สนุกสนาน ภาพสวย กับสารคดีที่สัปดาห์นี้ไทยรัฐออนไลน์พาไปดำดิ่งกับสถานที่ที่เรียกกันว่า  'เกาะแก้วพิสดาร' ในเยเมน...!

ใกล้เที่ยงคืนบนเนินเขาที่ป่าต้นเลือดมังกร (Dragon’s Blood) เจริญงอกงาม พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านพ้นคืนเต็มดวงทอแสงสีเงินเย็นตาอาบไล้ภูมิประเทศอันขรุขระ  ภายในรั้วหินของที่พักคนเลี้ยงแกะ เปลวไฟสะท้อนใบหน้า ชายหญิงสี่คนที่นั่งเท้าเปล่าล้อมวงรอบกองไฟ  พลางจิบชาร้อนผสมนมแพะสดใหม่


นีฮัห์ มัลฮะห์ สวมผ้านุ่งคล้ายโสร่งที่เรียกว่า ฟูตอฮ์ ส่วนเมตากัล ผู้เป็นภรรยาสวมชุดยาวและผ้าคลุมศีรษะสีม่วงสดเข้าชุด  ทั้งสองพูดคุยเรื่องชีวิตบนเกาะโซโคตราด้วยภาษาที่เหลือคนเข้าใจน้อยลงทุกวัน

แม้ทั้งคู่จะอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็รู้ว่าป้ายที่ติดตั้งใหม่ตรงตีนเขาเขียนไว้ว่า พื้นที่แถบนี้ได้รับการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ  พวกเขาเล่าว่า ชาวต่างชาติมาที่หมู่บ้านเพื่อถ่ายรูปต้นเลือดมังกรต้นกุหลาบทะเลทราย และดอก มิชฮาฮีร์  นักวิทยาศาสตร์มาที่นี่และพลิกก้อนหินก้อนแล้วก้อนเล่า โดยอ้างว่ามาเก็บแมลงและกิ้งก่า

...

เกาะโซโคตราตั้งอยู่ในทะเลอาหรับ  ห่างจากชายฝั่งประเทศเยเมนที่ระส่ำระสายราว 350 กิโลเมตร ในยุคหนึ่งเคยเป็นสถานที่ในตำนานสุดขอบแผนที่โลก เป็นเกาะที่น่าพรั่นพรึงสำหรับนักเดินเรือ เพราะเต็ม ไปด้วยฝูงปลาอันตราย  พายุกราดเกรี้ยว และชาวเกาะที่เชื่อกันว่าสามารถบงการกระแสลมและบังคับเรือให้แล่นเข้าฝั่งเพื่อจับชาวเรือและปล้นสะดม ปัจจุบัน ความหลากหลายทางชีวภาพอันรุ่มรวยของโซโคตราดึงดูด นักสำรวจหน้าใหม่ที่พยายามทำความเข้าใจความลับของเกาะ  ก่อนที่โลกสมัยใหม่จะเปลี่ยนโฉมหน้าที่แห่งนี้ไปตลอดกาล

ชาวอียิปต์ กรีก และโรมันโบราณต่างเคยใช้ประโยชน์จากขุมทรัพย์ทางธรรมชาติของโซโคตราทั้งยางไม้หอมอย่างกำยาน สารสกัดจากว่านหางจระเข้ที่มีสรรพคุณทางยา  และยางไม้สีแดงก่ำของต้นเลือดมังกรที่นำมาบดทำสีของศิลปิน มูลค่าของกำยานและยางจากต้นเลือดมังกรพุ่งสูงสุดในยุคจักรวรรดิโรมัน หลังจากนั้น เกาะโซโคตรากลายเป็นเพียงจุดแวะพักระหว่างทางของพ่อค้า  และผ่านร้อนผ่านหนาวยาวนานหลายร้อยปีโดยเกือบตัดขาดทางวัฒนธรรมจากโลกภายนอก

ทว่าตอนนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้วการศึกษาวิจัยในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่สิบเก้าและต้นศตวรรษที่ยี่สิบพิสูจน์ให้เห็นว่า  เกาะเขตร้อนที่แม้จะมีขนาดเพียง 134 คูณ 43 กิโลเมตร แห่งนี้ กลับได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  โดยรวมเอาองค์ประกอบต่างๆ ของทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป เข้าไว้ด้วยกันในลักษณะที่ยังคงสร้างความฉงนให้นักชีววิทยาจนถึงทุกวันนี้  จำนวนพืช  ประจำถิ่น (ไม่พบในที่อื่น) ต่อตารางกิโลเมตรบนเกาะโซโคตราและเกาะเล็กๆ ใกล้เคียงอีก 3 เกาะจัดว่าสูง เป็นอันดับที่สี่ของกลุ่มเกาะแห่งใดๆ ในโลก เป็นรองก็แต่หมู่เกาะเซเชลส์ นิวแคลิโดเนีย และฮาวายเท่านั้น

