ผมเขียนพินัยกรรมเอาไว้หมดแล้ว ตายวันนี้ก็ได้ไม่ต้องห่วงอะไร ก่อนหน้าเคยบอกเมียเลยว่าถ้าตายแล้วหาสามีใหม่ได้เลย
ผมเป็นนักวิ่งผลัด 2 ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมที่จะรับไม้และส่งต่อให้รวดเร็ว ไร้ข้อผิดพลาดให้ไม้ต่อไป ทั้งๆ ที่จริงเห็นแก่ตัว ผมก็เลิกได้ตั้งแต่ขายหุ้นโออิชิไปแล้ว แต่ทีมงานยังอยากทำต่อ
อยากให้เห็นสีหน้า ท่าทาง ประกอบเรื่องทั้งหมดจะได้อรรถรสอย่างยิ่ง เพราะทุกเรื่องราวมันมีความหมาย มีปรัญชาง่ายๆ ซุกซ่อนทุกเรื่องเล่า ตั้งแต่เรื่องอุบัติเหตุรถตู้เกิดอุบัติเหตุใหญ่เฉียดตายที่เพิ่งเกิด เรื่องธุรกิจชาเขียวที่วันนี้แบรนด์อิชิตันเกิดมา 3 ปี ด้วยระยะเวลาการทำตลาดสู้แค่ 1 ปีครึ่งมียอดขายเป็นอันดับ 1 มุมมองชีวิต แม้กระทั่งเรื่องตกแต่งออฟ ฟิศ
วันที่ความตายมาเคาะบ้านภาพอุบัติเหตุรถคว่ำไม่ทันจางไปจากความฝัน วันที่ก้าวเป็นเบอร์ 1 ของชาเขียวโค่นยักษ์ใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว ไทยรัฐออนไลน์ถอดรหัสปรัญชาชีวิตหลังความตายตัน ภาสกรนที
ปรัชญา : ที่ทำงานใหม่ แต่ใช้ของเก่า
เป็นความตั้งใจ, เราไปถึงก่อนเวลาเล็กน้อย เพราะอยากสำรวจออฟฟิศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเก๋ หลังจากผลักประตูกระจกบานใหญ่ไปก็จะพบกับห้องประชุมเก๋ๆ ที่ปกคลุมไปด้วยกระจกใส ภายในมีคนประชุมงานกันอยู่ ด้านขวามือเป็นที่นั่ง แต่ระดับตันซะอย่าง เขาดีไซน์เป็นอัฒจันทร์เล่นระดับ 6 ชั้น ประดับประดาไปด้วยหุ่นหลากสี ใช่หุ่นรูปตัน ตัวสั้นๆ และรูปหมูยักษ์ (หมูเป็นปีเกิดของเขา) เอาไว้ต้อนรับแขก
“ดื่มก่อนค่ะ...” พนักงานใส่เสื้อยืดสกรีนชื่อบริษัทอัธยาศัยดีหยิบชาเขียวกล่องเอามาต้อนรับชนิดไม่หลุดคอนเซปต์
เดินไปทางขวาสุดท้ายก็เป็นห้องทำงานของเจ้าของบริษัท เป็นห้องทำงานที่โล่งๆ มีโต๊ะทำงานหันหน้าให้กับกระจกใสมองวิวไปได้ไกลสุดตา ใกล้กันมีโซฟารับแขก นั่งรอไม่นานหนุ่มใส่หมวกกางเกงสีแสบทรวง เสื้อเชิ้ตสุดเท่ก็เดินมาทักทายตามภาษาคนคุ้นเคย
“รู้อะไรไหม พื้นที่พันตารางเมตรที่นี่เริ่มต้นด้วยการมีพนักงานคนเดียว…” ตันเล่าถึงออฟฟิศใหม่บนชั้นที่ 28 ตึกชาญอิสสระ 2 ถนนเพชรบุรี และย้ำหน้าเปื้อนยิ้มว่า เป็นออฟฟิศที่ตกแต่งสไตล์รู้สึกผิด เน้นการใช้ของเก่า
เก้าอี้นี่ก็ใช้มาตั้งแต่ทำธุรกิจถ่ายรูปแต่งงาน ไม้ กระจก โต๊ะบัญชีทุกตัวยกมาจากบริษัทชาเขียวที่เก่า เรียกว่าเราใช้ให้น้อยที่สุดใช้น้อยไม่เกี่ยวกับลงทุนเป็นนโยบายที่ทำให้เราใช้ธรรมชาติได้น้อยลง ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้โลกใบนี้ยังเหลือให้คนรุ่นต่อไปใช้ได้อีก
...
