"โอ่งมังกร" ถือเป็นสัญลักษณ์สร้างชื่อประจำจังหวัดราชบุรี เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวราชบุรีภูมิใจนักหนา จนมีการเรียกขานราชบุรีว่า “เมืองโอ่งมังกร” ในอดีตโอ่งมังกรเป็นภาชนะที่ใช้กันแพร่หลายทุกครัวเรือน กระนั้น ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความนิยมใช้โอ่งเพื่อกักเก็บน้ำลดฮวบฮาบลง
อย่างไร ก็ดี การทำโอ่งมังกรในราชบุรียังเป็นตำนานคลาส-สิกที่น่ากล่าวขวัญ ถึงเสมอ โดยผู้บุกเบิก สร้างโรงงานทำโอ่งมังกรเป็นเจ้าแรกของเมืองไทย ก็คือ “เถ้าฮงไถ่” ซึ่งยืนหยัดอยู่คู่ราชบุรีมาถึง 78 ปี เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2476 โดย “นายซ่งฮง แซ่เตีย” กับ “นายจือเหม็ง แซ่อึ้ง” เพื่อนซี้ที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาด้วยกันมา ที่โรงงานในเมืองปังโคย มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ทั้งคู่หอบเสื่อผืนหมอนใบ อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย ช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อได้มีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดราชบุรี ไปเจอดินตามร่องสวนคันนา ก็นำกลับไปทดลองเผาที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่าดินดีมีคุณภาพสูง คล้ายกับแถวกวางตุ้ง เหมาะกับการทำเครื่องปั้นดินเผา “เถ้าแก่เตีย” จึงชักชวนพรรคพวกมาทำโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผา โดยแรกเริ่มเน้นการผลิตไหน้ำปลา กับโอ่งเก็บน้ำแบบไม่มีลวดลาย ผลปรากฏว่าขายดิบขายดีมาก เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองไทยไม่สามารถนำเข้าเครื่องปั้นดินเผาจากประเทศจีนได้ ทำให้ “เถ้าฮงไถ่” ผูกขาดตลาดเพียงเจ้าเดียวอยู่นานหลายปี
กระนั้น ภายในระยะเวลา 30 ปี ธุรกิจการทำโอ่งมังกรในราชบุรีได้เติบโตรวดเร็วเกินต้านทาน จากโรงงานทำโอ่งเพียงไม่กี่แห่งในยุคบุกเบิก ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 แห่ง ทำให้การแข่งขันขับเคี่ยว รุนแรงมาก และมีการผลิตโอ่งล้นตลาดเกินความต้องการด้วยการมองการณ์ไกลของ ทายาทรุ่นที่สอง คือ “เถ้าแก่ชาญชัย สุพานิชวรภาชน์” ลูกชายคนที่สองของ “เถ้าแก่เตีย” ทำให้ “เถ้าฮงไถ่” ไม่ยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ และลุกขึ้นสู้ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ไม่จำกัดเฉพาะเซรามิกเพื่อประโยชน์ ใช้สอย โดยเขาได้ริเริ่มนำดินขาวจากประเทศจีน มาวาดลวดลายบนโอ่งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกัน ก็สร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาสำหรับใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม โดยเลียนแบบจากของเก่าเป็นหลัก ยุคนี้ยังเป็นยุคแรกที่มีการทำเซรามิกสีเขียวไข่กา และ สีน้ำเงินขาว ด้วยกลยุทธ์นี้เอง ทำให้ “เถ้าฮงไถ่” สามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดเครื่องปั้นดินเผาไว้ได้อีก ครั้ง และผงาดขึ้นเป็นผู้ผลิตเซรามิกยักษ์ใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดของ เมืองไทย โดยมีฐานลูกค้าหลักเป็น กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ต สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหลายเท่าตัว
