นอกจากเป็นความบันเทิงแล้ว วงการคอสเพลย์ยังมีอะไรอีกมากมายที่น่าค้นหา จากแต่งแข่งขันกันด้วยมิตรภาพนั่นคือเรื่องราวของอดีต แต่ปัจจุบันมีแต่เรื่องขัดแย้งมากมาย เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ไทยรัฐออนไลน์ เจาะเรื่องนี้มาให้ได้รู้กัน...!

“คอสเพลย์” (Cosplay) กิจกรรมที่ผู้ใหญ่หลายคน อาจมองว่าเป็นสิ่งที่ดูไร้สาระ แต่หลายคนคงยังไม่ทราบว่า การจะแต่งชุดคอสเพลย์นั้นไม่ได้ทุ่มแค่เม็ดเงินเท่านั้น แต่ยังต้องทุ่มเวลา ความคิด แรงกาย และแรงใจ ไปแทบจะหมดหน้าตัก เพื่อที่จะทำให้ชุดคอสเพลย์นั้นออกมาดูเหมือนที่สุด และดีที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้จากชุดที่ใส่ออกมา รวมไปถึงท่าทาง บุคลิกของคนใส่ชุด ที่ต้องถอดแบบออกมาให้เหมือนกับตัวละครในการ์ตูน หรือเกมมากที่สุด...

Costume + Play = ความทุ่มเท…!

คอสเพลย์นั้นมีความหมายตรงตัวว่า “การเล่นเสื้อผ้า” เพราะเป็นการนำคำมาผสมกันระหว่าง Costume + Play แต่คำนิยามที่ให้ความหมายชัดเจนที่สุด คือ “การแต่งตัวเลียนแบบ” แต่เนื่องจากไม่ได้มีการบัญญัติศัพท์ภาษาอังกฤษไว้อย่างเป็นทางการ จึงอาจผสมคำกันได้อีกว่า Costume + Roleplay ซึ่งแปลว่า “การแต่งกายสวมบทบาท” โดยผู้ที่แต่งชุดคอสเพลย์ จะเรียกตัวเองสั้นๆ ว่าเลเยอร์ (Layer) ซึ่งไม่จำเป็นว่าคอสเพลย์จะต้องแต่งเลียนแบบการ์ตูนเท่านั้น แต่สามารถแต่งเลียนแบบตัวละครจากเกม หรือภาพยนตร์ก็ได้

เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมชนิดนี้ ถ้าไม่ทุ่มเท ไม่มีใจรักจริง ก็ยากที่งานจะออกมาดี ซึ่งการได้เป็นเลเยอร์นั้น นอกจากเราจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นๆ ผ่านตัวตนของเราได้แล้ว ยังเป็นการให้ความสุข ความสนุกสนานกับเด็กๆ รวมถึงวัยรุ่นบางคนที่ชอบตัวการ์ตูนนั้นๆ ซึ่งนอกจากจะมีมิตรภาพที่หาได้จากกลุ่มคนรักการ์ตูนกลุ่มนี้แล้ว ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันที่สูงมากในปัจจุบัน เนื่องจากการประกวด การแข่งขัน หรือการประชันบทบาทกันบนเวทีงานประกวดในปัจจุบัน

วงการคอสเพลย์บรรยากาศเก่าแสนอบอุ่น


เลเยอร์รุ่นเก่าท่านหนึ่ง กล่าวว่า คอสเพลย์ในยุคก่อนจะมีงานการ์ตูนที่จัดขึ้นเพียงไม่กี่งาน เช่นงานของกลุ่ม KAZE (คาเซ่) ซึ่งบรรยากาศมีความอบอุ่น เพราะจำนวนคนที่แต่งคอสเพลย์มีค่อนข้างน้อย ทำให้รู้จักกันทุกคน แต่ก็จะมีเป็นกลุ่มที่เขียนการ์ตูน คอสเพลย์ และจัดงานการ์ตูนในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งงานการ์ตูนในสมัยก่อน ก็ไม่ได้หวือหวา ไม่เน้นประกวดเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้การแต่งคอสเพลย์ในปัจจุบัน มีความแตกต่างกับสมัยก่อนมาก

“ในสมัยก่อน การหาช่างที่มาตัดชุดคอสเพลย์นั้นลำบากมาก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ในการทำชุดคอสเพลย์ ทำให้ชุดแต่งคอสเพลย์จะออกมารูปแบบง่ายๆ ไม่มีชุดที่ใหญ่โตอลังการเหมือนสมัยนี้”

