น่าสนใจและน่าติดตามทุกๆ วันพฤหัสบดีเช่นเคย กับสารคดีออนไลน์ที่ไทยรัฐออนไลน์ภูมิใจนำเสนอ วันนี้พบกับมหากาพย์แห่งพายุที่อ่านได้รับประกันความมัน และได้ความรู้แน่นอน...
“เราเรียนรู้บางสิ่งได้ดีที่สุดในยามคลื่นลมสงบเท่านั้น ทว่าบางสิ่งอาจต้องเรียนรู้ในยามเกิดพายุ”
วิลลา แคเทอร์ นักประพันธ์เขียนถึงที่ราบเกรตเพลนส์ (Great Plains) ไว้เช่นนั้น คำกล่าวนี้ช่างเหมาะเจาะกับสภาพอากาศของที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ทุกปีระหว่างเดือนมีนาคมถึงตุลาคมที่ราบเกรตเพลนส์กลายเป็นฉากของพายุรุนแรงนับพันๆ ลูก จนดูประหนึ่งว่าภูมิอากาศและภูมิประเทศสมคบกันแต่งแต้มท้องฟ้าให้กลายเป็น ภาพจิตรกรรมอันดุเดือดเกรี้ยวกราด
เมื่ออากาศแห้งและเย็นจากเทือกเขาร็อกกีเคลื่อนผ่านอากาศร้อนชื้นจากอ่าวเม็กซิโก สภาพการณ์ต่างๆ ก็สุกงอมพร้อมจะก่อเกิดพายุ ซึ่งอาจปะทุออกมาในรูปของฝนและลูกเห็บ ฟ้าร้องและฟ้าแลบ ลมและเมฆงวง (funnel) พายุอาจคร่าชีวิต ทำลายล้างทุกสิ่งที่ขวางหน้า และก่อเกิดอุทกภัย แต่พายุก็มอบสิ่งดีๆ ให้ด้วยเช่นกัน โดยนำฝนมาสู่เรือกสวนไร่นาที่แห้งผาก พัดพาลมมาหมุนกังหัน และไนโตรเจนที่เกิดจากสายฟ้ากลายเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงผืนดินที่ขาดสารอาหาร
ใน การถ่ายภาพพายุอันน่าพิศวงและครั่นคร้ามเหล่านี้ มิตช์ โดบราวเนอร์ ช่างภาพภูมิทัศน์ จับมือกับนักไล่ล่าพายุชื่อดังอย่างโรเจอร์ ฮิลล์ ในการติดตามระบบสภาพอากาศราว 45 ระบบใน 16 รัฐ และตระเวนเดินทางเป็นระยะทางถึง 65,000 กิโลเมตร เพียงเพื่อให้ได้จังหวะเวลาที่ดีที่สุด โดบราวเนอร์บอกว่า “การถ่ายภาพพายุก็เหมือนกับการถ่ายภาพการแข่งขันกีฬาแหละครับ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเร็วมาก ผมต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ตลอดเวลาครับ”
เขาอธิบายถึงการที่เลือกถ่ายเป็นภาพขาวดำว่า “ถ้าเป็นภาพสี ทุกอย่างคงไม่แตกต่างจากภาพที่เราเห็นทุกวัน”
...
เขาติดตามเกาะติดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงที่เรียกว่า ซุปเปอร์เซลล์ (supercell) เป็นพิเศษ พายุประเภทนี้พบเห็นได้ยากและ ทรงพลังที่สุด การเกิดซุปเปอร์เซลล์ได้นั้นต้องอาศัยองค์ประกอบสี่อย่าง ได้แก่ ความชื้น ความไม่เสถียรในบรรยากาศมวลอากาศร้อนหรือความกดอากาศต่ำที่จะทำให้อากาศลอยตัวขึ้น และแรงเฉือนลม (wind shear) แนวตั้งเพื่อทำให้พายุหมุน เมื่อองค์ประกอบเหล่านั้นเกิดขึ้นถูกที่ถูกเวลา พายุที่มีโครงสร้างเฉพาะตัวก็บังเกิดขึ้น
ที่จริงแล้ว ทั้งโดบราวเนอร์และฮิลล์มองซุปเปอร์เซลล์เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ครั้นเติบใหญ่ก็มีพละกำลังมากขึ้น รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิต และค่อยๆตายลงในที่สุดแต่การคิดหรือจินตนาการไปเช่นนั้นหาได้ทำให้อันตรายของพายุลดน้อยลง กระนั้น ฮิลล์ก็ยอมรับว่า พายุเรียกร้องการชื่นชมและความเคารพยำเกรงจากเราเสมอ “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับที่ได้ถ่ายภาพเหล่านี้”
ส่วนโดบราวเนอร์ทิ้งท้ายว่า “ได้ถ่ายภาพพายุพวกนี้ ถึงตายก็ตายตาหลับครับ”
ภาพถ่าย มิตช์ โดบราวเนอร์ เรื่อง เจเรมี เบอร์ลิน ข้อมูลจากนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก http://www.ngthai.com/ngm/1207/default.asp