จนมาถึง ปัจจุบัน “เถ้าฮงไถ่” ได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิตอล โดยได้ทายาทรุ่นที่สาม “ติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์” ลูกชายคนโต วัย 40 ปี ของ “เถ้าแก่ชาญชัย” เป็นผู้บุกเบิกตลาดโมเดิร์นเซรามิก พัฒนารูปแบบดีไซน์และสีสันให้มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร นับเป็นยุคแรกที่งานเซรามิกของราชบุรี ได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับงานศิลป์ชิ้นมาสเตอร์พีซ
มีแววมาตั้งแต่เด็กไหมคะ ถึงได้รับการวางตัวให้สืบทอดกิจการ “เถ้าฮงไถ่”
(ส่าย หัว) ผมเกิดในโรงงานทำโอ่ง ตอนเด็กๆก็ปั้นดินเล่นไปตามประสา แต่ไม่เคยชอบเรื่องเครื่องปั้นดินเผาเลย จำได้ว่าเห็นเตี่ยทำงานหนักมาตลอด เห็นแล้วก็อู้หู!! ไม่ไหวนะ ไม่อยากทำเหมือนเตี่ย!! ก่อนเข้ากรุงเทพฯมาเรียนต่อที่สวนกุหลาบฯ ยังเคยถามแม่ว่า แล้วใครจะทำโรงงานต่อล่ะ แม่บอกเดี๋ยวก็มีคนทำ ไม่ต้องห่วงหรอก เพราะลูกหลานเยอะแยะ คุณลุง ซึ่งเป็นพี่ชายของพ่อ ก็มีลูกชาย หลังจากผมเรียนจบมัธยมปลาย เอนท์ติดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปเรียนได้อยู่เทอมเดียว จู่ๆวันหนึ่งเตี่ยก็ถามว่า ไปเรียนต่อที่เยอรมันไหม เตี่ยอยากให้มีลูกหลานเรียนด้านเซรามิกโดยตรง จะได้กลับมา ช่วยกิจการที่บ้าน ผมอึ้งๆนิดหนึ่ง แต่เตี่ยอยากให้เรียนก็ต้องไปเรียน เตี่ยวางแผนไว้ว่าจะให้เรียนวิศวะ ด้านไฮเทคเซรามิก เพราะมีอนาคตดี และสามารถนำเทคโนโลยีกลับมาช่วยพัฒนาโรงงานที่บ้านได้
ไปเรียนต่อที่เยอรมันได้วิชาความรู้อย่างที่คาดหวังไหม
ทุก อย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด!! เพราะมีทางเลือกน้อยมาก สมัยนั้นมีมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องเซรามิกแค่แห่งเดียว อยู่ที่เมืองคาสเซิล ช่วงแรกผมไปเรียนด้านเทคนิคก่อน และเรียนภาษาไปพลางๆ เพื่อเตรียมเข้า มหาวิทยาลัย ปีแรกเครียดมาก จนลมพิษขึ้นทั้งตัว เพราะพูดกับใครไม่รู้เรื่อง ภาษาอังกฤษก็ห่วยมาก แถมยังเจออาจารย์ที่ไม่ชอบคนต่างชาติ จะขู่ตลอดว่าถ้าคริสต์มาสนี้ยังปั้นไม่ได้ ก็ให้หาอาชีพใหม่ทำ!! แรงกดดันพวกนี้ทำให้ผมฮึดสู้ ท่องศัพท์วันละ 50 คำ รู้สึกว่าเราต้องขยันแล้ว ต้องเอาจริงเอาจังแล้ว ถึงจะไม่ได้ชอบเซรามิกมาก่อน แต่ยังไงก็กลับบ้านมือเปล่าไม่ได้เด็ดขาด!! ญาติคนไทยที่ผมอยู่ด้วยพาไปลงคอร์สเรียนปั้นดินปั้นหม้อปั้น ไหกับพวกแม่บ้าน เพื่อทำพอร์ตสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเราไม่มีพอร์ตมาก่อน ช่วงนั้นเกิดสงครามอิรักบุกคูเวต ใครๆก็กลัวจะเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม ก็ขอเตี่ยกลับเมืองไทย แต่เตี่ยบอกว่าไม่มีอะไรหรอก อยู่เรียนไปเหอะ พอขึ้นปีสองเริ่มมีเพื่อนเยอะขึ้น เห็นเพื่อนเยอรมันเป็นลูกศิลปินขโมยดินจากโรงเรียนกลับมาปั้น ที่บ้าน เราก็ลองดูบ้าง ตอนปีหนึ่งเราเรียนแบบเด็กไทย พยายามปั้นตามโจทย์ เพื่อเอาใจครู แต่ปีสอง มีอิสระมากขึ้น ทำให้สนุกกับการเรียนมากขึ้น เหมือนเส้นผมบังภูเขา พอทำเป็นแล้ว อะไรๆก็ง่ายไปหมด ผมโชคดีได้เพื่อนดีตลอด คนเยอรมันไม่หยิ่งเลย ถ้าเราเข้าถึงเขาแล้ว เขาจริงใจมาก ไม่มีใครทิ้งเราเลย ผมใช้เวลา 5 ปี ก็จบปริญญาโทด้านไฟน์อาร์ต โดยเน้นเจาะลึกเรื่องเซรามิกเป็นพิเศษ ตอนอยู่เยอรมัน ผมไม่ต้องรบกวนเงินทางบ้านเลย เพราะทำงานพิเศษส่งตัวเองเรียน
งานเซรามิกของยุโรป มีความแตกต่างจากเอเชียเยอะไหม
จากที่ได้สัมผัสมา ทางยุโรปค่อนข้างดูถูกงานเซรามิก เพราะมองว่าปั้นเป็นภาชนะเท่านั้น หรือไม่ก็ปั้นเป็นต้นแบบงานศิลปะแต่เซรามิกไม่ใช่งานศิลป์ ซึ่งตรงกันข้ามกับทางเอเชีย ที่ยกย่องงานเซรามิกมาก ถือเป็นผลงานศิลปะที่ล้ำค่า และมีราคาแพง
