พูดถึงเจ้ายุทธจักรในธุรกิจเครื่องจักรกลหนักของเมืองไทย ทุกคนคงจะต้องนึกถึง "เจ้าสัวทองไทร บูรพชัยศรี" ประธานกรรมการ บริหาร บริษัทเมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด ดีลเลอร์เพียงผู้เดียวในประเทศ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแคตเตอร์พิลล่าร์ (Caterpillar) เครื่องจักรกลหนักคุณภาพระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ถึงเขาจะไม่ได้สร้างตัวจากเสื่อผืนหมอนใบเฉกเช่นเจ้าสัวยุคก่อนๆ แต่ตำนานสู้ชีวิตของเจ้าพ่อรถแทรกเตอร์เก่าคนนี้ ก็ลำเค็ญไม่แพ้เจ้าสัวคนไหนๆ เพราะกว่าจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้าน เขาต้องล้มลุก คลุกคลานมาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน รับจ้างทำงานสารพัด ตั้งแต่พายเรือขายของ แยกตัวอักษรในโรงพิมพ์ เป็นเด็กโรงงานทำนอต เด็กล้างรถในอู่ ลูกจ้างร้านขายเครื่องปั่นไฟฟ้าเก่า หนุ่มขายเครื่องสำอางและชุดชั้นในสตรี จนกระทั่งพอลืมตาอ้าปากได้จากการให้เช่ารถตุ๊กตุ๊กและขายเครื่องยนต์เก่าของญี่ปุ่น


‘‘เจ้าสัวทองไทร’’กับภรรยาคู่ใจ ‘‘จินดา’’

"เจ้าสัวทองไทร" เติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่ยากจนข้นแค้น โดยเตี่ยอพยพจากเมืองจีน มาตั้งรกรากที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นจับกัง ส่วนแม่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ทำสวนครัว และขาย ปลาทู ชีวิตวัยเด็กของเขาต้องอดมื้อกินมื้อ โดยเฉพาะในช่วงสงครามที่ข้าวยากหมากแพง เนื่องจากเตี่ยมีลูกเยอะ 8 คน ห่างกันทุก 2 ปี สภาพทางบ้านเลยแย่เอามากๆ ด้วยความที่เป็นลูกชายคนโต "ทองไทร" จึงมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลน้องๆ ทำให้ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือตามเกณฑ์ ต้องออกมาช่วยแม่ทำงานบ้าน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ให้อาหารหมู และขายไข่ ทำให้กลายเป็นคนมีปมด้อยเรื่องการศึกษา

ด้วยเหตุนี้ เมื่อร่ำรวยมีเงินทองแล้ว "เจ้าสัวทองไทร" จึงสนับสนุนให้ลูกๆทั้ง 8 คน ได้เรียนหนังสือสูงที่สุดเท่าที่จะเรียนได้ ไม่เว้นแม้แต่ลูกสาวทั้ง 7 คน ก็ได้ร่ำเรียนจบเมืองนอกเมืองนาอย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ เหมือนครอบครัวคนจีนสมัยโบราณ ที่มองว่าลูกสาวไม่จำเป็นต้องเรียนสูงๆ เพราะแต่งงานออกไปก็เป็นคนอื่น "ลูกๆของผม 3 คนแรกจะลำบากหน่อย เพราะตอนนั้นทั้งผมและภรรยา (คุณจินดา) ช่วยกันทำงาน "คุณจินดา" เหนื่อยทั้งงานและลูก เพราะเรามีลูกติดๆกัน คนนี้เดินคนนั้นคลานและอยู่ในท้อง บ้านช่องก็ไม่มีที่ทางจะแยกให้ลูกอยู่ ลูกก็เล่นอยู่ในบ้าน เดินเหินออกมาก็จะลื่นน้ำมันเครื่อง เลยตัดสินใจให้ลูกไปอยู่กับอากงอาม่า ที่นครชัยศรีต้องเดินไปโรงเรียน ไม่เหมือนลูกสาวคนสุดท้อง ตอนนั้นสบายแล้ว นั่งรถเบนซ์ไปโรงเรียน ส่วน "วีระ" เป็นลูกชายคนเดียวของผม กว่าจะได้ลูกชายผมมีลูกสาวมาถึง 6 คน ตอนนั้นผมอยู่ญี่ปุ่น รู้ข่าวว่าภรรยาจะคลอด ก็คิดในใจว่าคงออกมาเป็นลูกสาว พอมีโทรศัพท์บอกว่าคลอดแล้วเป็นผู้ชาย!! ผมโดดเลย ทิ้งงานหมดทุกอย่างทั้งๆที่ไม่เคยทิ้ง หาตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทยทันที ดีใจมากเลี้ยงโต๊ะจีนฉลองเลย "วีระ" เลี้ยงง่ายไม่ยาก ผมโอ๋อุ้มมาก เอาใจทุกอย่าง จะเอาอะไรผมให้หมด แต่ความรับผิดชอบเลี้ยงดูเป็นของแม่ ผมสงสารเขานะ เพราะว่าเขาอยู่กับผู้หญิงหมด ผมไม่ได้เป็นแบบอย่าง กลัวเขาจะเป็นกะเทย ก็เลยส่งไปเข้าโรงเรียนประจำชายที่ซอยลาซาลตั้งแต่เขายังเล็กมาก ประมาณ ป.2 เขาต้องห่างบ้านตั้งแต่เล็ก

