พบเด็กเกิดใหม่ป่่วย "ธาลัสซีเมีย"รุนแรงปีละกว่า4พันราย หนุนไทยเป็นศูนย์กลางป้องกันควบคุมรักษาโรคระดับเอเซีย

เมื่อเวลา 16.00น. วันที่ 10 พ.ย.  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการเข้าเยี่ยมคารวะของนายพานอส อิงเกลซอส ประธานสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ พญ.แอนดรูลา แอเลฟเธอเรียล ผอ.ฝ่ายการแพทย์สมาพันธ์ฯ ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ ศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย  ว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ธาลัสซีเมียแห่งชาติ ปี 2550 – 2554 มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประธานสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ ได้แสดงความชื่นชมการแก้ไขปัญหาธาลัสซีเมียของประเทศไทย ที่มีความก้าวหน้าในการดูแลผู้ป่วยทั้งมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และการดูแลรักษาที่ดี

ขณะนี้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาฟรี รวมทั้งยาสำคัญที่ใช้ในการรักษา 2 ใน 3 ชนิด ได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ อยากเห็นไทยพัฒนาศูนย์ดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียขึ้นเป็นศูนย์ระดับชาติ และต้องการร่วมมือกับไทยพัฒนาศูนย์นี้ให้เป็นศูนย์ระดับภูมิภาคต่อไป เพื่อช่วยดูแลประเทศใกล้เคียงในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว กัมพูชา พม่า ที่มีผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมาก ได้มอบหมายให้กรมอนามัยปรึกษาหารือในรายละเอียดกับสมาพันธ์ธาลัสซีเมีย นานาชาติ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียปีละกว่า 21,500 ล้านบาท แต่หากเราสามารถควบคุมป้องกัน โดยการตรวจคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงได้ดี จะมีค่าใช้จ่ายเพียงปีละ 125 ล้านบาท จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาลงได้เป็นอย่างมากทั้งนี้ประเทศไทยพบชายหญิง ที่มีพันธุกรรมโรคธาลัสซีเมียแอบแฝงในตัว 37% หรือประมาณ 24 ล้านคน และมีคู่สมรสเสี่ยงมีบุตรเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงปีละ 17,000 คู่ ในแต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่เป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่ต้องรับการรักษา 4,253 ราย

...