จากกระแสในโลกโซเชียลที่ได้มีการแชร์ต่อ รูปภาพ พร้อมข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ Sapisara Khemthong ถึงเรื่องความประทับใจของพนักงานร้านเคเอฟซีที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน
ซึ่งมีเนื้อหาข้อความผ่านตัวอักษรส่งต่อความประทับใจให้กับทุกคนได้อิ่มเอมใจกันในครั้งนี้ว่า...
เรื่องเล็กๆ ที่อยากบอกต่อ...!!
...
"วันนี้ยืนต่อแถวซื้อเบอร์เกอร์ที่เคเอฟซี สาขาเมเจอร์สุขุมวิท ในเวลาเร่งด่วนก็เลยชี้เมนูนั้นเมนูนี้มั่วๆ ไป สอบถามอะไรพนักงานก็ส่ายหัว ยิ้มๆ แล้วชี้ไปที่พนักงานคนอื่นๆ เลยเริ่มหงุดหงิด แต่ก่อนที่จะวีนก็เหลือบไปเห็นป้ายเล็กๆ ที่ติดตรงหน้าอก แปลเป็นไทยว่า "สวัสดีค่ะ ฉันเป็นคนหูหนวก บริการเต็มที่ด้วยใจแม้ไม่ได้ยิน" ... เท่านั้นแหละฉันรีบยกมือขึ้นไหว้ขอโทษน้องเค้าโทษฐานที่หงุดหงิดไม่ดูตาม้าตาเรือ น้องพนักงานส่งยิ้มหวานให้ แล้วเราสองคนก็สื่อสารกันนิดหน่อยเป็นภาษามือ และพูดช้าๆ ให้อ่านปากกันรู้เรื่องก่อนที่พนักงานอีกท่านจะมารับช่วงต่อไป
แอบสังเกตการทำงานของพนักงานผู้พิการทางการได้ยินกับลูกค้าคนอื่นๆ ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามสื่อสารกันด้วยภาษามือและการอ่านปากซึ่งกันและกัน กลุ่มเด็กหญิงชาวอินเดียสั่งอาหารไปหัวเราะไป แต่บอกว่า "คุยกันยากแต่ก็สนุกดีนะ" สักพักน้องผู้ชายวัยรุ่นหน้าตาดีคนหนึ่งเดินมาขอทิชชู วิธีที่เค้าสื่อสารคือเอาฝ่ามือแปะๆ รอบๆ ปากเหมือนเวลาเราใช้กระดาษเช็ดปาก พร้อมก็ยิ้มๆ อายๆ แล้วพี่พนักงานก็หยิบทิชชูพร้อมรอยยิ้มยื่นให้...
เท่าที่นับๆ ดู ในสาขานี้ มีพี่ๆ พนักงานผู้พิการทางการได้ยินประมาณ 4 คน แต่ละคนก็มีหน้าที่ให้บริการลูกค้าต่างๆ กันไป สิ่งที่ทำให้มีความสุขคือ ดีใจที่เริ่มมีพื้นที่ให้ผู้พิการได้ทำงาน ได้แสดงความสามารถของตัวเองเพิ่มมากขึ้น
ดีใจที่สองคือ พื้นที่เหล่านี้จะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนปกติและผู้พิการได้แบ่งปันหลายๆ อย่างด้วยกัน ได้เรียนรู้ และเข้าใจกันและกันมากขึ้น เราอาจจะพูดกับพนักงานปกติโดยที่ไม่ต้องมองหน้ากัน แต่กับพี่พนักงานเหล่านี้เราต้องมองหน้า สบตา และตั้งใจอ่านปาก และอ่านภาษามือของกันและกันตลอดเวลา
ดีใจที่สามคือ ขอบคุณที่ความปิดกั้นและแบ่งแยกความสมบูรณ์และความขาดพร่อง กำลังค่อยๆ ถูกทำให้จางลง แม้มันจะเล็กน้อยมาก แต่จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ตรงนี้ และตรงนั้นและอีกหลายๆ แห่งที่อาจจะมีแล้ว แต่เรายังไม่เห็น ... วันหนึ่งมันจะหายไป หรืออย่างน้อยที่สุด มันจะไม่เป็นอุปสรรคระหว่างความเข้าใจของกันและกัน...
ขอบคุณนะเคเอฟซี ... พบเจอป้ายนี้ที่สาขาไหน ก็แวะเข้าไปสื่อสารกับพี่ๆ เขากันนะ"
...
นี่เป็นข้อความที่ถูกส่งต่อกันไปถึงความประทับใจในตัวพนักงานที่พิการทางการได้ยิน แต่แน่นอนว่าใจของพวกเขานั้นล้นเปี่ยมบริการเต็มที่ด้วยใจแม้ไม่ได้ยิน
'ไทยรัฐออนไลน์' ได้ไปหาคำตอบถึงเรื่องพนักงานร้านเคเอฟซีที่ให้บริการโดยคนหูหนวกมาให้ทุกคนได้กระจ่างกัน...
