สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี เสด็จฯทรงร่วมงาน "ชุมนุมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 37 ปี รหัส 2516" ที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. นิสิตจุฬาฯรหัส 2516 เป็นรุ่นเดียวกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กำหนดจัดงานชุมนุมขึ้นทุกๆ 3 ปี ตามพระดำริ โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานในปีนี้นำโดย เจน วองอิสริยะกุล และ ดร.กรองกาญจน์ ณ นครพนม ได้รวมใจนิสิตเก่าจุฬาฯรุ่นปี 2516 จาก 14 คณะ จำนวนกว่า 1,000 คน อาทิ นพ.ชัยชนม์ โลว์เจริญกุล, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี, ดร.อรรชกา สีบุญเรือง, ม.ร.ว.อุษณิษา สุขสวัสดิ์, ดร.จรัส สุวรรณมาลา ฯลฯ มาร่วมงานในธีมสนุกสนาน "ลูกทุ่งย้อนยุค จุฬา’16 ฮ่าฮ่าฮ่า" โดยรายได้จากการจัดงานหลังหักค่าใช้จ่าย นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งจะพระราชทาน แก่จุฬาฯเพื่อนำไปพัฒนามหาวิทยาลัย หรือเพื่อประโยชน์ ทางการศึกษาของจุฬาฯต่อไป
ในเย็นวันงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ทรงฉลองพระองค์เสื้อฮาวายผ้าไหมพิมพ์ ลายไดโนเสาร์ในโทนสีชมพู ตรงกระเป๋าเสื้อปักพระนาม "สิรินธร" ซึ่งเหล่านิสิตเก่าได้ออกแบบพิเศษสำหรับผู้มาร่วมงาน ในงานมีการแสดงละครเพลงลูกทุ่งเรื่อง "มนต์รักส้มโอกับหมาจู" ซึ่งมีเนื้อเรื่องแปลงมาจากนวนิยายดัง "โรมิโอ-จูเลียต" แต่แสดงออกในรูปแบบลูกทุ่งไทยๆ ที่สนุกสนาน หลังจากที่การแสดงดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย และเป็นที่เซอร์ไพรส์ของผู้ชมเมื่อศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ พิธีกรในงานกล่าวเชิญผู้ใหญ่บ้านหนองหมาเน่ามากล่าวให้ข้อคิดแก่สองครอบครัว ที่โกรธกัน (ในละครเพลง) จนเป็นอุปสรรคความรักของหนุ่มหมาจูกับหญิงสาวส้มโอ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ได้เสด็จพระ ราชดำเนินจากที่ประทับขึ้นไปบนเวที พร้อมทรงหยิบผ้าขาวม้ามาคาดบั้นพระองค์ แต่ทรงคาดไม่ได้ จึงทรงมีรับสั่งติดตลกว่า "สงสัยเอาไปซักก่อนจึงหด" และได้ทรงนำผ้าขาวม้ามาคล้องพระอังสาแทน เพื่อทรงสวมบทเป็นผู้ใหญ่บ้าน พร้อมกับรับสั่งว่า "ไม่ต้องทะเลาะกัน ทุกคนมาช่วยกัน แม้กระทั่งควายจากโรงเรียน กาสรกสิวิทย์ก็ยังมา" เรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมทั้งหอประชุม และสุดท้ายทรงขับร้องเพลง "ชื่นชีวิต" และเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์" เป็นการปิดฉากการแสดงในช่วงแรกอย่างสนุกสนาน
จากนั้นสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ เสด็จฯออกจากหอประชุมจุฬาฯ ไปยังสถานที่จัดงานบริเวณด้านหลังหอประชุม เพื่อเสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกับพระสหายร่วมรุ่นจุฬาฯ พร้อมทอดพระเนตรการแสดงในชุดต่างๆ ซึ่งในช่วงท้ายงาน สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้ทรงขับร้องเพลงดังในอดีตร่วมกับตัวแทนนิสิตเก่า 14 คณะบนเวที ได้แก่ เพลงสุขกันเถอะเรา, พรหมลิขิต, บ้านเรือนเคียงกัน, บุพเพสันนิวาส, ฟลอร์เฟื่องฟ้า, ริมฝั่งน้ำ, หนึ่งในร้อย และปิดท้ายด้วยเพลงประจำสถาบัน คือ มหาจุฬาลงกรณ์ และบูมจุฬาฯ ซึ่งเป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาร่วมงานจะต้องจดจำไปมิรู้ลืม.
...