ผู้มีปัญหาการสูญเสียฟันเพียงแค่หนึ่งหรือสองซี่ นอกจากจะไม่ปลอดภัย และรู้สึกไม่มั่นใจแล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุของการสูญเสียฟันแต่ละซี่ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ยีนในร่างกายผิดปกติ ฟันผุ โรคปริทันต์ แต่ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใด ผู้สูญเสียฟันต่างก็ต้องการที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะกลับมาเคี้ยวอาหารได้เหมือนเดิม สามารถไว้วางใจในความคงทนของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรักษา มีสุขภาพฟันที่ดี รวมถึงรู้สึกมั่นใจ

เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่การทำรากฟันเทียมได้เกิดขึ้น เพื่อแทนที่รากฟันธรรมชาติ โดยรากฟันเทียมนั้นทำจากไทเทเนียม ซึ่งจะถูกฝังในกระดูกขากรรไกรเพื่อทดแทนรากฟันธรรมชาติที่เสียไป ซึ่งไทเทเนียมสามารถเข้ากับร่างกายของมนุษย์และกระดูกได้เป็นอย่างดี หลังจากที่เข้ารับการรักษารากฟันเทียมจะทำหน้าที่เสมือนฐานรากสำหรับการเชื่อมฟันปลอมแต่ละซี่ สะพานฟัน หรือเป็นตัวยึดของฟันปลอมทั้งหมด


รากฟันเทียมยังเป็นวิธีการรักษาในระยะยาวที่ให้ความสวยงาม โดยได้รับการพัฒนาขึ้นให้มีคุณภาพและ ความคงทนที่มั่นใจได้ นอกจากนี้ รากฟันเทียมใหม่ๆ ยังมีความสวยงามเหมือนธรรมชาติมากยิ่งขึ้นอีกด้วย รากฟันเทียมยังช่วยถ่ายเทน้ำหนักในการเคี้ยวอาหารให้ถ่ายเทไปยังขากรรไกร จึงช่วยรักษากระดูกให้มีสภาพเหมือนเดิม หากไม่มีรากฟันเทียมหรือใช้สะพานฟันแบบเดิมหรือการใช้ฟันปลอมบางส่วน กระดูกอาจจะยุบและทำให้รูปร่างของใบหน้าเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

สตรอแมนน์ (Straumann) ผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมรากฟันเทียม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ จึงได้จัดงานเสวนาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “เสริมสร้างคุณภาพชีวิตด้วยรากฟันเทียม” เพื่อให้คนไทยได้มีความรู้ ความเข้าใจในรากฟันเทียมดียิ่งขึ้น

...


ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ชำนาญการรากเทียมและสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมทันตกรรมรากเทียมนานาชาติ (The International Team for Implantology) กล่าวว่า “รากฟันเทียมเป็นการฝังไทเทเนียมลงไปในกระดูกขากรรไกร ในกรณีที่คนไข้สูญเสียฟัน โดยต้องรอให้กระดูกหายดีและจับกับรากฟันเทียมแน่นดีแล้ว ก็จะทำที่ครอบฟันขึ้นมาสวม ทำให้ไม่ต้องมีการกรอฟัน จึงไม่ต้องสูญเสียเนื้อฟันที่ยังดีอยู่ ในกรณีที่คนไข้ไม่มีฟันเลยทั้งปากและต้องใส่ฟันปลอม ก็อาจใช้รากฟันเทียมเป็นตัวช่วยยึดฟันปลอมในปากให้ติดแน่นยิ่งขึ้น โดยการฝังลงไปในกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะช่วยให้คนไข้มีความมั่นใจมากขึ้นในเวลายิ้มหรือพูดคุย สามารถเคี้ยวอาหารได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งการใส่รากฟันเทียมนี้สามารถทำได้ในคนที่สูญเสียฟันตั้งแต่หนึ่งซี่ขึ้นไป หรือคนที่ไม่มีฟันเลยทั้งปาก สามารถใช้ได้กับคนในทุกวัยที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น ความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ เบาหวาน หรือในคนที่สูบบุหรี่”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ และศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ แพทย์หญิงสุจิตรา ประสานสุข ประธานองค์กรเพื่อการได้ยินนานาชาติของประเทศไทยและผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ ผู้มีประสบการณ์ในการทำทันตกรรมรากเทียม เปิดเผยว่า “สาเหตุที่เลือกใช้รากฟันเทียมไทเทเนียม เพราะพบว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดหลังจากได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งทันตแพทย์ที่ทำการรักษาได้ออกแบบให้มีสี ขนาดและรูปทรงเหมาะกับเรามากที่สุด นอกจากจะใช้งานได้เหมือนฟันธรรมชาติ เศษอาหารไม่ติดขณะรับประทานอาหาร ทำความสะอาดและดูแลได้ง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ยังคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไป เพราะไม่ต้องทำการรักษาบ่อยๆ และยังมีอายุการใช้งานที่นานมาก”