KFC ได้เปิดโอกาสผู้พิการทางการได้ยิน สามารถทำงานได้อย่างเท่าเทียมกับคนปกติ ซึ่งนางจิราลักษณ์ ณ เชียงตุง ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดเคเอฟซี เผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า โครงการนี้เป็นโครงการดีๆ เพื่อสังคม จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ยัม ประเทศไทย โดยจุดประสงค์ คือ ต้องการทำให้ผู้บกพร่องทางการได้ยิน มีโอกาส และคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับคนทั่วไปในสังคม เขาเหล่านี้เปี่ยมด้วยพลังใจ และมีความฝันที่อยากทำให้สำเร็จมากมาย โครงการ KFC เราได้ยินทุกความฝัน ร้าน KFC ที่ให้บริการโดยคนหูหนวก จึงเปิดรับผู้บกพร่องทางการได้ยินจากทั่วประเทศเข้าทำงานกับ KFC เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มคนเหล่านี้ มีโอกาสเป็นพนักงานขององค์กรเอกชน มีรายได้เพียงพอสำหรับดูแลครอบครัว และมีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพของตนเอง โดยพนักงานทุกๆ คนจะได้รับโอกาสในการก้าวหน้าทางสายอาชีพของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน
โครงการนี้เริ่มเปิดร้านแรกที่ไทม์สแควร์ เดือนธันวาคม 2555 ตอนนี้พนักงานที่เป็นคนหูหนวกในร้านเคเอฟซีมีทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ ร้านเคเอฟซี อาคารไทม์สแควร์ ถือเป็นร้านอาหารบริการด่วนรายแรกในประเทศไทยที่มีการจ้างพนักงานผู้บกพร่องทางการได้ยินเข้าทำงานร่วมกับพนักงานทั่วไป นอกจากนี้ก็ยังมีเมเจอร์เอกมัย และเกตเวย์เอกมัย ตอนนี้มีพนักงานที่เป็นคนหูหนวกได้ยินอยู่ประมาณ 70 คน ซึ่งแบ่งเฉลี่ยอยู่ในทั้ง 3 สาขาเท่าๆ กัน ซึ่งทั้ง 3 สาขานั้น 80% จะเป็นพนักงานผู้พิการทางการได้ยิน นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่จะไปเทรนตามสาขาต่างจังหวัด มีภาคเหนือกับภาคอีสาน พนักงานส่วนนี้เทรนในส่วนที่เป็นพนักงานเสิร์ฟกับแคชเชียร์ สาขาร้านต่างจังหวัดยังไม่ได้ลงมือทำงานจริง เพราะยังติดอยู่ในเรื่องอุปกรณ์สำหรับพนักงานที่เป็นอุปกรณ์เฉพาะ อุปกรณ์ที่เคยเป็นเสียงก็ต้องเปลี่ยนเป็นไฟทั้งหมด
...
ส่วนเรื่องผลตอบรับจากลูกค้า ไม่มีเรื่องร้องเรียนถึงความไม่พอใจในส่วนของพนักงานผู้พิการทางการได้ยิน เพราะได้รับการเทรนมาอย่างดีก่อนปฏิบัติงานจริง แต่จะมีบ้างในช่วงแรกๆ ลูกค้าจะรู้สึกว่าทำไมพนักงานไม่ตอบ พูดด้วยแล้วไม่ตอบ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะมีผู้ที่สามารถจะสื่อสารได้อยู่บางส่วน นอกจากนี้เคเอฟซียังให้สิทธิสำหรับพนักงานที่เป็นคนหูหนวกเหมือนกับพนักงานธรรมดาทุกอย่าง ผู้พิการทางการได้ยินจะสามารถมาสมัครงานเองได้ในแต่ละสาขา หรือจะมาจากศูนย์ดุสิต หรือจะเป็นนักศึกษาที่เรียนจบมาแล้วมาสนใจในการทำงานกับเคเอฟซี พอช่วงหลังก็มีคนหูหนวกที่เริ่มมาสมัครเอง ส่วนเรื่องค่าแรง หรือสวัสดิการให้กับพนักงานที่เป็นคนหูหนวก ก็มีสิทธิเท่ากับคนปกติเลย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดกล่าวกับไทยรัฐออนไลน์
...
เมื่อไทยรัฐออนไลน์ได้เข้าไปสังเกตการทำงานของพนักงานในร้านเคเอฟซีสาขาเมเจอร์เอกมัย เมื่อมีลูกค้าเข้ามาสั่งรายการอาหาร แต่เขาไม่สามารถเข้าใจและรับรู้ได้ จึงได้แนะนำวิธีการสั่งโดยการชี้นิ้วไปที่เมนู ลูกค้าบางคนก็เข้าใจภายในครั้งเดียวสั่งได้สบายมาก บางคนก็ชี้ไปชี้มา งงๆ กันบ้าง แต่ก็สามารถสั่งอาหารออกมาได้นางสาวฐิตินันท์ ชูฉิม ลูกค้าร้านเคเอฟซี กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงเรื่องการบริการของพนักงานผู้พิการทางการได้ยินว่า ตอนแรกก็รู้สึกงงๆ บ้าง สื่อสารไม่ค่อยจะเข้าใจ แต่น้องๆ พนักงานก็บริการดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ว่าเราจะทำหน้างงแค่ไหน เขาก็ยังใจเย็น พยายามจะสื่อสารกับลูกค้าอย่างเราให้เข้าใจตรงกัน ทำให้เรารู้สึกประทับใจ เราก็พยายามสื่อสารโดยการชี้เมนูอาหาร และทำท่าทางตามที่เขาได้มีไว้ให้ พวกเขาได้บริการด้วยใจแถมยิ้มพิมพ์ใจให้อีกด้วย รู้สึกว่าไก่ที่กินไปนั้นอร่อยขึ้นกว่าปกติเลย
ไทยรัฐออนไลน์อยากให้เรื่องราวแบบนี้ได้นำไปบอกต่อกัน เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งให้คนพิการได้มีความก้าวหน้าทางอาชีพ รวมไปถึงการใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ยังไงก็ลองเข้าไปอุดหนุน และให้กำลังใจพวกเขากันได้.