...เรื่องเรียนนี่ผมถือว่าสำคัญ ผมสนับสนุนลูกทุกคนเรียนหนังสือให้มาก ผมส่งไปเรียนเมืองนอกหมด ทีแรกตั้งใจว่าให้จบปริญญาเมืองไทยก่อน จะได้มีเพื่อนและไปเรียนต่อ เพื่อที่จะกลับมาทำงานเมืองไทย แต่คนที่ 5 "เล็ก-ขวัญใจ" นี่เขากล้า เขาไปก่อนเลย แล้วพี่น้องก็ค่อยๆตามไป ผมไม่บังคับหรอกนะว่าจะเรียนอะไรกัน แต่ผมให้ความคิดว่าลูกผู้หญิงนี่ควรจะเรียนเพื่อกลับมาทำงานในร่ม และน่าจะรับผิดชอบในเรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องเงิน ก็สนับสนุนให้ลูกสาวเรียนเรื่องการเงิน การบริหาร ส่วนลูกชายสนับสนุนให้เป็นวิศวกรเรื่องเครื่องกลนี่แหละ แล้วเขาก็ต่อด้านบริหารด้วย"..."เจ้าสัวทองไทร" เล่าถึงความผูกพันที่มีต่อลูกๆทั้ง 8 คน ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญให้ลุยงานอย่างไม่หยุดยั้ง แม้บ่อยครั้งจะทำงานชนิดลืมบ้านลืมช่อง ลืมลูกลืมเมีย ชั่วคราวก็ตาม

ในฐานะลูกสาว 3 ใบเถา ที่เติบโตมาในยุคที่ "เจ้าสัวทองไทร" เริ่มก่อร่างสร้างตัว ก่อนที่ธุรกิจจะเป็นปึกแผ่นใหญ่โต "คุณอ๋อย-พิมพ์ใจ บูรพชัยศรี" ลูกสาวคนที่ 4 พร้อมด้วย "คุณเล็ก-ขวัญใจ เจียรวนนท์" ลูกสาวคนที่ 5 และ "คุณตู่-อังคณา  วรสาธิต" ลูกสาวคนสุดท้อง ได้เปิดคฤหาสน์หลังงามบนเนื้อที่ 11 ไร่ของครอบครัวบูรพชัยศรี ย่านสุขุมวิท 101 ให้ทีมข่าวสตรีไทยรัฐ ได้พูดคุยเจาะลึกเป็นครั้งแรกถึงเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างพ่อลูก โดย 3 สาวเห็นพ้องตรงกันว่า เกิดเป็นลูก "เจ้าสัวทองไทร" สะกดคำว่าธรรมดาไม่เป็น!!

"สมัยเด็กๆอายุ 2-3 ขวบ "อ๋อย" จำได้ว่าป๊ากับแม่ส่งพวกเราไปอยู่นครชัยศรีกับอากงอาม่า ใช้ ชีวิตกันอย่างเรียบง่าย พอย้ายเข้ากรุงเทพฯได้อยู่ตึกแถว ป๊ากับแม่เริ่มกิจการตุ๊กตุ๊ก ท่านทั้ง 2 ยุ่งมาก ไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูกๆ พวกเราต้องช่วยกันดูแลกันเอง แม่เล่าให้ฟังว่า ด้วยความคิดที่อยากลืมตาอ้าปากมีชีวิตที่ดีกว่าเก่า ทำให้ป๊าตัดสินใจเกาะท้ายรถบรรทุกเดินทางจากบ้านเกิดเข้ากรุงเทพฯตั้งแต่อายุ 16 ปี ทั้งๆที่ไม่รู้จักใคร ป๊าเป็นคนขยันขันแข็งและสู้งานมาก ท่านทำงานมาสารพัด โดยเงินส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เรียนกวดวิชาภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ป๊าเพิ่งมาลืมตาอ้าปากได้ตอนทำธุรกิจให้เช่ารถตุ๊กตุ๊ก เริ่มจากตุ๊กตุ๊กคันเดียวจนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยคัน เพียงแค่ 3 ปี ก็สามารถถีบตัวเองเป็นเจ้าของอู่เช่ารถสามล้อเครื่องกว่า 100 คัน โชคไม่ดีที่ต้องมาสะดุด เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยกเลิกไม่ให้มีการใช้รถตุ๊กตุ๊ก โดยให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1 ปี ทำให้รถตุ๊กตุ๊กที่มีอยู่กลายเป็นเศษเหล็ก ตอนนั้นป๊าแทบสิ้นเนื้อประดาตัว"..."คุณอ๋อย" ลูกสาวคนโปรดที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลเรื่องการเงินทุกอย่างของบริษัท ถ่ายทอดความทรงจำวัยเด็ก

...