ปรัชญา : อุบัติเหตุ ความตายมาเคาะประตูบ้าน...
มาถึงประสบการณ์ความตายมาเคาะประตูบ้านแบบไม่ทันคาดคิด ตัน อิชิตัน ย้อนเหตุการณ์อุบัติเหตุเย็นวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาให้ฟังว่า เป็นการเดินทางไปแจกรางวัลที่จ.นครสวรรค์ จริงๆ วันเกิดเหตุโน้ส อุดม แต้พานิช ต้องไปด้วย แต่เนื่องจากเหนื่อยจากการเดินทางไปต่างประเทศ ตนเลยบอกให้พัก ระหว่างหลับตาพักสายตาภาพก็ได้ยินเสียงเหมือนรถกระแทกอะไรตึงๆ 3 ที พอลืมตาพบว่า รถด้านข้างกระแทกล้อของ 18 ล้ออยู่ โชคดีที่รถสูง หลังจากนั้นหลุดเข้าข้างทางเจอต้นไม้ใหญ่เห็นเสาไฟฟ้า
ตันยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์น่าตกใจมากๆ เร็วชนิดยังไม่ทันได้คิดอะไร นึกแค่ว่าถ้าชนเราต้องอัดกับเสาไฟแน่ๆ แต่ด้วยสัญชาตญาณ คนขับจึงหักพวงมาลัยหลบเสาไฟฟ้าลงคลอง ด้วยท่าลงแบบโยกซ้าย-ขวา เซฟตี้รถเลยไม่ทำงานศรีษะเลยไปฟาดกับด้านหน้า ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมากจริงๆ
“ถามว่ามีเวลานึกถึงพ่อแก้วแม่แก้ว มีเวลานึกถึงหน้าภรรยาหรือเปล่า ไม่ทันนึก เพราะเป็นเวลาสั้นๆ คือ เห็นต้นไม้ เสาไฟฟ้า และเลี้ยวลงเลย ส่วนผมก็มองว่าจะชนเสาไฟฟ้าหรือไม่ชน ก็อย่างว่าชีวิตใครใครก็รัก คนขับก็หักรถตามสัญชาตญาณมันฉุกละหุกต้องตัดสินใจ มันเร็วมากชนิดไม่ทันคิดว่าเราตายไหม แวบนั้นตกใจลุ้นว่าจะชนเสาไหม นอกนั้นสมองสั่งไม่ทัน โชคดีผ่านความตายมาได้ด้วยการเจ็บตัวแค่เล็กน้อยเท่านั้นเอง” ตันกล่าว
ปรัชญา : เตรียมก่อนตาย พินัยกรรมคนเป็น...
เขียนพินัยกรรมเก็บเอาไว้บ้างไหม...? – เราสงสัยเพราะว่ากันตามความจริงคนที่เดินทางมากๆ อายุก็ไม่น้อยอะไรก็เกิดขึ้นได้ ตันบอกว่า ทำไว้ตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ เริ่มจากเป็นคนที่เตรียมพร้อม เรียกได้ว่าพร้อมที่จะตายได้ทุกเวลาเขียนถึงทุกคนไว้อย่างชัดเจน
“เรียกว่าผมตายคนข้างหลังไม่เดือดร้อนแน่ นอกจากพินัยกรรมแล้วยังคุยกระทั่งว่า ถ้าผมตายให้จัดงานศพ 3 วันพอ เพราะไม่ชอบรบกวนคนอื่น สั่งเสียภรรยากระทั่งว่า ถ้าฉันตายไปแล้ว เธอมีแฟนใหม่ได้เลยนะ ผมพูดกับเขาแบบนั้นจริงๆ แต่เขาบอกว่างั้นแสดงว่า ฉันตายเธอจะมีเมียใหม่นะซิ (หัวเราะ) เรื่องความตายผมจะบอกกับเขาเสมอว่า เวลาที่เราอยู่ด้วยกันต้องทำดีซึ่งกันละกัน รักกันมากๆ เวลาผมตายจะโศกเศร้าทั้งชีวิตไม่ได้"
