นักวิชาการ ประชาชนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ถล่มยับ เอฟวันเหยียบเกาะรัตนโกสินทร์ รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ซัดคนบ้าเอารถเข้ามาทำลายถนนประวัติศาสตร์ชาติไทย อึ้งผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสียงย้ำอันตรายเสียงคำรามเอฟวันทำหูหนวกถาวร...
กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มไม่แตกต่างไปจากเสียงแผดดังสนั่นของเครื่องยนต์เอฟวันที่อีก 2 ปีข้างหน้าจะยกทัพมาแข่งในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ กับโปรเจกต์ยักษ์ จัดศึกฟอร์มูลาวันชิงแชมป์โลก ปี พ.ศ.2558 ภายใต้การผลักดันของ โต้โผใหญ่ "การกีฬาแห่งประเทศไทย" ในกำกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนหลักอย่าง เรดบูลล์ และ สิงห์ พร้อมสนับสนุนเต็มที่ ภายใต้งบลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ในสัญญา 3 ปี
โดยได้มีการปักหมุดเส้นทางการแข่งขันแบบ "สตรีท เรซซิ่ง" หรือ ปิดเมืองแข่ง ไว้แล้วที่ บนถนนราชดำเนิน ซึ่งจะสตาร์ตที่กรมอู่ทหารเรือ ท่าราชวรดิฐ ผ่านถนนมหาราช เลี้ยวขวาเข้าถนนหน้าพระลาน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหน้าพระธาตุ ลอดใต้สะพานปิ่นเกล้า เข้าถนนจักรพงษ์เลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำเนิน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนินใน ผ่านถนนมหาชัย เลี้ยวขวาเข้าถนนท้ายวังเลี้ยวขวาเข้าเส้นชัย บริเวณกรมอู่ทหารเรือ ระยะทางรวม 5.995 กม.
...
ทั้งนี้เส้นทางที่รถเอฟวันจะเหยียบและแผดเสียงคำรามไปทั่ว 'เกาะรัตนโกสินทร์' นั้น จะเห็นบริเวณนี้รายล้อมไปด้วยชุมชนเก่าแก่มากมาย รวมถึงสถานที่และโบราณสถานสำคัญบนเกาะรัตนโกสินทร์ เช่น พระบรมมหาราชวัง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วัดอรุณราชวราราม ฯลฯ ทั้งหมดถูกนำมาเป็น "จุดขาย" ให้กับ โปรเจกต์ยักษ์นี้ โดยภาครัฐระบุผลพลอยได้ที่ประเทศไทยจะได้รับว่า เราจะได้โปรโมตประเทศในทางอ้อม รวมทั้งรายได้ทางตรงที่จะมีผู้ชมจากทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมหาศาล
และแม้วันนี้การเหยียบเกาะรัตนโกสินทร์ของเอฟวันจะยังไม่ได้ข้อสรุป อีกทั้งที่สุดต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนของสภา พร้อมกับภาครัฐประกาศว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ด้วย
ล่าสุด นางอรยา สูตะบุตร ตัวแทนผู้ประสานงาน ชมรม "หรี่เสียงกรุงเทพ" ร่วมกับกลุ่มชุมชนบางลำพูและอีก 20 ชุมชนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ออกมากล่าวผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยพร้อมกับประณามการยึดเกาะรัตนโกสินทร์เป็นที่แข่งรถเอฟวัน โดยในวันเสาร์ที่ 1 มิ.ย.นี้ ตน นักวิชาการ ตัวแทนจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรุงเทพมหานคร และประชาชนบริเวณเส้นทางการแข่งขันเอฟวันกว่า 20 ชุมชน จะมาแสดงจุดยืนร่วมกัน ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลาประมาณ 15.00 น.