เลเยอร์ท่านนี้ยังมองว่าความนิยมในการคอสเพลย์ในปัจจุบันที่มากขึ้น ทำให้การคอสเพลย์ มีการแข่งขันที่สูงมาก จนบางทีเด็กที่คอสเพลย์ก็มีปัญหา เพราะเรื่องการประกวดกันเอง ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีคนบางกลุ่ม ที่คอสเพลย์กันเพื่อหวังผลประโยชน์ แต่ความเป็นมิตรภาพ ความเป็นเพื่อนของคนในวงการคอสเพลย์ ก็ยังมีอยู่บ้าง แม้จะเป็นเพียงบางกลุ่มก็ตาม ซึ่งสามารถพบได้จากงานการ์ตูนขนาดเล็กได้ เช่นงานที่จัดโดยคนการ์ตูนกันเอง หรืองานที่จัดที่ต่างจังหวัด เป็นต้น

“ปัจจุบันนี้ งานประกวดคอสเพลย์ในเมืองไทยมีเยอะมากเกินไป เฉลี่ยประมาณ 7 ต่อ 10 เพราะต่างประเทศเองก็ยังไม่มีการประกวดที่เยอะ มากมายขนาดนี้ ที่เด่นๆ ก็จะเป็นที่ญี่ปุ่น ที่จัดงาน World Cosplay Summit เป็นหลัก แต่โดยรวมแล้วงานประกวดคอสเพลย์ มีจำนวนน้อยกว่างานที่จัดในประเทศไทยมาก”

จากมิตรภาพสู่ความขัดแย้ง

เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงทำให้มีความขัดแย้งของคนในวงการคอสเพลย์อยู่แล้ว ซึ่งเลเยอร์คนนี้ยังพูดถึงความขัดแย้งของวงการคอสเพลย์ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการทะเลาะกัน ว่ากัน บางครั้งก็ออกสื่อออนไลน์ บางครั้งก็มีการหาพวกให้สนับสนุนความคิดของตน ซึ่งเกิดจากปัญหาของส่วนบุคคล โดยมีปัจจัยจากเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ และเรื่องของชุดแต่งเอง ที่แต่ละคนนั้นดีกว่ากัน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น

“กรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใครรู้เบื้องหลังมากมาย แต่เห็นได้จากงานคอสเพลย์ที่จัดขึ้น ที่เห็นได้ชัดว่าสองคนนี้แข่งกัน อย่างเช่นจะมีกรณีเลเยอร์หญิงสองคน ซึ่งจะชอบแต่งคอสเพลย์ชนกันตลอด และพอได้เห็นเหตุการณ์แล้ว รู้เลยว่าสองคนนี้แข่งกันแน่นอน เพราะพอมาเจอกันในงาน ก็จะเขม่นใส่กัน ซึ่งเป็นการแข่งกันซะมากกว่า”

เลเยอร์คนนี้ยังแนะนำว่าปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ยังพอควบคุม ห้ามปราม หรือเจรจากันได้ ถ้าเป็นคนรู้จักกัน แต่ก็ไม่สามารถรู้จักกันได้หมดทุกคน เพราะสังคมคอสเพลย์เองก็เป็นสังคมที่ใหญ่ ซึ่งมีทั้งคนดี และไม่ดีปนกัน เหมือนสังคมทั่วไป

“บางครั้งก็อยู่ที่ตัวของเลเยอร์เองว่าจะแก้ไขปัญหายังไง แต่แนะนำว่าถ้ามีปัญหาก็หันหน้าเข้ามาคุยกัน เรื่องเก่าๆ ผ่านไปแล้ว ก็เลิกแล้วต่อกันไป แล้วคราวต่อไป เวลามีปัญหาก็ค่อยมานั่งคุยกันดีๆ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันน่าจะดีกว่า เพราะปัญหาส่วนใหญ่ก็เกิดจากบุคคลอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากการกลุ่มคอสเพลย์เอง”

มุมมองเลเยอร์รุ่นใหม่

นางสาวรัฐภรณ์ ชาญณรงค์ หรืองน้องฟ้า เลเยอร์รุ่นใหม่ กล่าวว่า ชอบแต่งคอสเพลย์เพื่อความสนุกมากกว่า โดยเริ่มจากการให้เป็นตัวแทนของโรงเรียน เพื่อประกวดคอสเพลย์ในโรงเรียน เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยเป็นการประกวดแข่งกับเพื่อนต่างโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันการแต่งคอสเพลย์ได้รับความนิยมมาก