อ๋อย-พิมพ์ใจ /เล็ก-ขวัญใจ/ตู่-อังคณา

แม้จะหมดเนื้อหมดตัวไปกับตุ๊กตุ๊ก แต่ "เจ้าสัวทองไทร" ก็ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เขาลุกขึ้นสู้อีกครั้ง โดยคราวนี้ลองเสี่ยงเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามลำพัง เพื่อกว้านซื้อเครื่องยนต์เก่าจากญี่ปุ่นนำมาขายในเมืองไทย เพราะเห็นลู่ทางจากตลาดเรือหางยาวต่างจังหวัด ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จากเงินลงทุนหลักแสน เพียง 2-3 ปีก็ได้กำไรถึงสิบล้านบาท แต่เมื่อตลาด เครื่องเรือหางยาวซบเซาเพราะคนหันมาใช้รถมากขึ้น เจ้าสัวจึงเบนเข็มหันมาลุยตลาดเครื่องยนต์เก่าและรถบรรทุกเก่าจากญี่ปุ่นแทน กิจการกำลังไปได้ดี ก็โดนคลื่นซัดอีกระลอก เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ออกคำสั่งห้ามนำเข้ารถบรรทุกใช้แล้วจากต่างประเทศ เล่นเอาเกือบเจ๊งหมดเนื้อหมดตัว

พูดถึงเรื่องนี้ "คุณเล็ก-ขวัญใจ" นึกย้อนถึงความลำเข็ญสมัยก่อน..."สมัยพวกเรายังเด็กๆ ป๊าเดินทางไปญี่ปุ่นบ่อยมากๆ แม่บอกว่า ป๊าไปดูลู่ทางสั่งเครื่องจักรกลหนักใช้แล้วจากญี่ปุ่นมาขายในเมืองไทย เพราะเล็งเห็นว่าเมืองไทยกำลังพัฒนาประเทศ ต้องสร้างถนน หนทางอีกเยอะ ช่วงแรกๆที่นำเข้ามาขายขาดทุนย่อยยับจนต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ หันมาเน้นเฉพาะรถแทรกเตอร์เก่าจากญี่ปุ่น โดยป๊าก่อตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเมโทรมอเตอร์เวอร์ค ดึงพี่น้องเข้ามาช่วยบริหารงานจนสามารถครองตลาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของญี่ปุ่นในภาคพื้นเอเชีย สร้างยอดขายเป็นพันล้าน ตอนนั้นพวกเรามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น "เล็ก" เป็นคนแรกในบ้านที่ขอป๊าไปเรียนอเมริกา ทั้งๆที่เป็นลูกผู้หญิง และเพิ่งเรียนจบชั้น ม.3 แต่ป๊าก็สนับสนุนให้ไปเรียน โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนพรีสคูลที่เพนซิลวาเนีย และเรียนต่อจนจบปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ด ตอนหลังทุกคนเลยตามไปอเมริกา"

ก้าวกระโดดสำคัญสู่ความร่ำรวยมาถึง เมื่อบริษัทแคตเตอร์พิลล่าร์ ของสหรัฐอเมริกา ต้องการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ประกาศคัดเลือกดีลเลอร์ใหม่ "เจ้าสัวทองไทร" เล็งเห็นอนาคต จึงจดทะเบียน ธุรกิจใหม่เพื่อให้เป็นบริษัทจำกัดเต็มตัว โดยตั้งชื่อว่าบริษัทเมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด แล้วเสนอตัวเข้าแข่งขัน แม้จะเป็นแค่บริษัทเล็กๆ แต่ เพราะรู้เขารู้เรา สืบเสาะจนทราบความลับของการเป็นดีลเลอร์ ทำให้ บริษัทเมโทรแมชีนเนอรี่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงเจ้าเดียวในเมืองไทยเมื่อปี 2520 และยังคงผูกขาดความเป็นดีลเลอร์จนถึงปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์ของแคตเตอร์พิลล่าร์ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งเครื่องจักร ลากไม้ซุง เครื่องจักรทำเหมืองแร่ เครื่องจักรพัฒนาพื้นที่ภาคเกษตรกรรม การก่อสร้างทาง การปิโตรเลียม การประมง ชลประทาน เครื่องปั่นไฟ และ เครื่องจักรสร้างเขื่อน

