บางครั้งก็เป็นการยากที่จะระบุชัดเจนลงไปว่าความพอดีอยู่ตรงจุดไหน เมื่อใดจึงจะเรียกได้ว่าอ้วน และเมื่อใดจึงจะจัดว่าผอมเกินไป แพทย์หญิงสมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน โรงพยาบาลเวชธานี แนะนำวิธีคำนวณง่ายๆ ถึงความพอเหมาะพอดีของสัดส่วนของร่างกายดังนี้

คำนวณง่ายๆ ได้จากดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) โดยใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง สำหรับคนไทย จะมีค่ามาตรฐานอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัม / ตารางเมตร ถ้า BMI < 18.5 กิโลกรัม / ตารางเมตร ถือว่าน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ

โรคผอมมาจากหลายสาเหตุ

เมื่อมีเหตุให้ร่างกายสูญเสียพลังงาน หรือใช้พลังงานไปมากกว่าที่ร่างกายได้รับ ก็จะทำให้มีน้ำหนักตัวลด หรือมีน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ ได้แก่

กลุ่มที่ได้รับพลังงานน้อยกว่าปกติ คือรับประทานน้อย หรือได้รับสารอาหารน้อยผิดปกติ ได้แก่
•    ความยากจน ประเทศที่ห่างไกล ขาดสารอาหาร เช่น เอธิโอเปีย
•    เบื่ออาหาร เช่น โรคซึมเศร้า โรคมะเร็ง เจ็บป่วยที่ทำให้เบื่ออาหาร เช่น วัณโรค โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเรื้อรัง
•    ไม่เบื่ออาหาร แต่กลัวอ้วนจึงล้วงคอเพื่อให้อาเจียน หรือเรียกว่าโรคบูลิเมีย เนอร์โวซา (bulimia nervosa) ที่ดารานางแบบหลายๆ คนในต่างประเทศก็ประสบกับโรคนี้ ซึ่งเกิดจากค่านิยมผิดๆ เรื่องน้ำหนักตัวยิ่งน้อยยิ่งดูดี
•    จิตเวชที่ไม่ทานอาหารเลย หรือเรียกว่า อะนอร์เร็กเซีย เนอร์โวซา (anorexia nervosa) ซึ่งเป็นโรคที่พบในนางแบบ หรือวัยรุ่นที่กลัวอ้วนมากๆ และมักคิดว่าตัวเองอ้วน ไม่ว่าจะมองกระจกหรือมองดูตัวเองมักจะคิดว่าตัวเองอ้วนเกินไปทั้งๆ ที่รูปร่างอาจจะพอดีหรือผอมไปด้วยซ้ำ
•     โรคทางกายที่ทำให้ได้รับสารอาหารน้อยกว่าปกติ เช่น มีปัญหาทางช่องปากและฟันทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ หรือปัญหาทางระบบทางเดินอาหารและลำไส้ หรือมีพยาธิในลำไส้ ทำให้การย่อย และดูดซึมอาหารผิดปกติไป

กลุ่มที่ใช้พลังงานมากกว่าปกติ ได้แก่
•    โรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งทำให้เกิดการเผาผลาญมากกว่าปกติ
•    ออกกำลังกายอย่างหนัก และทดแทนอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งพบได้น้อย
•    รับประทานยาบางชนิดเป็นระยะเวลานาน หรือใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า โคเคน ยาจิตเวช หรือยากันชักบางชนิด รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์เกินขนาด
•    โรคที่สูญเสียน้ำจนทำให้น้ำหนักลดรวดเร็ว ซึ่งพบได้น้อย โดยทั่วไปกลุ่มนี้มักมาด้วยน้ำหนักลดลงมากกว่าน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ
•    เบาหวาน ซึ่งหากน้ำตาลในเลือดมากก็จะปัสสาวะบ่อย
•    โรคที่มีแคลเซียมในร่างกายสูงผิดปกติ เช่น มะเร็งบางชนิด โรคพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ

อันตรายของโรคผอม


ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษและไม่ได้รับการรักษา จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ กระดูกพรุน ตาโปน โรคทางจิตเวช ฯลฯ หรือหากเป็นมะเร็งที่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาก็อาจลุกลามจนรักษาไม่ได้ แต่จะขอเน้นในแง่โรคผอมที่เกิดจากภาวะกลัวอ้วนขั้นรุนแรงจนไม่รับประทานอาหาร หรือล้วงคอให้อาเจียนหลังจากรับประทานอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกระบบของร่างกายดังนี้

อาการดังกล่าวพบได้ทั้งกลุ่มโรค อะนอร์เร็กเซีย และบูลิเมีย แต่บูลิเมียจะมีอาการเพิ่มเติมจากการล้วงคอบ่อยๆ คือ เป็นแผลในปากและกระพุ้งแก้ม รวมทั้งที่นิ้ว การอาเจียนออกมามากๆ จะมีกรดในกระเพาะมาอยู่ในปาก ส่งผลให้ฟันผุ เสียวฟันได้ง่าย

แนวทางรักษาโรคผอม


หากพบสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น โรคทางเดินอาหารและลำไส้ โรคพยาธิ ไทรอยด์เป็นพิษ ติดเชื้อเรื้อรัง วัณโรค ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมะเร็ง หลังจากได้รับการรักษา น้ำหนักก็จะกลับมาเป็นปกติ

ในกรณีที่เป็นโรคกลัวอ้วน การรักษาจำเป็นต้องอาศัยทั้งความเข้าใจของผู้ป่วย ญาติ และสังคมรอบข้าง โดยเน้นรักษาความรู้สึกขาดความมั่นใจในรูปร่างของตนเอง ให้ความรู้ในด้านสารอาหารและโภชนาการ อาจต้องให้ยาเพื่อรักษาสมดุลสารสื่อประสาทบางชนิด เพื่อช่วยภาวะทางจิตเวช ในกรณีที่มีอาการมากควรต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำและสารอาหารที่เหมาะสม

กินอย่างไรน้ำหนักก็ไม่ขึ้น แต่หากเป็นเพียงแค่รับประทานอาหารแล้วทำอย่างไรน้ำหนักก็ไม่ขึ้น ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารหวานจัด เค็มจัด หรือมีไขมันสูง เพื่อให้ได้แคลอรี่มากๆ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง แต่ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ (แทนการเพิ่มน้ำหนัก แต่พุงยื่นแทน) เช่น นม ไข่ ถั่ว ธัญพืช (ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์) ร่วมกับออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เช่น ยกน้ำหนัก เล่นเวท  โยคะ พิลาทิส ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มน้ำหนักกล้ามเนื้อแล้วยังช่วยเสริมสร้างกระดูก ป้องกันภาวะกระดูกบางอีกด้วย วิธีอื่น ๆ ได้แก่ คลายเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น หางานอดิเรกที่ชอบ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เลื้ยงสัตว์ รวมทั้งหยุดสูบบุหรี่ แถมอีกนิดสำหรับอาหาร เราควรเพิ่มแคลอรีอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของแต่ละคน (ตามเพศและวัย) ดังนี้

หากต้องการเพิ่มน้ำหนัก อาจเพิ่มปริมาณแคลอรีต่อวันขึ้นอีกประมาณ 500 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยอาจแบ่งเป็นหลายๆ มื้อ อย่าลืมว่าไม่ควรเพิ่มแคลอรีจากอาหารหวานและมัน ควรเพิ่มจากโปรตีนมากกว่า

...

คลินิกลดความอ้วน ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com