“ส่วนหนึ่งคือการที่มีเลเยอร์ประเทศไทยไปประกวดคอสเพลย์ระดับประเทศ แล้วทำชื่อเสียงให้กับประเทศ เช่นไปประกวด World Cosplay Summit แล้วได้รางวัลกลับมา จึงทำให้เด็กสนใจ และรู้ว่ามีวงการแบบนี้เกิดขึ้นด้วย”

ตัวละครที่นิยมมากที่สุด น้องฟ้า กล่าวว่า เป็นการคอสเพลย์ตามตัวละครการ์ตูนญี่ปุ่นมากกว่า ส่วนการคอสเพลย์เกาหลี จะหนักไปทางเต้น Cover เลียนแบบศิลปินกลุ่มที่ชอบ ซึ่งในบางครั้งก็จะมีการจัดงานร่วมกันทั้งคอสเพลย์ และเต้น Cover ในงานเดียวกันเลย

ซึ่งจากการที่คอสเพลย์ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันกันสูง จนบางครั้งก็แยกไม่ออกว่าคนที่มาเล่นคอสเพลย์เพื่อความสนุก หรือเล่นคอสเพลย์เพื่อการแข่งขันมากกว่า

“คนที่คอสเพลย์เพื่อใจรัก ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีใจรักกับตัวละครที่แต่งชุดคอสเพลย์ จึงมีความตั้งใจที่จะทำชุดเอง ทำชุดไหนได้ก็ทำชุดนั้น แต่หากว่าคนไหนทำไม่ได้ หรือตัดชุดไม่เป็น ก็จะพยายามขวนขวาย ทำแบบขึ้นมา โดยใส่ใจในรายละเอียดมากที่สุด เพื่อให้ชุดที่จะสั่งให้ช่างตัดชุด ได้ตัดชุดคอสเพลย์ออกมาดีที่สุด”

เจาะลึกปัญหาคอสเพลย์


ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นน้องฟ้าบอกว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันการแต่งคอสเพลย์ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากนิสัยส่วนตัวของเลเยอร์บางคนมากกว่า ซึ่งสามารถแก้ไขได้จากตัวของเลเยอร์เอง โดยให้รู้จักการอยู่กับสังคมรอบข้างให้ได้

“วงการคอสเพลย์ไม่ได้มีอะไรเลย แต่เกิดจากบุคคลที่เป็นเลเยอร์บางคนมากกว่า ทำให้กลุ่มเลเยอร์บางคนที่อยู่กันมากมายก็เสียชื่อไปด้วย วิธีแก้มันก็คงต้องให้เลเยอร์หน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากๆ การแก้ไขปรับปรุงรากฐานของสังคมๆ หนึ่งนั้น ยังไงๆ ก็ต้องเริ่มกันที่หน่วยที่เล็กที่สุดเสมอ มันถึงจะทำให้สังคมนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน”


ทั้งนี้ ฟ้า ยังแสดงความคาดหวังว่าวงการคงหวังว่าสังคมคอสเพลย์ จะได้รับการยอมรับในสังคมไทย เพราะกิจกรรมการคอสเพลย์ ก็เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ให้ความสุขกับเด็ก และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหลายๆ คนได้

“คาดหวังว่าวงการคอสเพลย์ จะได้รับการยอมรับได้มากขึ้นค่ะ เพราะมีเพื่อนบางคนเค้ายังต้องแอบพ่อแม่มาคอสเพลย์อยู่ เนื่องจากทางบ้านมองว่าไร้สาระ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการคอสเพลย์ไม่ใช่กิจกรรมที่ไร้สาระไปวันๆ”

ว่าไปแล้วการคอสเพลย์นั้น แม้จะมีการแข่งขันที่ดุเดือด แต่ก็ไม่ได้มีเรื่องที่เลวร้ายอะไร กล่าวคือ เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์สังคมได้เช่นกัน เพราะอาชีพคอสเพลย์ ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างความสุข และแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ได้ ซึ่งถ้าคนที่ไม่รักการแต่งคอสเพลย์จริงๆ ก็ยากที่จะเลียนแบบตัวละครเหมือนดั่งที่ถอดแบบอกมาจากโลกของภาพวาด หรือตัวการ์ตูนต่างๆ ได้ และเรื่องราวต่างๆ ในวงการคอสเพลย์ ก็เป็นเรื่องราวที่สุข เศร้า เพื่อน มิตรภาพ  ซึ่งไม่ต่างจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนสังคมทั่วไปสักเท่าไหร่ เพราะสังคมคนการ์ตูน ก็เหมือนกับสังคมปกติทั่วไป.

...