ตายก็ไม่ต้องเอาถุงเท้าเก่ามาดม เอากางเกงในเก่าๆ ของตนมาดม ตันบอกว่า หากยังโศกเศร้าแบบนี้ ตายแล้วตนเองไม่ได้ตาย ความโศกเศร้ามันไม่ไปไหน เราต่างหากไม่ให้มันไปต่างหาก เราเก็บเสื้อ ของใช้ รูปภาพ เก็บสิ่งของ เอาไว้เอง ของผมจบคือจบ ที่จริงอยากจัดงานศพวันเดียวด้วยซ้ำ ส่วนร่างกายผมก็มอบให้กับ โรงพยาบาล ลูกภรรยาก็บริจาคเหมือนกันอะไรใช้ได้ก็เอาไป ที่เหลือก็เอาไปเผา ไปทิ้งทะเลให้ปลากินเลย กินปลามาเยอะอยากให้ปลากินเราบ้าง
"อุบัติเหตุครั้งนี้มันสอนให้ตนเองรู้ 2 ส่วน 1.การที่หมอให้เราพักรักษาอาการที่บ้าน 7 วัน มันทำให้เรารู้เลยว่า สิ่งที่เราชอบที่สุดคือทำงาน 2.เวลารถชนครั้งนี้มีหลายๆ โดยเฉพาะคนมักจะเข้าไปถามในเฟซบุ๊กผมว่าจะลงโทษคนขับรถอย่างไร อย่างที่เคยบอก เวลาเกิดเรื่องคนก็อยากจะหาคนที่รับผิดชอบ ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์ ทำไมไม่มาช่วยกันหาสิ่งที่ป้องกันไม่ให้เกิดดีกว่าไหม เหตุการณ์ครั้งนี้มานั่งคิดบวกลบคูณหารแล้ว จริงๆ ผมอาจจะใช้คนขับรถมากเกินไป เขาก็อยู่กับผมมาเที่ยงคืนจนถึงตีหนึ่งอยู่มา 10 ปี มีเล็กๆ น้อยๆ แต่ครั้งนี้ลงไปเป็นครั้งแรก พักหลังงานหนักไปหน่อย ทำให้คิดว่าเดี๋ยวคงจะเพิ่มคนขับรถอีกคนนั่นคือทางป้องกันในอนาคต” ชายสวมกางเกงสีแสบระบุ
...
ปรัญชา การทำงาน มากกว่าการตลาด คือ สัญชาตญาณ 1%...
ดูเหมือนเป็นนักธุรกิจที่ดูเหมือนมีธุรกิจมากมาย แต่ตันบอกว่า ปัจจุบันรับผิดชอบชาเขียวอย่างเดียว ส่วนภรรยา อิง สุนิสา ภาสกรนที รับผิดชอบ Melt Me ร้านช็อกโกแลตและไอศกรีม ลูกสาวคนสวยเปิดร้านส้มตำ แซ่บ อีลี่ (Zaab Eli)
“เรื่องจริงก็คือคนมักจะเข้าใจว่าแคมเปญที่โด่งดังต่างๆ มาจากผมคนเดียวกลับกันวันนี้คนอื่นทำมากกว่าผมซะอีก ผมแค่คอยตัดสินใจ สิ่งที่พนักงานคิด เอเจนซี่ หรือแม้กระทั่งผมคิด รวมกันแล้วหลังจากคุยกันแล้วว่าจะเอายังไงผมก็ต้องตัดสินใจ เพราะที่สุดแล้วถ้าประสบความสำเร็จรวมกัน แต่ถ้าผิดพลาดมันจะตกอยู่ที่ผมคนเดียว เหตุผลที่ทำไมผมจึงต้องเป็นผมคนสุดท้ายที่ตัดสินใจ แต่ความสำเร็จที่ผ่านมาทั้งหมดถือว่าเป็นผลงานของทุกๆ คน " ตันกล่าว
...
ถามว่าในฐานะต้นฉบับแคมเปญชาเขียวแจกแหลก แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันรางวัลที่แจกมีมูลค่าน้อยกว่า แต่ทุกทีที่ปล่อยแคมเปญออกก็จะฮือฮาและเป็นที่น่าจดจำกว่าทุกครั้ง คำถามคือการตัดสินใจปล่อยของออกมาให้โดนใจอยู่บนพื้นฐานอะไร คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้สัญชาตญาณแทบทั้งนั้น..?
“ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจ เรื่องแบบนี้มันมี 1% ที่ตามองไม่เห็น สิ่งที่มองเห็นด้วยตาก็ได้แก่ ข้อมูล ยอดขาย แต่มันก็ส่วนหนึ่งเป็นความรู้สึก ลึกๆ เป็นสิ่งที่ตามองไม่เห็นมันสำคัญมาก ในการตัดสินใจว่ามันจะไปทางไหน ไปแล้วเกิดอะไรขึ้น จะมีผลอย่างไร เราก็ต้องไปจินตนาการเอาเอง แต่ใช่ว่าทุกครั้งจะไม่มีข้อผิดพลาด เรื่องจริงก็คือทุกครั้งที่เราทำไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดเสมอ แต่เราจะแก้ปัญหาผ่านพ้นไปได้อย่างไร”
ตันยกตัวอย่างการตัดสินใจพลาดว่า ตอนทำ อิชิตัน แล้วมาทำดับเบิ้ลดริ๊งค์ ก็ไม่ได้ขายดี หรืออย่างเรื่องน้ำท่วมที่โรงงานอยุธยาตนก็เป็นคนเลือก แทนที่จะเลือก เขาใหญ่ โคราช ระยอง ไปในที่สูงๆ ความผิดพลาดมันเกิดขึ้นได้ แต่ทุกอย่างมันอยู่ที่ว่าผิดพลาดแล้วได้อะไร น้ำท่วมโรงงานแล้วได้อะไร รถคว่ำแล้วได้อะไร ขายดีแล้วได้อะไร ไม่ดีแล้วได้อะไร ทุกอย่างมันมีอีกมุมเสมอ อย่างคุณเป็นฮ่องเต้ กินอิ่มมากก็ง่วงนอน หลับไปฝันเป็นขอทาน กลับกันขอทาน มันเหนื่อยกลับไปหลับสบายมันก็ฝันเป็นฮองเต้ สลับกัน ทุกอย่างมีอีกมุมเสมอ ทุกๆ อย่างมันเกิดขึ้น อยู่ที่เราจะแก้ไขอย่างไร
“ส่วนเรื่องทำไม คนจำว่าเราคิดต้นฉบับของการแจกในตลาดชาเขียว ทั้งๆ ที่คู่แข่งเขาแจกของรางวัลมากกว่า ผมมองว่าที่เขาต้องการอันดับแรกไม่ใช่รางวัลแต่คือกำลังใจ เป็นความรู้สึกที่ดีๆ มันมากกว่าเงิน ซะอีก จริงๆ เรามาให้รับที่กรุงเทพฯก็ได้ ยะลาผมยังไปเลย พอเราไปเขาก็รู้สึกว่าเราให้เกียรติเขามากๆ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่สีแดง ถ้าเราสามารถทำได้เราจะได้ใจ 2 วันผมไป 4 จังหวัด รางวัลที่ 2 มันมี 600 รางวัล รางวัลใหญ่มีไม่มาก แน่นอนผมไม่สามารถไปได้ทุกจังหวัดแต่ผมอยากไปให้ได้มากที่สุดเวลาผมไป เชียงใหม่ก็ไปลำปาง ไปแถวนั้นให้หมด ตอนเช้าอยู่ที่ศรีราชาตอนเย็นอยู่ที่ขอนแก่นเลย เย็นโผล่ที่อุดรฯ”
เซียนชาเขียว ย้ำว่า แม้คนอื่นแจกเยอะกว่าเรามากก็มี มันไม่ได้อยู่ที่ใครแจกเยอะมันอยู่ที่ มีคนเชื่อว่าใครแจกแล้วมีสีสันมากกว่า ผู้บริโภคประทับใจมากกว่า มันไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินประสบการณ์พิสูจน์ได้เลยว่า แจกมากน้อยไม่สำคัญ อยู่ที่ใครทำถึงกว่า และไปถึงตัวเขามากกว่า ไปเกือบทุกวันตอนนี้เวลามากกว่า 70 % หมดไปกับการแจกรางวัล
...
ปรัชญา : ยืนเป็นที่ 1 แต่ไม่ยึดติด...
