ภัยร้ายที่พบบ่อยในการนอนหลับมีหลายอย่างที่ต้องระวัง ทั้งการนอนกรน หยุดหายใจขณะนอน ซึ่งเป็นอันตราย หากรู้เท่าทันจะช่วยป้องกันได้...
เคยตั้งคำถามมั้ย? ว่าทำไมเราจึงต้องการ การนอนหลับ
ก็เพื่อให้ร่างกายคืนสมรรถภาพ โดยเฉพาะการทำงานของสมองให้เป็นไปได้อย่างปกติ ซึ่งการนอนหลับโดยปกติจะประกอบขึ้นด้วยสองระยะที่สลับกันไปมาทั้งคืนคือ REM sleep การกลอกตาทั้งสองข้างไปมาอย่างรวดเร็วในขณะหลับ ส่วน non-rapid eye คือการนอนหลับในระยะที่ลูกตาสองข้างไม่กรอกไปมา โดยการนอนส่วนนี้ จะแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ การนอนที่ผิดปกติ หลับไม่สนิท นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ทำให้ตื่นมาไม่สดชื่น ซึ่งเป็นลักษณะของการอดนอน สำหรับภัยร้ายภายใต้การนอนที่พบบ่อยมีดังนี้
ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
ภาวะนอนไม่หลับ คือโรคที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนแต่ไม่หลับ หรือนอนหลับสั้นๆ ก็จะตื่นมากลางดึกและไม่สามารถข่มตาให้นอนหลับอีก หรือบางครั้งไม่สามารถนอนหลับได้เลยตลอดทั้งคืน ซึ่งการจะหาสาเหตุนั้นมักมาจากการซักประวัติ ซึ่งต้องครอบคลุมทุกระบบ โดยการวินิจฉัยภาวะการนอน “Polysomnography” เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ทราบสาเหตุของโรคได้
สาเหตุของการนอนไม่หลับ อาจมาจากหลายปัจจัย อาทิเช่น
อาหาร เครื่องดื่ม หรือสารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน สารกระตุ้น หรือยาบางประเภท
สิ่งแวดล้อมขณะหลับ เช่น เตียงนอน สภาพแวดล้อมในห้องนอน นอนผิดที่ ความสว่างและเสียงรบกวน
การเดินทางผิดเวลา การทำงานเป็นกะ
ความวิตกกังวล ความเครียด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
โรคสมองบางอย่าง เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อม โรคไต โรคไทรอยด์ เนื้องอกในสมอง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งทำให้ตื่นบ่อยๆ เป็นต้น
อาการของการนอนไม่หลับ
ภาวะง่วงนอนเวลากลางวัน (Excessive daytime sleepiness)
ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
อาการกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
แขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติขณะนอนหลับ
ภาวะนอนกรน
“นอนกรน ไม่ได้สร้างปัญหาแค่เสียงรบกวนอันน่ารำคาญเท่านั้น แต่อันตรายจากการนอนกรน อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ”
ผลกระทบจากการนอนกรน อาจทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจบางขณะ สร้างปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันมากมาย เช่น ง่วงในเวลากลางวัน สมาธิสั้น อ่อนเพลียเรื้อรัง หงุดหงิดอารมณ์เสีย ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และผู้ที่นอนกรนยังมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดสมองแตก สมองเสื่อม โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ และส่งผลต่อความสามารถในการจดจำและการใช้ความคิดอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่กรนเสียงดังๆ ยังรบกวนคู่นอนทำให้นอนไม่หลับได้
การนอนกรนคงจะไม่เป็นอันตรายใดๆ หากไม่มีภาวะการหายใจที่ผิดปกติและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจแคบมากในเวลาหลับ เมื่อยังหลับไม่สนิทจะมีเสียงกรนที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีเสียงกรนที่ติดสะดุดไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีช่วงกรนเสียงดัง-ค่อยสลับกันเป็นช่วงๆ และจะกรนดังขึ้นเรื่อยๆ โดยมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจติดขัดเหมือนคนสำลักน้ำ และจะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง เป็นผลให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองระหว่างนั้นอาจทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea)
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่เกิดจากการมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงเกิดการไหลเวียนของอากาศที่หายใจเข้าไปไม่สะดวก
อาการที่แสดงของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
มีเสียงกรนขณะนอนหลับ
ตื่นนอนแล้วมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ เจ็บคอ หรือเพลียหลังจากตื่นนอน นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ง่วงนอนทั้งวัน (Daytime Sleepiness) ทั้งที่นอนหลับมาทั้งคืน ภาวะนี้จะเป็นอันตรายมากถ้าต้องขับรถอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
การรักษาการนอนหลับที่ผิดปกติในภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาท หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ
- การควบคุมน้ำหนัก โดยการจำกัดปริมาณและชนิดอาหาร
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อตื่นตัว และเป็นมาตรการในการลดน้ำหนัก
- นอนในท่าตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนในท่านอนหงาย และควรนอนศีรษะสูงเล็กน้อย
- รีบปรึกษาแพทย์ เมื่อมีการหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะพิจารณาแนวทางรักษาจากความรุนแรง และสาเหตุของโรค
ในกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยควรใส่เครื่อง Nasal CPAP (Nasal Continuous Positive Airway Pressure) เครื่องนี้จะปล่อยแรงดันบวก และจะทำให้ช่องทางเดินหายใจที่แคบกว้างขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกและหลับสบายขึ้น ในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ ถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด
ทางเลือกในการรักษา มีอะไรบ้าง
...
1. วิธีไม่ผ่าตัด
การรักษาแบบ Positive Airway Pressure Therapy เป็นการใช้เครื่องพ่นอากาศ (Machine) โดยแพทย์อาจ เลือกใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ซึ่งเป็นเครื่องครอบจมูกขณะหลับ เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น วิธีนี้ปลอดภัย และได้ผลดีในผู้ป่วยเกือบทุกราย
2. วิธีผ่าตัด
แพทย์อาจรักษาโดยวิธี Somnoplasty คือ การจี้กระตุ้นใหเพดานอ่อนหดตัวลง โคนลิ้นหดตัวลง หรืออาจตัดสินใจใช้วิธีการผ่าตัดเอาส่วนที่ยืดยานออก ซึ่งการจะพิจารณาเลือกรักษาโดยวิธีใดนั้น ก็ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละกรณีไป
วิธีปฏิบัติเพื่อการนอนหลับที่ดี
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนนอน 2 ชั่วโมง
อย่าเข้านอนเวลาหิว
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ผสมอยู่ ก่อนนอน 3 ชั่วโมง
ความเครียด ความวิตกกังวล เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรานอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ก่อนนอนควรผ่อนคลาย
หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหนักก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 5400, 5444