ไม้ประจำถิ่นอย่างต้นเลือดมังกรเป็นสัญลักษณ์ของโซโคตรา  ด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์จนได้ปรากฏโฉมบนเหรียญ 20 ริยาลของเยเมน เลือดมังกรเป็นญาติใกล้ชิดกับไม้ประดับสกุล Dracaena  พวกมันเจริญงอกงามเหนือที่ราบสูงและเทือกเขาเกือบทั่วทั้งเกาะ พืชพรรณหลายชนิดบนเกาะผ่านกระบวนการวิวัฒนาการให้เหมาะกับสภาพร้อนแล้งบนเกาะ และอาศัยหมอกเป็นแหล่งน้ำ  พืชประจำถิ่นหายากที่สุดบางชนิดของโซโคตราเติบโตตามหน้าผาชันบนเทือกเขาและพื้นที่รอบนอกของเกาะ  ซึ่งเป็นจุดที่สามารถดูดซับความชื้นยามหมอกกลั่นตัวตามโขดหินได้  จริงๆ แล้วกิ่งก้านที่หงายขึ้นฟ้าของต้นเลือดมังกรเป็นการปรับตัวทางวิวัฒนาการอย่างหนึ่งเพื่อกักเก็บความชื้นจากหมอกในอากาศ  ทว่าน้ำดังกล่าวกลับลดน้อยลงทุกวัน หากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการเกิดใหม่ของเลือดมังกรและพันธุ์ไม้หายากอื่นๆ นั่นแปลว่าอาจไม่มีทางแก้ไขในระยะสั้น

ขณะเดียวกัน นักอนุรักษ์ต่างวิตกเกี่ยวกับภัยคุกคามอื่นๆ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์โซโคตราไม่มีสนามบินเต็มรูปแบบหรือถนนลาดยางจนกระทั่งเมื่อปี 1999 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อัตราการพัฒนาก็เร่งรุด การเปลี่ยนแปลงที่กินเวลาหลายสิบปีในที่อื่นๆ กลับย่นย่อเหลือเพียงไม่กี่ปีบนเกาะนี้

...

แม้ความไม่สงบทางการเมืองในเยเมนเมื่อไม่นานมานี้  จะจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา  ชายหาดอันงดงาม  เทือกเขาขรุขระกันดาร อีกทั้งความหลากหลาย ทางชีวภาพที่ไม่เหมือนใคร  และวัฒนธรรมโบราณของเกาะโซโคตรา  ได้ดึงดูดนักเดินทางจำนวนมากให้ มาเยี่ยมเยือน  เห็นได้จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 140 คนเมื่อปี 2000 เป็นเกือบ 4,000 คนในปี 2010

เคย์ ฟาน ดาม นักชีววิทยาชาวเบลเยียม ซึ่งเดินทางมาโซโคตราครั้งแรกเมื่อปี 1999 โดยเป็นส่วนหนึ่งของคณะสำรวจทางวิทยาศาสตร์ เล่าว่า “เราได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมบ้านชาวบ้าน ผมไม่เพียงได้เรียนรู้ว่าชาวโซโคตรามีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมสูงของพวกเขามาก  แต่ยังตระหนักด้วยว่าหนทางเดียวที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายสามารถอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ต้องเป็นเพราะวิถีดั้งเดิมที่คนท้องถิ่นปกป้องเกาะของพวกเขาเป็นแน่”

หมู่บ้านมากกว่า 600 แห่งตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วเกาะโซโคตรา แต่ละหมู่บ้านมี มุกอดดัม (muqaddam) หรือผู้เฒ่าซึ่งเป็นที่เคารพ  ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา ชาวโซโคตราได้พัฒนาหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการจัดการทรัพยากร  ตั้งแต่การใช้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์  การตัดไม้  และการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างเผ่าไปจนถึงการใช้ทรัพยากรน้ำ และเรื่องอื่นๆ  ในทางกลับกัน เพื่อนร่วมชาติบนแผ่นดินใหญ่เยเมนมีความอาฆาตรุนแรงและความขัดแย้งระหว่างเผ่าเป็นวิถีชีวิตมายาวนาน  ชาวโซโคตรามีธรรมเนียมในการแก้ปัญหาด้วย                   

สันติวิธีโดยอาศัยกลไกการประชุมร่วมกันระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็น ทางเลือกเดียวในการอยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันทารุณของเกาะ ซึ่งส่งผลข้างเคียงเชิงบวกต่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอันโดดเด่นของโซโคตรา

...

ฟาน ดาม เล่าว่า “โซโคตราจัดว่ายังบริสุทธิ์อยู่มากนะครับ  แต่นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้ คลื่นความเจริญและการพัฒนาที่ถาโถมเข้ามาเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อความหลากหลายทางชีวภาพของโซโคตรา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวโซโคตราอนุรักษ์สิ่งต่างๆไว้ด้วยขนบประเพณีของพวกเขา  แต่ตอนนี้พวกเราทุกคนมีส่วนที่จะช่วยให้วิถีทางนี้ดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต  และยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางภัยคุกคามรอบด้านโซโคตราเป็นหนึ่งในสถานที่สุดท้ายของโลกแล้วครับที่เรายังสามารถปกป้องสภาพแวดล้อมเฉพาะตัวของเกาะเอาไว้ได้ เป็นที่ที่เรายังสามารถทำอะไรดีๆ ได้ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป”


เรื่อง เมล ไวต์  ภาพถ่าย มาร์ก ดับเบิลยู. มอฟเฟตต์  และไมเคิล เมลฟอร์ด ข้อมูลจาก http://www.ngthai.com/ngm/1206/default.asp