“ผมเชื่อเรื่องการการอุทิศตัวให้กับสิ่งที่รัก...” ตันย้ำและว่าอิชิตันเพิ่งทำตลาดแค่ 1 ปีกว่าก็ขึ้นเป็นชาเชียวขายดีอันดับ 1
“ปีแรกอิชิตันมีรายได้ราว 1,200 บาท ปีที่ 2 มีรายได้ราว 3,800 ล้านบาท ปีนี้มีรายได้กว่า 6,000 ล้านบาท โดยสิ้นปีจะมีการเปิดให้ซื้อหุ้น อย่างไรก็ดี ณ วันนี้ ผมเรียกว่าเป็นที่ 1 ชั่วคราว เดือนมิถุนายนยอดเราอยู่ใกล้เคียงกัน แต่เชื่อว่าอีกครึ่งปีรวมกันๆ แล้วสิ้นปีเขาก็จะเป็นที่ 1 มากกว่า ถามว่าถ่อมตัวไหม ที่จริงผมชนะโดยไม่ต้องชนะก็ได้ ผมเป็นที่ 1 ก็ได้ ที่ 2 ก็ได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ฝั่งนั้น (โออิชิ) ซีเรียสมาก ต้องชนะให้ได้ แต่ผมยอมเขาแหละ การทำธุรกิจมันไม่จำเป็นต้องเป็นที่ 1 แต่เป้าหมายสิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องมีกำไรด้วย ถ้าเป็นที่ 1 แล้วขาดทุน ถือว่าเราทำให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นเดือดร้อนมันไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมเน้นเรื่องการเติบโตที่ยั่งยืน ที่สำคัญบริษัทต้องมีกำไร ทำธุรกิจแล้วบริษัทไม่มีกำไรไม่ได้ ผมไม่พยายามให้ความสำคัญตรงนั้น ซึ่งเราต้านเขาค่อนข้างยาก เพราะว่าเขาได้เปรียบแบรนด์ทุน สายส่งกำไรน้อยก็ไม่เป็นไร ขาดทุนก็ไม่เป็นไร แต่เราไม่ได้ ผมเป็นที่ 2 ไม่เป็นไร อย่างที่บอกอิชิตันใช้เวลาในการทำตลาด 1 ปีครึ่งเอง”
ตันยกตัวอย่างกรณี เย็นเย็น แบรนด์น้องใหม่ว่าทันทีที่คลอดมาขายดีมาก แบรนด์นี้ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ตนเอาประสบการณ์ในล้มเหลวมาใช้ว่าการตั้งชื่อ ภาษาอังกฤษอย่างดับเบิ้ลดริ๊งค์เรียกยากคนไม่เข้าใจ ดังนั้นเย็นเย็นจึงเป็นชื่อที่ไม่ซับซับซ้อนมาก แล้วจับเลี้ยงผมก็ไม่ใช่คนทำนวัตกรรมแรกของโลก คนจีนดื่มมาแล้วเป็น 100 ปีที่จีนแดงยอดขายมากกว่าน้ำอัดลมซะอีก เวียดนามใหญ่กว่าชาเขียวอีก
“ฉะนั้น ผมก็มองว่ามันน่าจะมีโอกาสมาเติบโตที่เมืองไทย ผมมองว่าอากาศเมืองไทยมันร้อนทั้งปี ที่เมืองจีนจับเลี้ยงยังขายไม่ได้ในหน้าหนาว 3 เดือนเลย อาหารเราเผ็ด กินกับจับเลี้ยงเข้ากันได้ดี แบรนด์เย็นเย็นอาจจะเป็นสินค้าตัวแรกๆ ที่ออกมาแล้วประสบความสำเร็จเลย ขายดี จนวันนี้ของยังขาดตลาดเลยแล้วจังหวะผมก็เหมาะออกมาในเดือนเมษายน”
ปรัชญา : คิดบวก ลบคิดลบ..
ปัจจุบันตัน ภาสกรนที อายุ 54 ปี แต่เป็น 54 ปีที่หัวใจยังแข็งแรงเหมือน 45 ไม่เหนื่อยแม้จะทำงานหนัก
“ผมทำเพราะหัวใจมันเรียกร้อง ที่สำคัญมันอยู่ที่เราทำประจำและอุทิศตัวเราเองให้กับธุรกิจงานเรา พอเรามีความสุขก็อยากทำมันก็มีพลัง เรารู้สึกดีมันก็เกิดกำลังใจ มี่ความสุข มันก็อยากทำ มันก็เกิดพลัง ถ้าเราเบื่อขี้เกียจมานั่งถ่ายรูปก็จะไม่อยากทำ แต่ผมนี่ชอบมาก อย่างที่ประสบอุบัติเหตุ 7 วันที่อยู่กับบ้านผมเบื่อมากอยากทำงาน มีความสุขแล้วมันจะทุ่มเท ไม่รู้สึกว่าเหนื่อย แต่ถ้าไม่รัก ไม่ทุ่มเทหรือไม่มีความสุขมันจะท้อ จะเหนื่อยไปโดยปริยาย”
ปรัญชา : ข่าวลือ เตี๊ยมมอบรางวัล...