สารคดีสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องที่คุณไม่ควรพลาด กับลมหายใจสุดท้ายของผืนป่าแม่วงก์...!
“แอ๊ก-แอ๊ก-แอ๊ก” เสียงแหบแหลมดังขึ้น พร้อมกับร่างสีขาวดำพุ่งผ่านอากาศไปราวลูกกระสุนปืนใหญ่ และรวดเร็วพอๆ กับเสียงร้อง จนกล้องดูนกในมือผมยังไม่ทันจะยกขึ้นมาด้วยซ้ำ ภายในชั่วพริบตา ลำห้วยแม่กระสาก็เหลือเพียงเสียงน้ำไหลกระแทกหิน จนดังกลบสำเนียงป่าอื่นๆ ไปสิ้น
ทว่า เพียงเท่านั้นก็มากพอแล้วสำหรับการย้อนรอย “นกกระเต็นขาวดำใหญ่” (Megaceryle lugubris) ที่ขึ้นชื่อว่าหาดูได้ยากเหลือเกิน เพราะหลายปีมาแล้วที่ผมไม่ได้เห็นนกกินปลาขนาดใหญ่ชนิดนี้ อารมณ์ความตื่นเต้นของผมย้อนกลับคืนมาไม่ต่างจากคราวก่อนๆ ทุกครั้งที่ได้กลับมาเยือนส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกแห่งนี้

เทพีแห่งโชคคงเข้าข้างผม เพราะเพียงแค่ความพยายามครั้งแรก ความสมหวังก็ปรากฏกายอยู่ตรงโตรกหินในคลอง ขลุงข้างที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งเป็นจุดที่ทราบกันดีว่า นกในฝันของนักดูนกมักบินผ่านไปมาเป็นประจำ เพราะลักษณะลำคลองในป่าโปร่งที่เต็มไปด้วยก้อนหินใหญ่ คือถิ่นอาศัยหลักของนกชนิดนี้ และนั่นก็สะท้อนภาพลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของป่าแม่วงก์
...
หลายคนรู้จักแม่วงก์ในฐานะอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของไทย มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ น้ำตกสูงสวย ตลอดจนความสูง 1,964 เมตรจากระดับทะเลของดอยโมโกจู อันเลื่องลือ อุทยานแห่งชาติเนื้อที่ 894 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์
แม้แผนการของผมคราวนี้ จะเป็นเพียงการเดินทางสำรวจเส้นทางธรรมชาติสู่น้ำตกแม่กระสา เพื่อเก็บข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ทว่าพอถึงกำหนดเดินทางจริง กลับเข้าทำนอง “ใกล้ตาแต่ไกลตีน” เพราะเราต้องเดินเท้ากันตั้งแต่ที่ทำการอุทยานฯ กันเลยทีเดียว อีกทั้งยังต้องแบกหามอุปกรณ์ตั้งแคมป์ กล้องถ่ายภาพ และเครื่องไม้เครื่องมืออีกพะเรอเกวียนจนพะรุงพะรังไปหมด
ระหว่างเส้นทางเดินไปน้ำตกแม่กระสา ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกันกับการไปดอยโมโกจู ภาพของป่าดงดิบกลับไม่บริสุทธิ์อย่างที่หลายคนคาดคิด เพราะบริเวณนี้เป็นป่าฟื้นสภาพจากการที่เคยถูกตัดจนเหี้ยนมาแล้ว ทั้งจากการให้สัมปทานป่าไม้และการบุกรุกแผ้วถางอย่างหนักในอดีต ไม้สักที่กุดเหลือแต่ตอเก่าผุค้างป่า ยังเผยให้เห็นร่องรอยของซากอดีต บางตออดทนไม่ยอมแพ้ก็แตกหน่อเป็นต้นคลุมตอเดิมไว้ รวมถึงต้นสักจากการปลูกสร้างสวนป่าที่เติบโตขึ้นมาทดแทนในบางส่วน ป่าสักบริเวณนี้คือส่วนหนึ่งของลักษณะสำคัญของผืนป่าแม่วงก์ นั่นคือป่าเบญจพรรณ และหากรวมกับพื้นที่ป่าเต็งรังซึ่งเชื่อมต่อกันแล้ว
อาจคิดเป็นเนื้อที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่อุทยานฯ ทั้งหมดด้วยซ้ำ ป่าแม่วงก์ไม่ได้สำคัญเพียงแค่การท่องเที่ยว เพราะหากพิจารณาจากที่ตั้ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์แวดล้อมไปด้วยพื้นที่อนุรักษ์สำคัญอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เว้น