“ขั้นตอนในการใส่รากฟันเทียมจะเริ่มจากการตรวจสุขภาพช่องปากว่าเหมาะสมที่จะใส่รากฟันเทียมหรือไม่ จากนั้น จะเป็นการเอกซเรย์ดูลักษณะและปริมาณของกระดูก จึงจะมาสู่การวางแผนว่าจะใช้รากฟันเทียมขนาดใด จำนวนกี่ซี่ รวมถึงรายละเอียดในการรักษา โดยขั้นตอนเหมือนกับการทำฟันปกติ ไม่ต้องดมยาสลบ แค่ฉีดยาชา ซึ่งการใส่รากฟันเทียมลงไปในกระดูกนั้นเจ็บน้อย ยกเว้นต้องมีการเสริมกระดูกในกรณีที่มีกระดูกไม่เพียงพอซึ่งอาจจะระบมกว่าปกติเล็กน้อย หลังจากฝังรากฟันเทียม ก็ต้องรอให้กระดูกจับกับรากฟันเทียมให้แน่นก่อน ซึ่งระยะเวลาขึ้นอยู่กับสภาพและคุณภาพกระดูกของคนไข้ จากนั้น ก็จะเป็นการ ใส่ตัวครอบฟันลงบนรากฟันเทียม และจะให้คนไข้กลับมาตรวจเป็นระยะ” ทันตแพทย์ชัชชัยกล่าว

นายบีท สแปลิงเจอร์ ประธานบริหารและซีอีโอ สตรอแมนน์ กล่าวว่า “ภายในปี พ.ศ. 2558 จะมีผู้ทำรากฟันเทียมทั่วโลกประมาณ 50 ล้านคน ที่ได้รับการทำรากฟันเทียมมานานกว่าห้าปีแล้ว ซึ่งปัจจุบัน นวัตกรรมรากฟันเทียมได้รับการพัฒนาให้มีผิวพิเศษซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการรักษา มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นได้สูงกว่ารากฟันเทียมไทเทเนียมบริสุทธิ์ ทำให้รากฟันเทียมที่มีขนาดเล็กลงยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับคนเอเชียซึ่งมีรากฟันที่เล็กกว่าคนในทวีปอื่นๆ”

...


“ทันตกรรมรากเทียมได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในเอเชียรวมถึงประเทศไทย โดยมีอัตราความสำเร็จสูงถึงกว่า 90% เทคโนโลยีรากฟันเทียมยังได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยรากฟันเทียมที่มีพื้นผิวพิเศษจะช่วยให้ระยะเวลาในการรักษาเร็วขึ้นมาก จาก 3 เดือนเหลือเพียง 4 สัปดาห์ในคนไข้ที่มีกระดูกแข็งแรง อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยทันตแพทย์พร้อมด้วยการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อช่วยให้รากฟันเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และป้องกันการเป็นโรคเหงือก ทั้งนี้ วิธีการดูแลก็ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้ทั้งการแปรงฟันควบคู่กับการใช้ไหมขัดฟัน” ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต เสริม