มาฝากพวกผมนี่แหละให้เอามาเล่นดนตรีด้วย ส่วนคนอื่นๆ ผมคงพูดอะไรมากไม่ได้เพราะเขามีเงิน พ่อแม่เขาซื้อให้ได้ พวกผมไม่ได้มีพร้อมแบบนั้นก็เลยไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไปเพื่ออะไร".

ชมการแสดงสดได้ที่นี่ : http://www.thairath.co.th/video/view/231