ก็แต่ทางทิศตะวันออกซึ่งติดกับป่าสงวนและชุมชนท้องถิ่น
ดังนั้น ผืนป่าแม่วงก์จึงเป็นเสมือนปราการปกป้อง “ไข่แดง” อย่างมรดกโลกห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร รวมถึงป่าอนุรักษ์อื่นๆ ที่ผนวกกันเป็นผืนป่าตะวันตก ป่าผืนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการรุกคืบของชุมชนและกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์

กระนั้น ยังนับว่าเป็นโชคดีของป่าแม่วงก์ในปัจจุบัน ผลสัมฤทธิ์ของการอนุรักษ์และความต่อเนื่องของป่าแม่วงก์กับผืนป่าใหญ่ตะวันตก คือการที่สัตว์ป่าหลายชนิดกำลังกลับคืนมา สัตว์เหล่านี้เคลื่อนย้ายมาจากผืนป่าตะวันตกที่สมบูรณ์กว่า กลับมาสู่พื้นที่ฟื้นฟู ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือดับเบิลยูซีเอส (Wildlife Conservation Society: WCS) ยืนยันว่า เสือโคร่งในป่าแม่วงก์กำลังเพิ่มจำนวนอย่างเห็นได้ชัด โดยปรากฏหลักฐานจากร่องรอยและการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ แม้กระทั่งเส้นทางเดินสู่ห้วยแม่กระสา ที่เราย่ำเท้ากันในการเดินทางครั้งนี้ ก็เพิ่งจะบันทึกภาพเสือโคร่งแม่ลูกเอาไว้ได้ก่อนหน้าการเดินทางของเราไม่นาน
เสือโคร่งเหล่านั้น กระจายตัวมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีการศึกษาเสือโคร่งและอนุรักษ์ปกป้องอย่างจริงจัง จนเสือโคร่งเพิ่มจำนวนขึ้น และตราบใดที่ป่าห้วยขาแข้งยังมีขนาดเท่าเดิม ป่าแม่วงก์จึงกลายเป็นพื้นที่รองรับประชากรเสือโคร่งที่เพิ่มขึ้นโดยปริยาย หลักฐานชิ้นหนึ่งคือภาพถ่ายของเสือโคร่งตัวหนึ่งที่กล้องดักถ่ายภาพเก็บภาพไว้ได้ในป่าห้วยขาแข้ง หลังจากนั้นไม่นานกลับปรากฏภาพของมันอีกครั้งในป่าแม่วงก์ นั่นหมายความว่า หากเราสามารถควบคุมการล่าสัตว์ป่าได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง หลายฝ่ายคาดกันว่าอีกไม่เกิน 10 ปี อุทยานแห่งชาติแม่วงก์จะกลายเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีประชากรเสือโคร่งชุกชุมอีกแห่งหนึ่งของไทยและของโลก เช่นเดียวกับนกยูงที่เชื่อกันว่าสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ไม่ยาก (ขอเพียงไม่สูญพันธุ์ไปก่อน) พื้นที่ “ลานนกยูง”
ซึ่งเป็นบริเวณที่ทางราชการวางแผนก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเสมอ และเมื่อโครงการนี้ได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้ง หลักฐานที่บ่งบอกถึงการกลับมาของนกขนาดใหญ่ ที่เชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นี้นานแล้ว ก็ได้รับการเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย คำบอกเล่าของคนที่พบเห็น หรือได้ยินเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์
การกลับมาของนกยูง คาดกันว่าเกิดขึ้นคล้ายคลึงกับกรณีของเสือโคร่ง นั่นคือพวกมันกระจายตัวมาจากป่าห้วยขาแข้ง และลานนกยูง ก็เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนกยูงเพศผู้ ซึ่งต้องการพื้นที่โล่งกว้าง เพื่อแสดงความเป็นราชาแห่งปักษี ด้วยการรำแพนขนคลุมหางที่งดงามกว่านกใดๆ