นำประสบการณ์ที่ได้จากเมืองนอก กลับมาพัฒนาธุรกิจที่บ้านอย่างไรบ้าง
ผม รู้สึกเลยว่า สิ่งที่อากงและเตี่ยทำมาตลอดยิ่งใหญ่มาก ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราเห็นที่เยอรมันก็เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ทำให้ผมคิดว่า เราน่าจะพัฒนาเซรามิกได้อีกเยอะ ทำอะไรใหม่ๆได้มากกว่าการเลียนแบบของเก่า ผมเรียนจบกลับมาปี 1999 ตอนนั้นเตี่ยอายุเกือบ 60 แล้ว ผมว่าเรื่องโนว์ฮาวไล่ตามทันกันไม่ยาก แต่ทำยังไงถึงจะพัฒนาสินค้าให้ฉีกจากคนอื่นไปได้ ทำให้คนอื่นไล่ตามเราไม่ทัน ผมเสนอเตี่ยว่า เราควรใช้ของที่เราถนัดที่สุดให้เป็นประโยชน์ คือนำงานศิลปะที่ผมร่ำเรียนมาไปต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแบบก้าวกระโดด ผมก็เริ่มจากการทำสีสันฉีกออกไปเลยจากที่โรงงานเคยทำ โดยทำเป็นสีแดงสีส้มแรงๆ พัฒนาจนมีสีสันร่วมสมัยให้เลือกเกือบพันเฉดสี ซึ่งสมัยนั้นเมืองไทยยังทำไม่ได้ ต้องซื้อโนว์ฮาวมาจากเยอรมัน ส่วนเรื่องรูปทรงก็ประยุกต์ของเก่ากับของใหม่เข้าด้วยกัน
ตลาดตอบรับงานเซรามิกแนวใหม่ของ “เถ้าฮงไถ่” ไหมคะ
ตอน แรกๆเตี่ยรับไม่ได้!! บอกว่าทำอะไรเหมือนอีกาคาบพริก รูปทรงก็บิดเบี้ยวประหลาด แต่พอผมเล่าให้ฟังว่า “คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ผู้บริหารใหญ่ของแบงก์กรุงเทพ ชมว่าสวยดี และเพิ่งขายสถาปนิกชื่อดัง คือ “จุตติ ศุภบัณฑิต” ไปเมื่อกี้ เตี่ยเลยเปลี่ยนใจบอกว่า อีกาคาบพริกก็ดูสวยดีนะ (หัวเราะ) ผมไม่ได้คิดเรื่องการตลาดเลย คิดอย่างเดียวคือ ผมไม่เคยเปลี่ยนสิ่งที่อากงและเตี่ยทำ ซึ่งทำไว้ดีมากๆอยู่แล้ว เพียงแต่ผม ทำอะไรเพิ่มเพื่อต่อยอดจากของเดิม โดยใส่ดีไซน์และไอเดียใหม่ๆเข้าไป ปรากฏว่างานของผมไปโดนใจพวกดีไซเนอร์ที่ตกแต่งให้โรงแรมและ รีสอร์ตใหม่ๆ ทำให้ได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเยอะ คราวนี้ผมเลยขอเตี่ย เซตทีมดีไซเนอร์มาช่วย 3-4 คน เพื่อจะได้เพิ่มมุมมองใหม่ๆ ก็เดินตามแนวทางนี้มาตลอด ทำให้โรงงานของเราไม่หยุดนิ่ง และมีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆเข้ามาต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผมยังของบประมาณเตี่ย เพื่อนำมาสนับสนุนให้นักศึกษาได้มาฝึกงาน และจัดแสดงงานด้วย ถือเป็นการช่วยพัฒนาวงการเซรามิกเมืองไทย
จนถึงทุกวันนี้ “เตี่ย” วางมือได้หรือยัง
คุณ พ่อ ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆลูกชาย ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า ก็เหนื่อยน้อยลงเยอะ เพราะเตี่ยแทบไม่ต้องทำอะไรแล้ว ปล่อยลูกชายลุยเต็มที่ จนพักหลังคนเริ่มทักแล้วว่าเตี่ยเป็นพี่ชายของ “ติ้ว” (หัวเราะ)
ในฐานะทายาทของคนปั้นโอ่ง คิดว่าเสน่ห์ของเซรามิกอยู่ตรง ไหน
เซ รามิกเป็นงานที่แตกต่างจากศิลปะแขนงอื่น เพราะมนุษย์ควบคุมได้แค่ระดับหนึ่ง ถ้าเจอแล้วชอบ ก็ต้องซื้อเลย เพราะทำออกมาใหม่ไม่เหมือนเดิมแล้ว หลายๆโรงงานพยายามทำเลียนแบบเรา วิ่งไล่ตามเรา แต่ผมกลับคิดแตกต่างออกไป จะบอกน้องๆดีไซเนอร์ตลอดว่า ไม่ต้องนึกถึงตลาด และคู่แข่งมาก ขอให้รู้สึกสนุกกับสิ่งที่ทำ อยากทำอะไรก็ทำได้อย่างอิสระ แล้วลูกค้าจะมาหาเราเอง ผมยังคุยกับเตี่ยว่า การแข่งขันยุคนี้สูงขึ้นเยอะ ถ้าเราไม่ต่อยอดจากของเก่า ซึ่งดีอยู่แล้ว ในที่สุดก็อาจทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง และถึงจุดอิ่มตัว!!
...
ทีมข่าวหน้าสตรี