"ย่านพระนคร เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นบริเวณที่ควรจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นมรดกของประเทศชาติที่สะสมมาไม่รู้ตั้งกี่ร้อยปี มีที่ศักดิ์สิทธิ์มากมาย มันไม่ได้เป็นตึกร้าง มันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่มันเปิดปิดเฉพาะกลางวัน กลางคืน ไม่มีใครอยู่ แต่มันเป็นที่ชุมชนที่มันยังมีชีวิตชีวา มีความเป็นอยู่ที่ดำเนินมาเป็นเวลานานแล้ว ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาอีเวนต์แบบฟอร์มูลาวันเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไปจัดในที่ที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ตัวแทนชมรมหรี่เสียงกรุงเทพและตัวแทนประชาชนกว่า 20 ชุมชนบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ กล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเสียงที่แผดดังเกินหูคนจะรับได้อย่างเดียว มันเป็นเรื่องของมลภาวะ เรื่องการใช้พื้นที่ถนน เบียดเบียนวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ตอนนี้ด้วย ซึ่งเราก็รู้ๆ กันว่า ยกเว้นถนนราชดำเนิน เส้นทางระบุมา มันเป็นถนนแคบหมดเลย แล้วปกติการสัญจร ไปมาบริเวณนั้นก็ติดขัดอยู่แล้ว นึกไม่ออกเลยว่า ถ้าจะต้องปิดถนนเพื่อแข่งขัน จะเป็นอย่างไรบ้าง
...
"มีคนพูดว่าการจัดแข่งรถในครั้งนี้เพื่อโปรโมตเมืองไทย โดยยกตัวอย่างประเทศในละแวกอาเซียนมาเทียบเคียง ซึ่งเท่าที่ดูก็มีเพียงสิงคโปร์ และมาเลเซียเท่านั้น ที่เป็นเจ้าภาพจัดเอฟวัน อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มีรูปแบบคล้ายกับไทย ที่จะจัดแข่งโดยการปิดเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ไทยเป็นประเทศที่มีรากเหง้าของประวัติศาสตร์ ที่รถจะวิ่งผ่านเราจะเห่อตามคนอื่นด้วย ย่านนี้ เรารู้กันดีว่า มันมีคุณค่าในหลายๆ มิติ และคุณค่าที่มีอยู่ มันก็ได้รับการแปรเปลี่ยน เอามาปรับเพื่อเอามานำเสนอเป็นการท่องเที่ยว สร้างรายได้ และทำได้ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ควรจะทำให้มันดำเนินต่อไป ในขณะเดียวกัน เราต้องชื่นชมชุมชนที่อยู่ในตัวเขตพระนคร ซึ่งเขาก็ใช้ชีวิตของเขา และก็มีรายได้ ขณะเดียวกัน เขาไม่ทิ้งราก ไม่ทิ้งวัฒนธรรม"
เมื่อเร็วๆ นี้ กรุงเทพฯ เพิ่งได้รับรางวัล เมืองยอดนิยมอันดับ 1 จากการลงคะแนนของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ใช้บัตรเครดิต ซึ่งก็เป็นหลักฐานว่าทำถูกแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งนี้มาทำ
"ถ้าเราเป็น สิงคโปร์ หรือดูไบ ที่เป็นทะเลทราย ไม่มีอะไร เราจำเป็นต้องสร้างอะไรแปลกปลอม อะไรใหม่ๆ ที่มันผิดที่ผิดทาง เพื่อดึงนักท่องเที่ยว ซึ่งเราเข้าใจได้ แต่ของเรามีกันอยู่แล้ว จริงๆ เราควรส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ได้ผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ แต่เรายังอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประวัติศาสตร์ด้วย พวกคุณคิดว่า หารายได้ จากฟอร์มูลาวัน เร็วดี เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศ มันเหมือนตบหน้าชาวบ้านในชุมชนเหล่านั้น ที่ช่วยกันอนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเรามาตลอด สิ่งนี้ มันสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น ในยุคที่เรามีชาวต่างชาติ มาลงทุน มาสนใจ หรือเรากำลังจะควบรวมกับ อาเซียน ความเป็นตัวเรา เอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ได้หมายความว่าเราต้องโบราณไม่เปลี่ยนแปลง แต่ว่าการผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตในปัจจุบัน กับ เรื่องราวอดีตประวัติศาสตร์"
...
