จะดีแค่ไหน ถ้าโลกแห่งการท่องเที่ยวจะถูกย่อให้เล็กอยู่ในกำมือคุณ ไม่ว่าใครก็ตามที่อยากจะปลดปล่อยหัวใจให้ล่องลอยอย่างอิสระ เพื่อออกไปเรียนรู้และหาประสบการณ์จากโลกกว้าง ก็สามารถทำได้ง่ายๆแค่ปลายนิ้วผ่านอุปกรณ์คู่ใจอย่างสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ความสุขจากการท่องเที่ยวเมืองไทยได้ไม่ไกลเกินเอื้อม
ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทย์และเทคโนโลยี รวมทั้ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ร่วมเปิดให้ประชาชนทั่วไปทดลองใช้งานระบบแนะนำแผนท่องเที่ยวด้วยสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์ "ไปเป้: www.pi-pe.org" ผลงานที่เกิดจากความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรมและฐานข้อมูลชุมชน เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ อันเป็นวิถีหนึ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยยกให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นตัวอย่างนำร่อง
นายรัฐภูมิ ตู้จินดา นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวถึงที่มาของไอเดียดังกล่าวว่า เกิดมาจากนิสัยรักกการเดินทาง ชอบท่องเที่ยวของตน ที่ชอบแพ็คกระเป๋าไปเที่ยวเอง แต่ก็ต้องเสียเวลาไปกับการวางแผนการเดินทาง หาที่พัก-ที่กิน ดังนั้นเมื่อต้องมาทำโครงการนี้เลยคิดว่าต้องทำให้ขึ้นตอนการวางแผนนี้ง่ายที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะ เชื่อว่าอะไรที่ง่าย คนก็จะสนใจ อยากใช้งาน
ส่วนขั้นตอนในการพัฒนาระบบนั้น ดอกเตอร์หนุ่มกล่าวว่า ใช้เวลา3 เดือนในการพัฒนาเวอร์ชั่นของเว็บไซต์ และอีก 3 เดือนสำหรับการทำเวอร์ชั่นสำหรับใช้บนสมาร์ทโฟน ข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำมาใช้นั้น มาจากฐานข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรม และ ททท. ประกอบกับการลงพื้นที่จริงในการลงเก็บข้อมูล หาร้านอาหารอร่อย และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากการสังเกตุการณ์ เบื้องต้นระบบที่คิดขึ้นมาจะรองรับกับการใช้เบราน์เซอร์ Safari และ Firefox เท่านั้น ส่วนสมาร์ทโฟนก็ยังเจาะกลุ่มเฉพาะผู้ใช้ไอโฟนก่อน
ขณะที่ นายพนม กะรีบุตร ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ททท. เผยว่า ระบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้การวางแผนการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างสะดวก เพราะผู้ใช้สามารถเลือกใช้สถานที่ที่จะไป โดยกำหนดเวลาเริ่มต้น เวลาสิ้นสุด และจุดเริ่มต้นที่จะขับรถ หลังจากนั้น "ไปเป้" จะทำการคำนวนตารางการเดินทางให้ว่าไปที่ไหนก่อนหลัง ใช้เวลาอยู่ในแต่ละสถานที่นานเพียงใด เส้นทางขับรถเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง ทั้งนี้ การคำนวนตารางจะใช้ข้อมูลด้านระยะทาง เวลาเปิดปิดของสถานที่ รวมทั้งข้อมูลเวลาเยี่ยมชม มาประกอบการสร้างตาราง ช่วยลดเวลาในการค้นคว้าและการวางแผนท่องเที่ยวของผู้ใช้งาน
ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ททท. กล่าวด้วยว่า ในอนาคตอาจมีการขยายช่องทางในการสื่อสาร โดยให้ประชาชนทั่วไปสามารถอัพเดตข้อมูลและอัพโหลดรูปภาพสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารหรือที่พักที่ประทับใจผ่านเว็บไซต์เหมือนเพื่อนแนะนำเพื่อน
...