เช่นเดียวกับ นกเงือก ซึ่งพบในป่าแม่วงก์ถึง 6 ชนิด และเชื่อว่าคงไม่มีชนิดใดโดดเด่นไปกว่า นกเงือกคอแดง (Aceros nipalensis) นกเงือกที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจาก สีสันอันฉูดฉาดแตกต่างไปจากนกเงือก ส่วนใหญ่ที่มีเพียงสีขาวและดำเป็นหลัก ในอดีตนกเงือกชนิดนี้แทบจะสูญสิ้นไปจากป่าเมืองไทย และยังอยู่ในสถานะถูกคุกคามทั่วโลก นกเงือกคอแดงเป็นนกเงือกชนิดเดียวที่มีแหล่งอาศัยหลัก คือป่าดิบบนภูเขาสูง 600 เมตร จากระดับทะเลขึ้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการยืนยันว่า สูญพันธุ์ไปจากป่าภาคเหนือ เนื่องจากการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และแม้จะมีข่าวคราวการพบเห็นประปรายในผืนป่าตะวันตก แต่ก็อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือหวงห้าม เกินกว่ามนุษย์จะเข้าถึงได้ง่ายๆ
...
นับเป็นข่าวดีของนักดูนกและนักธรรมชาติวิทยา เมื่อมีผู้พบเห็นนกเงือกคอแดง บริเวณ “ช่องเย็น” จุดสูงสุดที่ถนน จากที่ทำการฯ สามารถขึ้นไปถึง ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ช่องเย็นก็กลายเป็น “หมาย” ของการดูนกเงือกคอแดงที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดในประเทศไทย
เวลาเพียงสามคืนบริเวณลำน้ำแม่กระสา และฝนฟ้าที่ตกไม่เป็นเวลาในปีนี้ ทำให้ผมสำรวจอะไรไม่ได้มาก กระนั้นเมื่อลองย้อนนึกดูแล้ว ช่วงเวลาเพียงสั้นๆ นี้ ผมกลับได้พบงูที่ไม่รู้จัก ผีเสื้อที่ไม่เคยเห็นซึ่งจนทุกวันนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้จากคู่มือดูผีเสื้อเล่มใดๆ ยังไม่รวมดอกไม้ หรือพืชป่าที่ผมไม่ชำนาญ ในสายตาของนักธรรมชาติวิทยา ผมคิดว่าป่าแม่วงก์ยังมีความลับอีกมากให้ค้นหา สำหรับนักดูนกอย่างผม การได้เห็นนกกระเต็นขาวดำใหญ่สองสามครั้ง ก็ทำให้พออุ่นใจได้ว่า พวกมันยังสามารถอาศัยอยู่ได้ในผืนป่าเมืองไทย ในวันที่ถ่านไฟความขัดแย้งเรื่องการพัฒนาพื้นที่สำหรับเขื่อนถูกเขี่ยให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ต่างคนต่างเสนอความเห็นที่แตกต่าง เพื่อชักชวนให้เข้าร่วมกับฝ่ายตนเอง คงขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลใดน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักกว่ากัน ทว่าในวันที่ผมกำลังลงมือเขียนเรื่องราวนี้ ผมเพิ่งมีโอกาสได้พบเขียดงู สัตว์ประหลาดจำพวกเดียวกับกบหรือเขียด เพียงแต่มันไม่มีขาและตัวยาวเหมือนงู

ที่ตื่นเต้นยิ่งกว่านั้นคือ ไม่มีใครรู้จักมันเลย แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ผมคงไม่สามารถรอบทสรุปครั้งนี้ได้ เพียงแต่อาจกล่าวได้ว่า สัตว์ปริศนาจากป่าแม่วงก์ตัวนั้น คงจุดประกายให้การเดินทางครั้งใหม่ของใครบางคนเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน
เรื่อง วัชระ สงวนสมบัติ
ภาพถ่าย เริงฤทธิ์–เริงชัย คงเมือง, อรุณ ร้อยศรี ข้อมูลจากนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย http://www.ngthai.com/ngm/1302/default.asp