แม้จะประสบความสำเร็จ ทำยอดขายได้เป็นพันล้านบาทภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี แต่ "เจ้าสัวทองไทร" ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์สาหัส สากรรจ์อีกครั้ง เมื่อรัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2527 จาก 21 บาท เป็น 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ขาดทุนย่อยยับ จนต้องกัดฟันปลดพนักงานและลดค่าใช้จ่ายต่างๆ "ป๊าใช้เวลาพิจารณาเรื่องการปลดคนออกอยู่ถึง 6 เดือน สภาพจิตใจตอนนั้นแย่มาก เพราะท่านบอกเสมอว่า  การให้พนักงานออก 1 คน ก็หมายถึง 1 ครอบครัวต้องขาดที่พึ่ง  ทำให้ท่านเจ็บปวดมาก  แต่ก็ต้องทำ  ตอนนั้นป๊าลงไปอธิบาย ให้พนักงานทุกแผนกฟังว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น พยายามให้กำลังใจ โดยให้สัตยาบันกับพนักงานทุกคนว่า ถ้าบริษัทฟื้นกลับ ขึ้นมา เราจะคืนสิ่งที่หายไปกลับคืนให้!! แม้จะประคองธุรกิจมาได้ 10 กว่าปี แต่บริษัทก็ต้องเผชิญกับวิกฤติลอยตัวค่าเงินบาทอีกครั้งในปี 2540 คราวนี้บริษัทต้องลดพนักงานถึง 30% โดยคณะบริหารได้ประชุมหารือกันและตัดสินใจดำเนินการโดยไม่ให้ป๊ารู้เรื่อง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ป๊าหายตัวไปจากบริษัท 1 อาทิตย์ เพราะน้อยใจที่ไม่สามารถช่วยเหลือลูกน้องตัวเองได้"..."คุณตู่-อังคณา" บอกเล่าถึงเส้นทางการสู้ชีวิตของมังกรรุ่นพ่อ

เมื่อถาม 3 สาวถึงความประทับใจที่มีต่อ "ป๊าทองไทร" ในฐานะ ที่เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต ได้รับคำตอบจาก "คุณอ๋อย" ว่า รู้สึกภูมิใจในตัวป๊ามาก ท่านสร้างธุรกิจจากศูนย์ จากที่ไม่มีอะไรเลยจนสามารถเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โต ป๊าเป็นคนรักงานมาก สำหรับท่านแล้ว ลูกคนโตคือเมโทรแมชีนเนอรี่ ท่านจะคิดถึงพนักงานทุกๆคน และมักจะสอนลูกๆว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความกตัญญูรู้คุณ ใครช่วยอะไรไว้เราต้องทดแทนบุญคุณถึงจะเจริญรุ่งเรือง อย่างช่วงวิกฤติการเงิน ป๊าสั่งไว้เลยว่า สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือจ่ายเงินเดือนพนักงานกับจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร เพราะทั้งคู่มีบุญคุณกับเรา


อบอุ่นพร้อมหน้าทั้งครอบครัว

ด้าน "คุณเล็ก" ประทับใจในความเสียสละของป๊า เพราะตั้งแต่เล็กจนโต ป๊ามีอะไรจะนึกถึงพี่น้องก่อนลูกๆ และถึงแม้ป๊าจะมีลูกสาวถึง 7 คน แต่ท่านก็ไม่เคยทำให้รู้สึกว่าลำเอียงรักลูกชายมากกว่า พวกเราสงสารน้องชายด้วยซ้ำที่ต้องแบกรับภาระทุกอย่าง "เล็ก" เคยบอกให้ป๊าพักผ่อนบ้าง เพราะปีนี้อายุ 76 ปีแล้ว แต่ป๊าบอกว่า งานอดิเรกของป๊าคือการทำงาน และความสุขของป๊าก็คือการทำงาน คงหยุดทำงานไม่ได้

สำหรับลูกสาวคนเล็ก "คุณตู่" มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับป๊าไม่มากนัก แต่ก็ได้ซึมซับสิ่งดีๆที่เป็นแบบอย่างจากคุณพ่อมากมาย..."ป๊าเป็นคนขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และยึดถือเรื่องความกตัญญูมาก ใครเคยช่วยเหลือป๊าทั้งตอนดีหรือลำบาก ป๊าไม่เคยลืม จะหาโอกาสตอบแทนบุญคุณเสมอ และสอนพวกเราลูกๆให้แสดงความกตัญญูด้วย สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างคือ ป๊าเป็นคนที่มีกำลังใจแข็งแกร่งมาก ล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน โดยไม่เคยท้อแท้หมดกำลังใจเลย".

ทีมข่าวหน้าสตรี