โดยเฉพาะย่านนี้ มันมีความกลมกลืนเป็นอย่างดี กระทรวงการท่องเที่ยวฯ น่าจะสนับสนุน สิ่งที่มาจากชุมชน ข้อสำคัญคือ ต้องฟัง เดี๋ยวนี้เราเป็นยุคของการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่ออกแรงที่จะอนุรักษ์ คุณค่าของย่านนี้เอาไว้ อยากให้คิดใหม่ว่าเอางบตรงนี้ ไปทำเรื่องแบบนี้ดีกว่า
สุดท้ายนักต่อต้านเอฟวันเหยียบเกาะรัตนโกสินทร์ผู้นี้ยังกล่าวย้ำด้วยว่า เกาะรัตนโกสินทร์ มีคณะกรรมการกรุง ซึ่งถ้ากรุงเทพฯ และคณะกรรมการกรุงฯ เกิดอนุมัติให้จัดการแข่งขันได้ ชุมชนอาจจะพิจารณาฟ้องศาลปกครอง เพราะคุณอนุมัติให้ทำเรื่องอย่างนี้ได้ยังไง ทั้งๆ ที่มีอำนาจควรจะอนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้มากกว่า
เหยียบ ทำลายประวัติศาสตร์ ขายวัฒนธรรมแบบผิดๆ...!
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา ชาวไทย เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะประจำปี พ.ศ. 2550 นักวิชาการ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณสถานชื่อดังเป็นอีกคนที่ออกมาคัดค้านอย่างรุนแรงในประเด็นนี้ พร้อมย้ำชัดผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า ตนเองไม่เห็นด้วย 100% กับการแข่งขันเอฟวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานที่มีอยู่มากมายบริเวณพื้นที่ประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน
...
"ผมคิดว่าเรื่องนี้สื่อมวลชนต้องช่วยกัน ให้รถวิ่งรอบตัวเมือง ผ่านย่านชุมชน ผ่านพระบรมมหาราชวัง มันวิ่งกันไปได้ยังไง คนมันบ้า โดยเฉพาะถนนราชดำเนิน มันเป็นถนนที่ต้องให้ความเคารพ กรุงเทพฯเขาไม่ยอมหรอก เพราะเหมือนไปดูถูกเขา กรุงเทพมหานคร ก็มีศักดิ์ศรี ส่วนโบราณสถาน มันกระเทือนแน่ คุณไม่ต้องห่วง เพราะว่าตามเส้นทางมีวัดตั้งอยู่เยอะแยะ แล้วที่ศิริราชล่ะ คุณนึกไหม"
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณสถานชื่อดัง ผู้นี้ย้อนย้ำประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่บริเวณถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมกันระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับประชาธิปไตย เมื่อสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากราชดำเนินในที่อยู่ในเขตคลองหลอด ราชดำเนินนอก อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร แล้วจากกรุงเทพฯ ข้ามสะพานผ่านฟ้า ไปสะพานมัฆวาน ไปพระบรมรูปทรงม้า
"พวกที่ขายวัฒนธรรม ทำลายจิตวิญญาณ คนพวกนี้ทุเรศ เอาวัฒนธรรมของไทยมาหากินผิดๆ และให้คนที่ไม่หัวนอนปลายตีนเข้ามายุ่มย่าม นักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นแสน มันมากไป ยิ่งกว่าเดินขบวนเสียอีก ตายแล้วแบบนั้น อยากถามว่า มันเอาอะไรคิดกัน ผมคิดว่าเรามุ่งในเรื่องวัตถุนิยมเพื่อได้เงินตราจนเกินไป โดยไม่คิดถึงความสุขทางสังคม ความมั่นคงทางสังคม วัฒนธรรม และอย่าลืมว่าแต่ก่อนบ้านเมืองมันมีมิติ จิตวิญญาณ การทำอย่างนี้ มันทำลายมิติ จิตวิญญาณของคนเขตนี้ทั้งหมด มันลบหลู่มากเลย คุณบอกไปเลย ผมเป็นคนหนึ่งและรุนแรงด้วย ที่คัดค้านกับโครงการนี้"
เอฟวัน มัจจุราช พิฆาตหู...!
อีกประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายกังวลก็คือ เสียงเครื่องยนต์ของรถเอฟวัน ที่คาดว่าอาจมากกว่า 100 เดซิเบล ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับโสตประสาทของคนเรา ประเด็นนี้ ศ.เกียรติคุณ พญ.สุจิตรา ประสานสุข ผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ แม้ว่าจะเป็นการได้ยินเสียง จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นก็ตาม
"ปกติแล้ว ขณะที่เราพูดคุย ก็จะอยู่ที่ 35 เดซิเบล แต่มันเป็นเสียงหลายๆ ความถี่ และสม่ำเสมอ เสียงกระซิบแค่ 20 เดซิเบล คนปกติต้องสามารถได้ยิน แต่ถ้าพูดคุย กลุ่มคน 2-3 คน ก็จะประมาณ 30-35 เดซิเบล ถ้าอยู่ในที่ประชุม ใช้ไมโครโฟนนิดหน่อย คนอยู่ 30 คน ก็อาจจะถึง 60 เดซิเบล แต่นี่เอฟวันส่งเสียงแผดดังมากกว่า 100 เดซิเบล หรือมากกว่านั้น ฟังคนให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ เขาบอกว่า ปกติแล้ว 105 เดซิเบล อยู่ในโรงงาน ฟังได้ตั้งชั่วโมง 135 เดซิเบล ฟังแป๊บเดียว ไม่เป็นไร มันไม่ใช่ เพราะการที่เสียงรถเร่งเครื่อง บึมๆๆ ออกมาไม่สม่ำเสมอ เท่าที่เรารู้ ถ้าเป็นเรือบิน หรือเครื่องยนต์ที่เร่งเต็มที่ มันก็เกิน 120 เดซิเบลแล้ว"
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสียง บอกว่า หูของเรา ไม่ควรได้ยินเสียงเกิน 120 เดซิเบล ไม่ว่าโอกาสใดก็ตาม เด็กจะไวกว่าผู้ใหญ่ คนที่มีโรคหูอยู่แล้ว ก็จะยิ่งไวมาก หรือคนที่มีโรคทางกาย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน ก็ยิ่งเซนซิทีฟ ฉะนั้น อันนี้ ไม่เกี่ยวกับเวลา เกี่ยวกับความดังอย่างเดียว ณ จุดที่เร่งเครื่องขึ้นมากว่า 100เดซิเบล มันเกือบจะเหมือนพลุระเบิด ที่จ.สุพรรณบุรี มีคนแก้วหูทะลุ และหูเสียไปมากกว่า 20 คน
นอกจากนี้ พญ.สุจิตรา แสดงความเป็นห่วงอีกว่า หากต้องใช้เส้นทางแข่งขัน บริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง และบ้านเรือนมากมายละแวกนั้น ก็จะยิ่งทำให้เสียงเครื่องยนต์จากรถเอฟวันที่ดังสนั่นหวั่นไหวอยู่แล้ว ยิ่งทวีคูณ
"หมอคิดว่า การที่เรามาวิ่งกันในสถานที่ซึ่งมีกำแพงคอนกรีต เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะหมอเคยอยู่ในกรรมการควบคุมมลพิษมากว่า 20 ปี และเคยตรวจสอบความดังของเสียงเครื่องยนต์ อย่างเรือในคลองแสนแสบ จะดังกว่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวัดจากท่า เพราะเสียงของเรือในคลองแสนแสบ มันกระทบฝั่งสองข้าง มันเกิดเสียงสะท้อน เช่นกัน เมื่อมันไปเจอวัตถุอย่าง พระบรมมหาราชวัง กำแพงวัด บ้านเรือนต่างๆ จะเกิดเสียงทั้งสิ้น และเมื่อมันเข้าไปในหูเรา มันก็จะดังมากขึ้น"
ผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู รพ.กรุงเทพฯ ย้ำชัดว่า ไม่ว่าจะเสียงระเบิด, เสียงพลุ, เสียงรถ ที่มากกว่า 120 เดซิเบล พวกนี้ มันไม่ใช่เรื่องของการได้ยิน แต่มันเป็นเรื่องของแรงสั่นสะเทือนที่แรงมากไป จนกระทั่ง อาจเกิดการฉีกขาดของเซลล์ขนในหู เมื่อมันฉีกขาดแล้ว มันอาจจะไม่กลับคืนมา หรือถ้าเผื่อยังไม่เป็นความเสียหายถาวร ก็มีโอกาสจะกลับคืนได้ แต่ก็ต้องรักษาอย่างเร็วที่สุด เหมือนทหารที่ไปออกรบสงครามอิรัก กลับมาหูเสียเยอะมาก
ท้ายสุด พญ.สุจิตรา มองว่า ศึกฟอร์มูลาวัน ไม่ควรจะมาแข่งกันในตัวเมืองเช่นนี้ เพราะไม่เพียงแต่ผลกระทบทางเสียงที่มีต่อการได้ยินโดยตรงแล้ว ยังมีภาวะอันตรายหลายอย่างมาด้วยอย่างไม่คาดคิด
"ถ้าจะแข่งกันจริงๆ ไม่ควรจะมาแข่งกันในเมือง เพราะเรามีลูกเด็กเล็กแดง และการที่เราสัมผัสต่อเสียงดังอย่างนี้ มันเกิดภาวะเครียด คนเป็นโรคหัวใจ อาจจะหัวใจวายได้ หรือคนเป็นความดัน ความดันอาจขึ้นได้ หรือถ้าเด็ก มันก็จะทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ ถ้าได้ยินบ่อยๆ ฉะนั้น เรื่องเสียง ไม่ได้ทำแต่เพียงให้หูเราหนวก หรือ ชำรุดเสียหาย เท่านั้น แต่มันเกิดเสียงรบกวนในหู ซึ่งบางคนทนไม่ไหวเลย"
ที่สุดแล้ว บทสรุปนี้ คงไม่มีอะไรอธิบายได้ดีเท่ากับคำสัมภาษณ์ของอาจารย์ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทยเกี่ยวกับการจัดฟอร์มูลาวันในเมืองไทยว่า การจัดแข่งนอกสถานที่ มีข้อดีในด้านการตลาด แต่ทำให้การควบคุมเรื่องความปลอดภัยยากขึ้น ที่สำคัญ มีแต่คนขาดทุนโดยไม่ตั้งใจ อย่างสนามเซปังฯ ในมาเลเซีย หรือ สนามในตุรกี และเวลาที่ทีมเดินทางมาแข่งในเมืองไทย ต้องเสียเงินให้ทีมแข่งด้วย ทั้งค่าขนส่งรถแข่ง ค่าเลี้ยงดูปูเสื่อตลอดรายการ ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดทีวี ผู้จัดได้แค่ค่าบัตรผ่านประตู และค่าโฆษณารอบๆ สนาม ลงทุนไปเป็นหมื่นล้านบาท ถามว่าจะได้เงินกลับมาเท่าไร
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ เอฟวันเหยียบเกาะรัตนโกสินทร์ที่รัฐบาลทำตามความต้องการของ สหพันธ์รถยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ) ทั้งๆ ที่มีสนามอีก 2 แห่ง (เมืองทองธานี และศูนย์ราชการ) ที่อยู่ในทางเลือก ได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน.
**มาทำความรู้จักฟอร์มูลาวัน**